กระบี่-ฮือฮา อีโต้มอญ โผล่ชายหาดเกาะพีพี ชาวบ้านเผยเป็นปลาทะเลลึก คาดช่วงระบาดโควิด ทะเลสงบ กล้าหากินถึงชายฝั่ง
วันที่ 14 มิ.ย.63 ผู้สื่อข่าวรายว่าที่บริเวณชายหาดท่าเทียบเรือเกาะพีพี ต.อ่าวนาง อ.เมือง จ.กระบี่ ได้สร้างความตื่นเต้นและฮือฮา เมื่อชาวบ้านเกาะพีพี เห็นปลาอีโต้มอญ 1 ตัว ยาวประมาณ 30 ซม.น้ำหนักประมาณ 2 กก.คาดว่ายังไม่โตเต็มวัยกำลังว่ายน้ำไล่ล่าฝูงลูกปลาตัวเล็กๆเพื่อจับกินเป็นอาหาร เนื่องจากปลอีโต้มอญ เป็นปลาทะเลน้ำลึก จะไม่หากินตามชายฝั่ง และที่ผ่านมาชาวบ้านเกาะพีพี ก็ไม่เคยเป็นปลาอีโต้มอญ โผล่ให้เห็น ครั้งนี้เป็นครั้งแรก คาดว่าทะเลสงบ ไร้ผู้คน ในช่วงวิกฤติโควิด ทำให้ปลาอีโต้มอญ เข้ามาหากินถึงชายฝั่งเกาะพีพี
นายจักรมงคล ระถะการ ชาวบ้านเกาะพีพี กล่าวว่า สำหรับปลาอีโต้มอญ เป็นปลาที่อาศัยอยูในทะเลลึก ไมเคยเห็นมาก่อนแถวสะพานท่าเทียบเรือเกาะพีพี และตามแนวชายฝั่งเกาะพีพี ครั้งนี้เป็นครั้งแรก คาดว่าเกิดจากความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเล ชายฝั่ง จึงทำให้ปลาอีโต้มอญเข้ามาหากิน ประกอบกับช่วงนี้ ไม่มีนักท่องเที่ยว มีแต่ชาวบ้านเกาะพีพี ทำให้ทะเล สงบและกลับมาฟื้นตัวสวยงามอีกครั้ง สำหรับปลาอีโต้มอญ เป็นปลาที่นักตกปลานิยมตกเพื่อเป็นเกมส์กีฬา และมีสีสันสวยงาม
จากข้อมูล พบว่าปลาอีโต้มอญ (อังกฤษ: Common dolphinfish) เป็นปลาทะเลชนิดหนึ่ง ในอันดับปลากะพง (Percifoemes) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Coryphaena hippurus จัดอยู่ในวงศ์ปลาอีโต้ (Coryphaenidae) ซึ่งมีอยู่ด้วยกันเพียง 2 ชนิดเท่านั้น
ปลาอีโต้มอญ มีลำตัวยาวเรียว แต่เมื่อเจริญเติบโตขึ้นลำตัวจะกว้างขึ้นและแบนข้างเล็กน้อย หัวงุ้มลง ทำให้มีรูปร่างคล้ายมีดโต้ อันเป็นที่มาของชื่อเรียก มีเกล็ดเล็กละเอียด ปากกว้างและเฉียงขึ้น ฟันเล็กละเอียด ครีบหลังยาวเริ่มตั้งแต่บริเวณโหนกหัวไปจนถึงโคนหาง ครีบหางใหญ่เว้าลึกรูปส้อม ตัวผู้มีโหนกหัวนูนออกไปข้างหน้าเป็นแนวตั้งฉากกับปากคล้ายกับโลมา อันเป็นที่มาของชื่อเรียกในภาษาอังกฤษ ส่วนตัวเมียจะมีโหนกหัวลาดลง ปลาขนาดโตเต็มวัยลำตัวมีสีน้ำเงินปนเขียว ข้างตัวมีจุดดำเล็ก ๆ กระจายอยู่ทั่วลำตัว
มีความยาวตั้งแต่ 40-100 เซนติเมตร ขนาดใหญ่สุดมีความยาวถึง 150 เซนติเมตร เป็นปลาที่อยู่รวมตัวกันเป็นฝูงขนาดไม่ใหญ่ อาศัยอยู่ในบริเวณน้ำลึกพบได้ทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน เป็นปลาที่ปราดเปรียวว่องไว ว่ายน้ำได้เร็วมาก กินปลาขนาดเล็กและสัตว์น้ำชนิดต่าง ๆ เป็นอาหาร
เป็นปลาที่เป็นที่นิยมอย่างยิ่งในการตกปลาเป็นเกมกีฬา เช่นเดียวกับปลากระโทง (Istiophoridae) หรือปลาทูน่า (Scombridae) เนื่องจากเป็นปลาที่สู้เบ็ดและมีความสวยงามเมื่อเวลาตก และนิยมจับเพื่อการประมงเชิงพาณิชย์ด้วย
ปลาอีโต้มอญ ยังมีชื่อเรียกอื่น ๆ อีก ในภาษาไทย เช่น “หน้ามอม”, “อีโต้”, “มงเจ้าเลือด”, “โต้มอญ” หรือ “สีเสียดอินเดีย”
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: