กระบี่-รองอธิบดีกรมประมงนำทีมสำรวจสัตว์น้ำ ก่อนเปิดอ่าวอันดามัน 1 กรกฎาคมเผยจับสัตว์น้ำ 323 กิโลกรัมต่อชั่วโมงปลาทูเศรษฐกิจจับ 15 กิโลกรัมต่อชั่วโมง
วันที่ 30 มิ.ย. 63 นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง พร้อมด้วยนายสิทธิพล เมืองสง ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงทะเลเขต 3 จังหวัดกระบี่ นายสมบุญ ธัญญาผล ประมงจังหวัดกระบี่ และนายสุชาติ แสงจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงอันดามันตอนบนจังหวัดภูเก็ต นำกำลังเจ้าหน้าที่ศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงทะเลเขต 3 จังหวัดกระบี่ โดยใช้เรือตรวจการณ์ประมงทะเล 605 และเรือเร็ว ออกสำรวจทรัพยากรสัตว์น้ำโดยเฉพาะอย่างยิ่งกุ้งแชร์บ๊วยและปลาทูซึ่งเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจของประเทศไทย ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมง ประกาศมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ ในฤดูสัตว์น้ำมีไข่วางไข่เลี้ยงตัวอ่อนฝั่งทะเลอันดามัน ระหว่างวันที่ 1 เมษายน ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ของทุกปี เป็นการปิดในพื้นที่บางส่วนของจังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ และตรัง ตั้งแต่ปลายแหลมพันวา อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ถึงปลายแหลมหยงสตาร์ อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง รวมเนื้อที่ 5,000 ตารางกิโลเมตร หากผู้ใดฝ่าฝืนทำประมงผิดกฎหมายจะมีความผิดตามมาตรา 70 แห่งพระราชกำหนดการประมงปี 2558 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 30 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับขนาดของเรือประมง หรือปรับจำนวน 5 เท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า
ซึ่งจากการออกสำรวจพบเรือประมงพื้นบ้านเกือบ 50 ลำ ออกจากสัตว์น้ำห่างจากแนวชายฝั่ง 3,000 เมตร ได้กุ้งหัวเรียวและแชร์บ๊วย และปลาเป็นจำนวนมาก ส่วนเรือประมงพาณิชย์ที่สามารถจับสัตว์น้ำในฤดูปลามีไข่วางไข่เลี้ยงตัวอ่อนได้ มีการจับสัตว์น้ำได้เป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน โยกรมประมงจะเปิดอ่าวให้ชาวประมงทุกประเภทสามารถออกจับสัตว์น้ำได้ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 เป็นต้นไป
โอกาสนี้นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่ามาตรการปิดอ่าวเว้นให้พี่น้องชาวประมงพื้นบ้านและเรือประมงที่ไม่มีประสิทธิภาพสูงมากนักสามารถทำการประมงเลี้ยงชีพได้ ส่วนเรือประมงที่มีประสิทธิภาพสูง เช่นอวนล้อม อวนลาก หรืออวนติดตาที่มีขนาดตาอวนน้อยกว่า 4.7 เซนติเมตรและเครื่องมืออื่นๆ ห้ามทำการประมงในช่วงฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อนในฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งจากเก็บข้อมูลทางวิชาการของกรมประมง 3 ระยะ คือก่อนมาตรการปิดอ่าวช่วงเดือนมีนาคม และระหว่างมาตรการช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม และก่อนที่จะเปิดอ่าวในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมิถุนายน โดยจะเปิดอ่าวในวันที่ 1 กรกฎาคมของทุกปี พบว่าภาพรวมของสัตว์น้ำที่เคยจับได้อยู่ประมาณครั้งหนึ่ง 160 กิโลกรัมต่อเครื่องมือทดลอง 1 ชั่วโมง จากสัปดาห์ที่ผ่านมาการเก็บข้อมูลในภาพรวมจับสัตว์น้ำได้ 323 กิโลกรัมต่อ 1 ชั่วโมง ซึ่งเป็นนัยยะที่บอกว่าสัตว์น้ำมีปริมาณที่เพิ่มขึ้น
ส่วนปลาทูหรือกลุ่มสัตว์น้ำที่เป็นปลาปริ่มน้ำจากอัตราการจับอยู่ที่ช่วง 10 ถึง 12 กิโลกรัมต่อหนึ่งชั่วโมง ซึ่งเราจับได้ถึง 15 กิโลกรัมต่อ 1 ชั่วโมง ซึ่งเพิ่มขึ้นในสัดส่วนหลายเปอร์เซ็นต์เช่นกัน ในศักยภาพของปลาทูซึ่งเป็นปลาเศรษฐกิจที่มีความสำคัญมาก จากทางวิชาการที่การจัดเก็บข้อมูลพบว่ามีปริมาณเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ขณะนี้สัตว์น้ำลูกปลาทูในฝั่งทะเลอันดามันมีการจับไป 9,000 ตันแล้ว ซึ่งในปีนี้คาดว่าจะไม่น้อยกว่า 20,000 ตัน ซึ่งเป็นศักยภาพที่เราทำได้สูงสุดในอดีตที่ผ่านมา ปริมาณสัตว์น้ำปลาทูจากมาตรการปิดอ่าวด้วยความร่วมมือของพี่น้องทุกภาคส่วนโดยเฉพาะพี่น้องชาวประมงได้ให้ความสำคัญกับมาตรการนี้มาก กรมประมงต้องขอขอบคุณที่ทำให้สัตว์น้ำเศรษฐกิจตัวนี้เพิ่มมูลค่าให้พี่น้องทะเลฝั่งอันดามันโดยเฉพาะเมืองกระบี่ที่จะรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเร็วๆ นี้
ส่วนการจับกุมผู้กระทำผิดในช่วงปิดอ่าวก็ยังมีชาวประมงอยู่บ้างที่ยังฝ่าฝืนถูกจับกุมเรือประมงอวนล้อม 1 คดี มีผู้ต้องหา 40 คน นอกนั้นเป็นคดีเครื่องมือโพงพาง ใช้โป๊ะเป็นเครื่องมือประจำที่รวม 15 คดี ถือว่าคดีก็ยังมีบ้างแต่ว่าด้วยความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นกรมประมงจะเร่งประชาสัมพันธ์ในเรื่องนี้เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับพี่น้องมากขึ้น และจากการลงพื้นที่ในวันนี้เรื่องประมงพื้นบ้านมาใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าเพราะเครื่องมือที่เขาใช้เป็นเครื่องมือที่เลือกจับ โดยเฉพาะกุ้งหัวเรียว กุ้งแชร์บ๊วย ซึ่งเป็นกุ้งเศรษฐกิจถือว่าเป็นอาชัพให้กับชาวพี่น้องประมงพื้นบ้านจังหวัดกระบี่ ประมาณ 2,800 กว่าลำ ให้มีรายได้แม้ในช่วงปิดอ่าว นี่คือผลพวงในการร่วมกันดูแลทรัพยากรสัตว์น้ำในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะใน 3 – 4 ปีที่ผ่านมาได้มีการเพิ่มพื้นที่ ในอนาคตถ้าพี่น้องชาวประมงให้ความสำคัญอาจจะขยายไปในพื้นที่อื่น อันนี้อยู่ที่ผลงานทางวิชาการ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: