กระบี่-ชาวบ้านในพื้นที่ตำบลกระบี่น้อย โอด โควิด-19 ทำยอดสั่งซื้อขนมพอง ขนมลา ขนมในเทศกาลวันสารทเดือนสิบ ประเพณีชาวไทยพุทธในพื้นที่ภาคใต้ ยอดสั่งซื้อลดลง ผลจากคนว่างงานไม่มีรายได้ พืชผลทางการเกษตรตกต่ำ บางครัวเรือนทำกินกันในครัวเรือน เหลือแบ่งขายสร้างรายได้ ขณะบางครัวเรือนกังวลนานไป ประเพณีทำขนมในเทศกาลสารทเดือนสิบ นับวันเลือนหาย เนื่องจากเด็กรุ่นใหม่ไม่นิยมทำ ไร้ลูกหลานสืบทอด
วันที่ 4 ก.ย.63 นางอนงค์ ฉายศรี อายุ 64 ปี ชาวบ้าน หมู่ 1 ต.กระบี่น้อย อ.เมืองกระบี่ นำเข้าเหนียวตากแห้งที่ขึ้นทรงเป็นรูปวงกลม ค่อยๆ หย่อนลงไปในหม้อน้ำมันที่ร้อน ไม่ถึง 2 นาทีก็ยกขึ้นพักไว้ให้เสด็จน้ำมัน แล้วส่งต่อให้ลูกหลานที่คอยช่วย เพื่อจัดใส่ถุง ถุงละ 4 ชิ้น เตรียมส่งให้พ่อค้าแม่ค้าที่จะมารับไปขายต่อในพื้นที่อำเภอเมือง ขณะหลานสาวนำแป้งผสมข้าวจ้าวกับน้ำเชื่อม ในอัตราแป้ง 4 กิโลกรัม น้ำ 4 ลิตร น้ำตาล 2 กิโลกรัม นำมาผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน ทำเป็นแป้งทำขนมลาสูตรโบราณ เมื่อแป้งเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน นำแป้งใส่ในกะลามะพร้าวเจาะรู เคาะให้แป้งขนมลาใหลผ่านออกมาเป็นเส้นเล็ก ลงในน้ำม้นร้อน ให้เป็นรูปวงกลม เมื่อสุกได้ที่ ใช้ไม้พับเป็นครึ่งแผ่นเป็นรูปครึ่งวงกลม วางในที่พัก รอให้เสด็จน้ำมัน ก่อนย้ายใส่ภาชนะที่เตรียมไว้ รอบรรจุส่งขายต่อไป แล้วเตรียมทอดชิ้นต่อไป ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆจนกว่าจะครบจำนวนตามที่ต้องการ
นางอนงค์ ฉายศรี เปิดเผยว่า กรรมวิธีแบบนี่ทำกันมาช้านาน ตั้งแต่บรรพบุรุษ ตนเป็นรุ่นที่ 3 สืบทอดมาจากรุ่นแม่ ซึ่งทุกวันนี้แทบจะหาคนทำได้น้อยลงทุกที ส่วนตัวกังวลว่าหลังจากนี้คงไม่มีลูกหลานสืบทอดวิธีการทำ เนื่องจากเด็กรุ่นใหม่ไม่นิยมทำกัน โดยแต่ละวัน ใช้แป้งทำขนมลา 5 กก. ขายแผ่นละ 5 บาท หรือเป็นชุด ชุดละ 50 บาท วางขายหน้าบ้าน นอกจากนี้จะมีพ่อค้าแม่ค้าในตัวเมืองกระบี่สั่งจองเพื่อนำไปจำหน่ายต่ออีกทอด ขนมลากรอบ ทอดสดใหม่ทุกวัน รับประกันความพึงพอใจจากลูกค้า ทอดเอง ขายเอง ไม่ผ่านแม่ค้าคนกลาง แต่ช่วงก่อนเทศกาลวันสารทเดือน 10 ปี นี้ บรรยากาศค่อยข้างเงียบเหงา เพราะเศรษฐกิจไม่ดี จากวิกฤตโควิด 19
ซึ่งปีที่ผ่านมาช่วงก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด รายได้ 4-5 พัน ต่อวัน แต่ปีนี้ยอดขายตก วัตถุดิบข้าวเหนียวส่วนประกอบหลักราคาก็แพง บางวันได้แค่ 200 บาท สูงสุดไม่เกิน 1000 บาท แต่อย่างไรก็ตาม คาดว่า ใกล้เดือน 10 จะมีคนมาซื้อขนมลา ขนมพอง กันมากขึ้น เนื่องจากผู้คนชื่นชอบเพราะเป็นขนมที่ชาวบ้านทำเอง ทำให้ลูกค้าเห็นกันจริงๆ ในพื้นที่หมู่ 1 ตำบลกระบี่ น้อย ถือเป็นหมู่บ้านที่ผลิตขนมสำหรับใช้ในเดือน 10 มีการตั้งแผงขายขนมลา ขนมพอง ขนมที่ใช้ในการประกอบพิธีวันสารทเดือนสิบ ประเพณีเก่าแก่ของชาวไทยพุทธในภาคใต้ ซึ่งขนมลากรอบแบบโบราณ ซึ่งเป็นหนึ่งในห้าชนิด ที่เป็นหัวใจของการจัดหมับ หรือสำรับในประเพณีบุญสารทเดือนสิบ ที่ชาวไทยพุทธต่างต้องนำไปวัดเพื่อประกอบพิธีทางศาสนา ในวันแรม 1 ค่ำเดือนสิบ และวันแรม 15 ค่ำเดือนสิบ ซึ่งเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมานานตั้งแต่บรรพบุรุษ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: