X

กระบี่-อุทยานพีพีอึ้ง พบดาวมงกุฎหนามตัวกินปะการัง กว่า 30 ตัว เข้าขั้นระบาด (มีคลิป)

กระบี่-พบตัวกินปะการัง อุทยานพีพี สำรวจดาวมงกุฎหนาม พบกว่า 30 ตัว เข้าขั้นระบาด เตรียมหารือนักวิชาการว่าต้องกำจัดด้วยวิธิใด ปล่อยไว้ปะการังเสียหายหนัก

วันที่ 4 กพ.64 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธาราหมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ ดำน้ำสำรวจประชากรของดาวมงกุฏหนาม หรือปลาดาวหนาม ซึ่งเป็นดาวทะเลขนาดใหญ่บริเวณเกาะปิดะนอก ใกล้กับเกาะพีพี ซึ่งเป็นแหล่งดำน้ำที่ขึ้นชื่อและสวยวามอย่างมากของหมู่เกาะพีพี ภายในเขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธาราหมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ หลังจากมีการตรวจสอบแล้วพบว่าเริ่มมีจำนวนมากขึ้น ซึ่งจากการสำรวจในครั้งนี้พบประชากรดาวมุงกุฏหนามจำนวนกว่า 30 ตัว ซึ่งเป็นจำนวนที่มากเข้าขั้นการระบาด

นายประยูร พงศ์พันธ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธาราหมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ กล่าวว่า จากการสำรวจดาวมงกุฏหนามในครั้งนี้พบจำนวนกว่า 30 ตัว ซึ่งหลังจากนี้จะหารือกับทางนักวิชาการก่อนว่าจะดำเนินการอย่างไร ต้องมีการกำจัดออกไปให้เกิดความสมดุลต่อระบบแนวปะการัง เพราะถือว่ามีจำนวนมากแล้วเข้าขั้นระบาด

ขณะที่เวปไซด์ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้เผยแพร่เรื่องดาวมงกุฎหนามไว้ โดยระบุว่า ดาวมงกุฏหนาม เป็นดาวทะเลขนาดใหญ่ มีแขนรวมกันทั้งหมด 8-21 แฉก มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 25-30 เซนติเมตร ดาวมงกุฎหนามจะกินปะการังเป็นอาหาร โดยการปล่อยกระเพาะอาหารออกมาคลุมบนปะการัง และปล่อยน้ำย่อยออกมาย่อยเนื้อเยื่อปะการังแล้วดูดซึมเข้าไป เมื่อปะการังตายจะถูกแรงคลื่น ทำให้หักพัง

ดาวมงกุฏหนามที่โตเต็มวัย ปกติจะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 25-30 เซ็นติเมตร บนหนามมีสารซาโปนิน (saponin) เคลือบอยู่ ซึ่งมีพิษต่อสัตว์หลายชนิด ตัวเมียแต่ละตัวมีไข่ประมาณ 12-24 ล้านฟอง ปริมาณดาวมงกุฏหนามมากขนาดไหนจึงจะเรียกว่าระบาด  ยังเป็นคำถามที่ตอบได้ยาก แต่นักวิทยาศาสตร์ได้ประมาณไว้ว่า การที่จะเรียกว่าระบาด ควรจะพบดาวมงกุฏหนามได้มากกว่า 14 ตัว ต่อพื้นที่ 1,000 ตารางเมตร หรือจากการว่ายน้ำดูแล้วพบดาวมงกุฏหนามมากกว่า 40-100 ตัว ใน 20 นาที

แต่จากการศึกษาในระยะหลัง มีการสรุปว่าปริมาณดาวมงกุฏหนามในพื้นที่ 1 เฮกแตร์ (ประมาณ 10,000 ตารางเมตร) หากมีจำนวนเกิน 10 ตัว ก็ถือว่าอยู่ในระดับระบาดแล้ว ถ้าเกิน 30 ตัว ถือว่าระบาดรุนแรงมาก เมื่อดาวมงกุฏหนามระบาด ความเสียหายที่เกิดขึ้นในแนวปะการังจะแผ่เป็นบริเวณกว้างกว่าที่จะเกิดจากสาเหตุการทำลายโดยปัจจัยอื่นๆ เพราะดาวมงกุฏหนามสามารถคืบคลานกินปะการังได้ทุกซอกทุกมุม มีรายงานว่าบริเวณเกาะกวม (ในมหาสมุทรแปซิฟิค) แนวปะการังถูกดาวมงกุฏหนามทำลายไปเป็นระยะทาง 1 กม. ต่อเดือน บริเวณที่ถูกทำลายไปแล้วปะการังอาจฟื้นตัว ก่อตัวขึ้นใหม่ ซึ่งอาจใช้เวลานานถึง 10-40 ปี หรือนานกว่านี้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยสภาพแวดล้อมอื่นๆ ประกอบด้วย

การควบคุมดาวมงกุฏหนามให้มีปริมาณน้อยลงยังเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ในหลายๆ ประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ได้ลงทุนกำจัดดาวมงกุฏหนามโดยใช้ทุนไป 600 ล้านเยน กำจัดดาวมงกุฏหนามไป 13 ล้านตัวที่เกาะริวกิว ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970-1983 แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร

ที่ผ่านมามีการกำจัดดาวมงกุฏหนามหลายวิธี เช่น เก็บขึ้นมาทิ้งบนฝั่ง การฉีดสารเคมีบางชนิดเข้าไปในตัวดาวมงกุฏหนาม แต่ก็กระทบกับสภาพแวดล้อมในบริเวณดังกล่าว หรือการใช้หอยสังข์แตรเป็นตัวกำจัดดาวมงกุฏหนาม  แต่ปัจจุบันหอยสังข์แตรก็หาอยากและใกล้สูญพันธุ์ไปแล้วด้วย วิธีการเดียวที่ดีที่สุดและได้ผลมากที่สุดที่สามารถทำลายสัตว์ชนิดนี้ได้ คือ การนำดาวมงกุฎหนามขึ้นจากใต้ทะเล และตากแดดบนฝั่ง ก่อนที่จะนำไปทำลายซากโดยการฝัง เพราะหากไปทำลายในทะเล เท่ากับเป็นการเพิ่มจำนวนของดาวมงกุฏหนามเนื่องจากสัตว์ชนิดนี้เติบโตด้วยการแบ่งตัวและแตกหน่อ

นอกจากนั้นเมื่อปี 2552 ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้เคยจัดกิจกรรมเก็บดาวมงกุฎหนาม ที่เกาะแอว มีการระบาดของดาวมงกุฏหนามค่อนข้างมาก ซึ่งสามารถเก็บขึ้นมาได้ถึง 368 ตัว ส่วนบริเวณพื้นที่เกาะเฮทั้งด้านอ่าวใหญ่และอ่าวกล้วย สามารถเก็บดาวมงกุฏหนามขึ้นมาได้เป็นจำนวน 132 ตัว ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เคยมีการเก็บดาวมงกุฏหนามไปแล้วประมาณ 300 ตัว เพื่อกำจัดและควบคุมดาวมงกุฏหนามที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในบริเวณปะการัง ให้มีปริมาณลดน้อยลง

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน