กระบี่-รมต.คมนาคม วางศิลาฤกษ์โครงการสะพานเชื่อมเกาะลันตา จ.กระบี่พร้อมรองรับการคมนาคมขนส่งและการท่องเที่ยวในอนาคตเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้ประชาชนสามารถเดินทางจากเกาะสู่แผ่นดินใหญ่ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว และปลอดภัย
วันที่18 มี.ค.65 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์โครงการก่อสร้างสะพานเชื่อมเกาะลันตา จังหวัดกระบี ซึ่งเป็นโครงการที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงชนบท สำหรับพิธีดังกล่าวมีนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม ประชาชนในพื้นที่ และสื่อมวลชน เข้าร่วมพิธีฯ โดยมีนายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เป็นผู้กล่าวรายงานเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ณ ตำบลเกาะกลาง อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่
นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เปิดเผยว่า เกาะลันตาเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยว ของจังหวัดกระบี่ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก แต่ปัจจุบันการเดินทางระหว่างแผ่นดินใหญ่ไปยังเกาะลันตาต้องใช้แพขนานยนต์ซึ่งมีความล่าช้าและค่าใช้จ่ายสูง ประกอบกับมีข้อจำกัดด้านปริมาณการบรรทุกและช่วงเวลาการให้บริการ ส่งผลให้เกิดความไม่สะดวกในการเดินทางของนักท่องเที่ยวและประชาชนในพื้นที่ทช.จึงได้ดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานเชื่อมเกาะลันตา ตำบลเกาะกลาง – ตำบลเกาะลันตาน้อย อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่
โดยมีแนวเส้นทางเริ่มต้นบริเวณถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4206 (กม.ที่ 26+620) ตำบลเกาะกลาง ไปบรรจบกับทางหลวงชนบทสาย กบ.5035 ตำบลเกาะลันตาน้อย รวมระยะทางตลอดโครงการ 2,240 เมตรซึ่งก่อสร้างสะพานเป็นรูปแบบสะพานคานขึง (Extradosed Bridge) และสะพานคานยื่น (Balanced Cantilever Bridge) ความยาวสะพาน 1,825 เมตร ขนาด 2 ช่องจราจร ช่องละ 3.75 เมตร ไหล่ทางข้างละ 2.5 เมตรพร้อมถนนต่อเชื่อมทั้งสองฝั่งรวมระยะทาง 415 เมตร และเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางโดยเฉพาะในช่วงวันหยุดหรือเทศกาลจากเดิมต้องใช้เวลา 2 ชั่วโมง เหลือเพียง 2 นาที สามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลในจังหวัดกระบี่ได้อย่างรวดเร็วหากมีเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินและเป็นเส้นทางสำหรับอพยพประชาชนในกรณีเกิดภัยพิบัติ รวมทั้งช่วยส่งเสริมศักยภาพด้านการท่องเที่ยวและอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าและบริการได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ปัจจุบัน ทช.ได้ดำเนินการสำรวจออกแบบโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จและได้ผ่านการพิจารณารายงาน การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานประเมินผลกระทบสิ่งเเวดล้อม (คชก.) ของสำนักนโยบายเเละเเผนทรัพยากรธรรมชาติเเละสิ่งเเวดล้อม (สผ.) เรียบร้อยเเล้ว
ขณะนี้อยู่ระหว่าง การเตรียมนำเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เพื่อพิจารณาและขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) และในปี 2566 ได้จัดทำคำขอภายในกรอบวงเงินโครงการรวมทั้งสิ้น 1,854 ล้านบาท มีระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี (ปี 2566 – 2568) โดยจะใช้เงินกู้และงบสมทบจากงบประมาณประจำปี ทั้งนี้ คาดว่าโครงการดังกล่าวจะเริ่มก่อสร้างประมาณปี 2566 คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จและเปิดให้ใช้บริการได้ในช่วงกลางปี 2569
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: