X

อธิบดี ทช.บินประชุมด่วน ด้านรองผู้ว่าฯ แฉ เขี้ยวพะยูน น้ำตาดุหยง ลักลอบซื้อขายราคาสุดแพง (ชมคลิป)

อธิบดี ทช.ขู่ จนท.หากพบ “พะยูน” ตายพื้นที่ไหนอีก ต้องรับผิดชอบ ประสาน ทร.สกัดกลุ่มล่าพะยูน รองผู้ว่าฯ แฉ “เขี้ยวพะยูน-น้ำตาดุหยง” ลักลอบซื้อขายราคาสุดแพง

กรณีพะยูนตายหลายตัวในทะเลอันดามัน ช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยซากพะยูน ตัวหนึ่งพบบนเกาะลันตา จ.กระบี่ เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีสภาพถูกลักลอบตัดเขี้ยวหายไป จนกลุ่มนักอนุรักษ์หวั่นเกรงว่าอาจจะเป็นการไล่ล่าของกลุ่มคนที่มีความเชื่อ ว่าเขี้ยวพะยูน สามารถนำไปทำเครื่องรางของขลังได้นั้น

 

ล่าสุดเมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 16 ก.ค.62 นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พล.ร.ต.นันทพล มาลารัตน์ ผบ.ฐานทัพเรือพังงา ทัพเรือภาค 3 นายสมควร ขันเงิน รอง ผวจ.กระบี่ นายสมโภช โชติชูช่วง รอง ผวจ.กระบี่ ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามัน จ.ภูเก็ต นายอำเภอทั้ง 4 อำเภอของ จ.กระบี่  ประกอบด้วย อ.เมือง อ.เหนือคลอง อ.คลองท่อม และ อ.เกาะลันตา ประชุมหน่วยงานสำคัญทั้ง ทสจ.กระบี่ อุทยานแห่งชาติทางทะเลทุกแห่งใน จ.กระบี่ จนท.ฝ่ายปกครอง 4 อำเภอ ที่อยู่แนวชายฝั่ง จนท.ฝ่ายความมั่นคง กองทัพเรือภาค 3 ที่ห้องประชุมอ่าวลึก ชั้น 3 ศาลากลาง จ.กระบี่ โดยที่ประชุมสรุปสาเหตุการตายของพะยูนที่พบในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา พบว่าส่วนใหญ่มีอาการตายแบบเฉียบพลันไม่ทราบสาเหตุ บางตัวมีร่องรอยถูกรัดด้วยเชือกตามลำตัวก่อนจะตาย ขณะที่บางตัวพบร่องรอยถูกตัดเขี้ยวไปจากช่องปาก ซึ่งการตรวจพิสูจน์ยืนยันได้ว่าเขี้ยวจะถูกตัดภายหลังพะยูนตายแล้ว โดยพะยูนที่พบลอยตายในทะเลตรัง และกระบี่ รวม 4 ตัว มีเพียง 1 ตัวที่ถูกลักลอบตัดเขี้ยวไป ส่วนสถานการณ์พะยูนในปัจจุบัน พบว่ามีประชากรจากการสำรวจประมาณ 250 ตัว พบเสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 12 ตัว

ทั้งนี้ระหว่างการประชุม นายสมโภช โชติชูช่วง รอง ผวจ.กระบี่ เปิดเผยข้อมูลต่อที่ประชุมว่า จากการสืบหาข้อมูลในทางลับ พบว่ามีกลุ่มคนที่มีความเชื่อเรื่องการครอบครองอวัยวะของพะยูนจริง โดยเฉพาะในกลุ่มชาวต่างชาติ ที่เชื่อว่าเขี้ยวพะยูน น้ำตาดุหยง หรือพะยูน รวมถึงไขมัน ที่นำไปทำเป็นยาเสน่ห์ และมีการซื้อขายกันในราคาที่ค่อนข้างสูง ซึ่งอยากให้ทุกหน่วยงานยอมรับความเป็นจริง และสกัดกั้นขบวนการเหล่านี้ ส่วนกลุ่มคนที่ลักลอบล่าจะเป็นใคร คงไม่สามารถระบุได้

นายจตุพร กล่าวว่า การประชุมหารือในวันนี้ เนื่องจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สั่งการด่วน กรณีพะยูนเกยตื้นตายหลายตัวในพื้นที่ทะเลของ จ.กระบี่ และ จ.ตรัง ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันยอมรับว่าเป็นสถานการณ์ไม่ปกติ ที่สื่อต่างประเทศก็ให้ความสนใจ ซึ่งการตรวจสอบหาสาเหตุการตายจะต้องดูทุกมิติ ต้องอธิบายให้ได้ว่าตายเพราะอะไร ทั้งสาเหตุจากสภาวะน้ำทะเลที่เปลี่ยนแปลง เครื่องมือประมง หรือยังมีปัจจัยอื่นอีก โดยให้เน้นตรวจสอบโดยใช้หลักวิทยาศาสตร์มาพิสูจน์ ส่วนเรื่องความเชื่อในด้านไสยศาสตร์ของคนบางกลุ่มจะไปห้ามไม่ได้ แต่อยากให้เชื่อว่าพะยูน เป็นสัตว์หายากที่ใกล้สูญพันธุ์ เป็นทรัพยากรของโลก ไม่ใช่ทรัพยากรของไทยเท่านั้น อยากให้ช่วยกันอนุรักษ์จะดีกว่า ส่วนขบวนการไล่ล่านั้นเชื่อว่าไม่มี เพราะการลักลอบตัดเขี้ยวพะยูน จะเกิดหลังการตายของพะยูนแล้ว ทุกหน่วยงานจะต้องวางแผนในการดูแลป้องกันทั้งแผนระยะสั้น ระยะยาวในระยะ 5 ปี ต้องทำงานได้อย่างสมบูรณ์ โดยหลังจากนี้จะทำงานร่วมกับกองทัพเรือ ในการตรวจตราลาดตระเวนเพื่อสกัดกั้นกลุ่มที่อาจจะลักลอบล่าหรือจับสัตว์ทะเลหายากทุกชนิด

อธิบดี ทช.กล่าวต่อว่า ในส่วนของขบวนการล่าพะยูน จะมีใบสั่งไล่ล่าจริงหรือไม่ ตนได้ประสานกับหน่วยงานความมั่นคงในทางลับ ทั้ง กอ.รมน. ทหารเรือ และตำรวจ ช่วยสืบหาข้อมูลในเชิงลึกทางหนึ่งด้วย โดยมีแผนจะดำเนินการอย่างเฉียบขาดในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบดูแลแต่ละพื้นที่ หลังจากนี้อยากให้เพิ่มความเข้มงวดในการลาดตระเวนป้องกัน หากพบพื้นที่ไหนมีพะยูนถูกฆ่า หรือตายเกยตื้นอีก จะต้องมี จนท.รับผิดชอบ นอกจากนี้จะสั่งการให้ จนท.ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัยากรทางทะเลและชายฝั่ง จ.ภูเก็ต ใช้โดรนบินสำรวจฝูงพะยูน ที่พบเข้ามาอาศัยหากินในพื้นที่ จ.กระบี่ เพื่อกำหนดเป็นมาตรการเร่งด่วน เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง ประชาสัมพันธ์ ส่วนมาตรการระยะสั้น ควบคุมปรับเปลี่ยนเครื่องมือประมงที่เป็นอันตรายต่อพะยูน ประกาศพื้นที่เฝ้าระวังพะยูน อนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน 4 จุด ของ จ.กระบี่ คือบริเวณแหลมหางนาค ในเขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ต.หนองทะเล อ.เมืองกระบี่ เกาะศรีบอยา อ.เหนือคลอง เกาะลันตา อ.เกาะลันตา พื้นที่หาดบ่อม่วง อ.คลองท่อม คาดว่าพะยูนกลุ่มที่เข้ามาหากินในเขต จ.กระบี่ น่าจะแตกมาจากฝูงของ จ.ตรัง โดยอนาคตอาจจะประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองต่อไป รวมทั้งสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนในพื้นที่

 

พล.ร.ต.นันทพล กล่าวว่า ตนมาในฐานะกองงานคุ้มครองสัตว์ทะเลหายากในกระราชดำริ กองทัพเรือจะสนับสนุนงานด้านอนุรักษ์อย่างเต็มที่ โดยจะรวบรวมข้อมูลทางฝั่งอันดามันทั้งหมด เพื่อนำข้อมูลที่ได้รับมาประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเราจะสนับสนุนเครื่องไม้เครื่องมือ ทั้งเฮลิคอปเตอร์ 2 เครื่อง เรือรบ 3 ลำ พร้อมกำลังทหารเรือคอยสนับสนุน ทั้งการขนย้ายทีมสัตวแพทย์ รวมถึงสนับสนุนทีมสัตวแพทย์ของกองทัพเรือ เข้ามาร่วมด้วย ในทางลับก็จะสืบหาข้อมูลกลุ่มที่ลักลอบล่าพะยูนไปด้วย

ขณะที่นายอาหลี ชาญน้ำ อายุ 57 ปี นายกสมาคมคนรักเลกระบี่ ชาวบ้านเกาะปู หมู่ 2 ต.เกาะศรีบอยา ซึ่งเป็นแหล่งหญ้าทะเลแหล่งใหญ่ในพื้นที่ จ.กระบี่ กล่าวว่า ยอมรับว่าในอดีตความเชื่อของชาวประมงพื้นบ้าน เรื่องพะยูนมีอยู่จริง แต่เชื่อว่าขบวนการล่าพะยูนในปัจจุบัน ไม่น่าจะมีอยู่อีกต่อไปแล้ว แต่การซื้อขายอวัยวะของพะยูน ทั้งเขี้ยว กระดูก น้ำตาพะยูน มีการซื้อขายกันจริงในราคาที่ค่อนข้างสูง โดยเขี้ยวพะยูนมีการซื้อขายเป็นคู่ในราคาตั้งแต่หลักหมื่นถึงหลักแสนบาท อย่างไรก็ตามตนไม่อยากให้ผู้คนเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้เป็นจริง ทุกวันนี้มีพะยูนมาอาศัยในทะเลกระบี่ ตนคิดว่าเป็นเรื่องดี เพราะสัตว์พวกนี้เป็นสัตว์หายากแล้ว ตนและกลุ่มชาวบ้านจึงช่วยกันเพิ่มพื้นที่หญ้าทะเล เพื่อให้เป็นแหล่งหากินของพะยูน ซึ่งปัจจุบันสามารถพบเห็นพะยูนได้ทุกวันที่เกาะปู 3-4 ตัว.

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน