ฮือฮานักอนุรักษ์ สำรวจถ้ำพบเศษภาชนะดินเผายุคก่อนประวัติศาสตร์ 3-5พันปี และโครงกระดูกสัตว์และมนุษย์ จำนวนมาก ภายในถ้ำหลวงจา อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ เผยเป็นถ้ำที่มีหินงอกหินย้อยที่สวยงาม โถงถ้ำกว้างขวาง ระยะทาง กว่า 1 กม.เหมาะเป็นแหล่งท่องเที่ยว และแหล่งเรียนรู้ ล่าสุดกรมศิลปากร ได้บันทึกชื่อเป็นแหล่งโบราณสถาน
วันที่ 3 ก.ย.62 นายนิวัฒน์ วัฒนยมนาพร กรรมการที่ปรึกษาหน่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดกระบี่ อาสาสมัครท้องถิ่นในการดูแลรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรม จ.กระบี่ กรมศิลปากร พร้อมด้วยช่างภาพอิสระและชาวบ้าน เข้าสำรวจภายในถ้ำ ที่อยู่ติดกับสำนักสงฆ์ถ้ำหลวงจา บ้านเขาแก้ว ม.4 ต.คลองยา อ. อ่าวลึก จ.กระบี่ หลังรับแจ้งจากชาวบ้านว่า พบเศษภาชนะดินเผา และโครงกระดูกจำนวนมาก โดยทางคณะสำรวจได้เดินขึ้นไปบริเวณปากถ้ำ สูงประมาณ 30 เมตร พบว่า ภายในถ้ำ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งเป็นโถงถ้ำ และอีกส่วนหนึ่งเป็นที่พำนักของพระสงฆ์ จำนวน 2 รูป
ข่าวน่าสนใจ:
บริเวณปากถ้ำ พบกองเศษกระดูก ขนาดเล็กและขนาดใหญ่จำนวนมาก คาดว่าเป็นกระดูกสัตว์ และบางส่วนอาจจะมีกระดูกของมนุษย์ รวมอยู่ด้วย ไมต่ำกว่า 100 ชิ้น นอกจากนี้ยังพบชิ้นส่วนภาชนะดินเผา เช่น ชิ้นเศษหม้อ อีกจำนวนหนึ่ง คาดว่าอยู่ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ 3,000-5,000 ปี
จากนั้นทางคณะนักอนุรักษ์ก็ได้ เดินสำรวจบริเวณภายในถ้ำ พบว่าเป็นห้องโถงที่มีความกว้าง ที่เชื่อมถึงกัน รวม 5 ห้อง เนื้อที่ประมาณ 3-5 ไร่ ลักษณะอากาศภายในเย็นสบาย มีธารน้ำไหลผ่าน แต่ละห้องมีหินงอกหินย้อยที่มีความสวยงาม และที่โดดเด่น คือแท่นบัลลังก์หิน ที่มีลวดลายรูปทรงสวยงามแปลกตา จำนวนหลายแท่น ที่มีลวดลายสวยงามแปลกตา สะท้อนแสงระยิบระยับ เมื่อดูลักษณะของหินงอกหินย้อยแล้วมีการงอกขึ้นมาใหม่ตามหยดน้ำที่ไหลลงมา หรือที่เรียกว่า ถ้ำเป็น ทำให้มีสภาพอากาศเย็นสบาย เมื่อเดินสำรวจทางด้านข้าง พบว่า สามารถเดินออกไปชมวิวมุมสูงที่สวยงาม 180 องศา จึงเหมาะที่จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิอนุรักษ์และแหล่งเรียนรู้ได้
นายนิวัฒน์ เปิดเผยว่า ถ้ำหลวงจาแห่งนี้แม้ว่าส่วนหนึ่งจะเป็นสำนักสงฆ์ แต่มีความเหมาะสมที่จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และแหล่งศึกษาเรียนรู้ทางโบราณคดี เนื่องจากมีการสำรวจพบเศษภาชนะดินเผา และโครงกระดูกจำนวนมาก คาดว่าเป็นแหล่งอาศัยของมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ อายุระหว่าง 3-5 พันปี นอกจากนี้ภายในถ้ำมีพื้นที่กว้างขวาง สามารถจุผู้คนได้จำนวนมาก มีอุโมงค์ที่เดินทะลุไปอีกฝั่งหนึ่งได้รวมระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร ล่าสุดทางเจ้าหน้าที่จากสำนักศิลปากร ได้มาสำรวจและบันทึกว่าเป็น แหล่งโบราณ อยู่ระหว่างการสำรวจอย่างเป็นทางการออีกครั้งเพื่อเตรียมขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: