เจ้าหน้าที่โชว์ภาพถ่ายสัตว์ป่าพื้นที่รอยต่อนครสวรรค์ห้วยขาแข้ง หลังพากันออกมาหากินหญ้าบริเวณป่าโปร่งช่วงฤดูฝน
นครสวรรค์-วันที่ 6 พฤษภาคม 2564 สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) ได้มีการเผยคลิปภาพที่บันทึกจากกล้องของเจ้าหน้าที่ ตั้งถ่ายในบริเวณโป่งช้างเผือก ระหว่างรอยต่อป่าเขต จ.นครสวรรค์ กับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี โดยคลิปภาพจะเห็นได้ว่า มีวัวแดงฝูงใหญ่กว่า 40 ตัว และฝูงหมูป่าอีกกว่า 50 ตัว ออกมารวมกลุ่มหากินอาหาร และหญ้าอ่อนที่เพิ่งแตกใบอ่อนอยู่กลางทุ่งโป่งช้างเผือก หลังเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง กันอย่างสบายใจ
นายธนิตย์ หนูยิ้ม ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) เปิดเผยว่า คลิปภาพชุดนี้ เป็นของนายเพิ่มศักดิ์ กนิษฐชาต หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ได้ใช้กล้องบันทึกภาพเอาไว้ เมื่อเวลาประมาณ 16.00 – 17.30น ของวันที่ 3 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ซึ่งเผยให้เห็นถึงเหล่าสรรพสัตว์ และป่ากำลังเริ่มฟื้นฟูในช่วงฤดูฝน หลังเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ได้เข้าไปบริหารจัดการพื้นที่อย่างมีแบบแผน
ส่วนการพบฝูงวัวแดงกว่า 40 ตัว ในวันนั้น จะพบว่า ฝูงดังกล่าว มีลูกวัวแดงประมาณ 10 ตัวอยู่ในนั้นด้วย ส่วนฝูงหมู่ป่าอีก 50 กว่าตัว ก็ออกมากินอยู่ในจุดใกล้เคียงเช่นกัน รวมถึง ยังมี เก้ง กวางป่า นกยูง ฯลฯ ได้เข้ามาใช้ประโยชน์บริเวณโป่งช้างเผือกแห่งนี้ด้วย จึงทำให้ชี้ชัดได้ว่า ปรากฎการณ์นี้ ช่วยตอกย้ำถึงความสมบูรณ์ของผืนป่าและสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง แหล่งมรดกโลกแห่งนี้
สำหรับสำหรับในพื้นที่โป่งช้างเผือก จะมีต้นไม้ใหญ่ที่เป็นอาหารสัตว์ป่า อย่างเช่นเช่น ต้นมะเดื่อ ซึ่งมีกระจายอยู่บริเวณโดยรอบ และขณะนี้ผลของมะเดื่อกำลังสุก และได้ร่วงหล่นอยู่ตามพื้นทุ่งหญ้าที่กำลังแตกใบอ่อน ขณะเดียวกันในพื้นที่ดังกล่าว ยังมีลำห้วยทับเสลา ซึ่งเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่ไหลผ่านโป่งแหล่งน้ำ รวมทั้งยังมีป่าเบญจพรรณที่อุดมสมบูรณ์ เพราะมีต้นไม้หลายพันธุ์ จึงเป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับการอาศัยและหากินของสัตว์ป่า
ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) ยังเผยด้วยว่า ที่ผ่านมา นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้กำชับให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง นำระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (SMART PATROL) มาใช้ในการปฏิบัติงานอย่างจริงจังมาอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้สามารถช่วยป้องกันและปราบปรามการลักลอบล่าสัตว์ป่าและลดการบุกรุกทำลายถิ่นอาศัยของสัตว์ป่าที่ได้ผลดียิ่ง โดยจะเห็นได้ว่าขณะนี้ จำนวนของสัตว์ป่าเริ่มมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: