เถ่านั้ง 107 เตรียมจัดงานประเพณีแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพ เทศกาลตรุษจีน ประจำปี 2566 อย่างยิ่งใหญ่เพื่อสืบสานพลังแห่งศรัทธา รักษาประเพณี 107 ปี ตรุษจีนปากน้ำโพ หลังหยุดจัดงานกลางคืนจากผลกระทบโควิด-19นาน2ปี
นครสวรรค์-นายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ พร้อมนายสมบัติ กิตติพงษ์พัฒนา ประธานคณะกรรมการจัดงานประเพณีแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่ปากน้ำโพ ร่วมแถลงข่าวการจัดงานประเพณีแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพ เทศกาลตรุษจีน ประจำปี 2566 ที่บริเวณศาลเจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพ(หน้าผา) อ.เมือง จ.นครสวรรค์ โดยมีสื่อมวลชน และผู้ให้การสนับสนุนการจัดงาน และประชาชนร่วมงานเป็นจำนวนมาก
ข่าวน่าสนใจ:
- เปิดงานเทศกาลนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ ประจำปี 2567
- เกษตรศาสตร์ กำแพงแสน แถลงข่าว “งานเกษตรกำแพงแสน ประจำปี 2567” วางแนวคิด ส่งเสริมการเกษตรก้าวหน้า พัฒนาเศรษฐกิจก้าวไกล สานพลังวิทยาการสมัยใหม่…
- เปิดฉาก! สีฐานเฟสติวัล 2024 ลอยกระทงปีนี้ที่ มข.แบบ “วิถีแห่งอีสาน สีฐานมูเตลู”
- อบจ.ลำปางห่วงใยชาวลำปางช่วงเทศกาลลอยกระทง อย่างปลอดภัย
ซึ่งงานประเพณีแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพ และงานฉลองเทศกาลตรุษจีน เป็นงานประเพณีที่ยิ่งใหญ่ ประจำจังหวัดนครสวรรค์ ถูกจัดขึ้นด้วยความร่วมมือร่วมใจระหว่าง พ่อค้า ประชาชนผู้มีความศรัทธาในองค์เทพ ของศาลเจ้าพ่อ-เจ้าแม่หน้าผา ศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์ เจ้าแม่ทับทิมแควใหญ่
รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ในแต่ละปีจะทำการคัดเลือกชาวตลาดปากน้ำโพเข้ามาเป็น “คณะกรรมการจัดงานประเพณีแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพ (เถ่านั้ง)” การจัดงานดังกล่าวได้รักษาขนบธรรมเนียมประเพณีที่สืบต่อกันมาแต่ดั้งเดิมยาวนาน มาจนครบ 107 ปี ในปีนี้ ซึ่งจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 15 – 26 มกราคม พ.ศ. 2566 เป็นเวลา 12 วัน 12 คืน ณ ถนนริมเขื่อนและลานหาดทราย จุดต้นกำเนิดแม่น้ำเจ้าพระยา
การจัดงานประเพณีแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพ ในครั้งนี้ มีคำขวัญว่า “สืบสานพลังแห่งศรัทธา รักษาประเพณี 107 ปี ตรุษจีนปากน้ำโพ” มีรูปแบบการจัดงาน ว่า “มังกรเบิกฟ้า บุบผาเบ่งบาน” สืบเนื่องจาก เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ทุกคนได้รับผลกระทบจากโรคโควิด 19 ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของผู้คน เป็นอย่างมาก หลายคน เกิดความท้อถอย หมดหวัง สิ้นหวังในชีวิต ทำให้เกิดแนวคิด ที่จะจัดงาน เพื่อสร้างกำลังใจ ด้วยแรงศรัทธาของชาวปากน้ำโพ ต่อองค์เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพ ที่มีมาอย่างยาวนานนับร้อยปี ผู้คนที่มาเที่ยวงานจะได้สัมผัส กับบรรยากาศการไหว้เจ้าขอพร สะเดาะเคราะห์ แก้ชง สร้างขวัญกำลังใจ ให้สามารถฟันฝ่าวิกฤติต่างๆไปได้ เปรียบประดุจมังกรกำลังจะโผบินขึ้นเบิกฟ้าใหม่ อันสดใส ความศรัทธายังคงอยู่ พร้อมที่จะผลิบานรับสิ่งที่ดีๆที่จะเกิดขึ้นมาเปรียบเสมือนดอกไม้ที่แรกแย้ม เกิดความสดชื่น เบิกบานใจ เมื่อผู้คนได้มาท่องเที่ยวงานในครั้งนี้ ดังแนวทางที่ว่า “มังกรเบิกฟ้า บุบผาเบ่งบาน”
กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การไหว้เจ้าขอพรจากองค์เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพ ทั้ง 2 ศาล การแก้ชง สะเดาะเคราะห์-เสริมดวง การทำบุญอธิษฐานขอพร ลงบนเกล็ดมังกรทองปากน้ำโพ จุดเด่นของงานยังคงเป็นการจัดขบวนแห่รอบตลาดปากน้ำโพ ซึ่ง 2 ปี ที่ผ่านมาไม่สามารถจัดได้ นั่นคือการจัดขบวนแห่กลางคืน ของคืน “ชิวซา” หรือคืนวันที่สามของปีใหม่ตามปฏิทินจีน (ตรงกับคืนวันอังคารที่ 24 มกราคม 2566) และมีขบวนแห่ในตอนกลางวันของวัน “ชิวสี่” หรือวันที่สี่ของ ปีใหม่ตามปฏิทินจีน (ตรงกับกลางวัน วันพุธที่ 25 มกราคม 2566)
โดยในขบวนแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ จะประกอบไปด้วยขบวนแห่ต่าง ๆ อาทิ เช่น ขบวนแห่เกี้ยวเจ้าพ่อ-เจ้าแม่และเทพต่างๆ อันศักดิ์สิทธิ์, ขบวนแห่มังกรทอง, ขบวนแห่เอ็งกอ-พะบู๊, ขบวนแห่สิงโต 5 ภาษา, ขบวนแห่รถนางฟ้าฯ โดยมีขบวนแห่กลางคืน 27 ขบวน ขบวนแห่กลางวัน 25 ขบวน อีกจุดเด่นของงานคือการประดับตกแต่งเมืองด้วย หุ่นโคมไฟดอกไม้ หุ่นโคมไฟมังกร เต็งรั้ง หรือ โคมไฟ เพื่อสร้างบรรยากาศที่สวยงาม สดใส ทั้งเมืองปากน้ำโพ นอกจากนี้ยังจะมีการจัดการแสดงบนเวทีริมหาดทรายต้นแม่น้ำเจ้าพระยา การแสดงวัฒนธรรมไทย-จีน การแสดงคอนเสิร์ตจากศิลปินดัง อีกด้วย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: