ที่ทำการกลุ่มฯ ศาลา SML บ้านต้นธงชัย หมู่ที่ 1 ตำบลต้นธงชัย อำเภอเมืองลำปาง รศ.ดร.จักษ์ พันธ์ชูเพชร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมคณะทำงาน และคณะผู้บริหารส่วนราชการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินทางลงพื้นที่จังหวัดลำปาง ร่วมพบปะประชาชนผู้ใช้แรงงานนอกระบบ “กลุ่มต้นธงชัยแฮนด์เมด” เพื่อติดตามผลสัมฤทธิ์การดำเนินงานของกลุ่มแรงงานนอกระบบ หลังจากที่ทางกลุ่มได้รับการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพในด้านต่างๆ จากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านการส่งเสริมอาชีพ เพื่อการมีงานทำ มีรายได้ และด้านการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายของแรงงานนอกระบบ โดยมีนางจารุณี เขมะรังษี แรงงานจังหวัดลำปาง และนายเสริมศักดิ์ เขียวคำ นายกเทศมนตรีตำบลต้นธงชัย ร่วมกันเป็นตัวแทนในนามจังหวัด ชุมชนหมู่บ้าน นำทีมหัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ พนักงานเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงแรงงาน ประจำเขตพื้นที่จังหวัดลำปาง และประชาชนผู้ใช้แรงงานนอกระบบ “กลุ่มต้นธงชัยแฮนด์เมด” มาให้การต้อนรับ พร้อมกับร่วมกันนำเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ผลงานกลุ่ม และนำเสนอข้อมูลปัญหาอุปสรรคในด้านต่างๆ ที่กลุ่มแรงงานนอกระบบ “ต้นธงชัยแฮนด์เมด” ต้องการได้รับการพัฒนาต่อยอดสนับสนุนเพิ่มเติม
โดยการลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงาน พบว่าแรงงานนอกระบบ “กลุ่มต้นธงชัยแฮนด์เมด” เป็นกลุ่มแรงงานขนาดเล็กที่ได้มีการจัดตั้งขึ้น จากการรวมตัวกันของกลุ่มแม่บ้านและผู้สูงอายุ ในเขตพื้นที่ 2 ชุมชน/หมู่บ้าน ของตำบลต้นธงชัย คือ ชุมชนบ้านต้นธงชัย หมู่ที่ 1 และบ้านแม่ทรายคำ หมู่ที่ 6 โดยทางกลุ่มได้รับการจดทะเบียนผู้ผลิต/ผู้ประกอบการ OTOP เมื่อปี 2561 มีสมาชิกกลุ่มรวมทั้งหมด 50 คน มีการผลิตงานฝีมือจำหน่าย ได้แก่ กระเป๋าสตางค์ ของที่ระลึก พวงกุญแจ ที่รัดผม โดยสินค้าทั้งหมดจะเป็นผลิตภัณฑ์จากผ้า ซึ่งเป็นงานเย็บปักถักร้อยทำด้วยมือ แต่ผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นไม่มีรูปแบบและเอกลักษณ์ที่แน่นอน ในส่วนนี้ทางกลุ่มฯ มีแนวคิดที่จะพัฒนาออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ ด้วยการผลิตสินค้าที่ใช้วัตถุดิบจากผ้าที่จะช่วยแสดงให้เห็นถึงความเป็นไทย เช่น การใช้ลายผ้าขาวม้า และลายผ้าซิ่นตีนจก เป็นต้น นอกจากนี้ยังต้องการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ให้ตอบสนองต่อการใช้งานของผู้บริโภค เช่น การทำกระเป๋าขนาดกลางที่สามารถใส่เอกสาร อุปกรณ์การทำงาน หรือกระเป๋าขนาดใหญ่สำหรับการเดินทางท่องเที่ยว ซึ่งจะต้องผลิตด้วยการใช้จักรอุตสาหกรรม
โดยการดำเนินการดังกล่าวทางกลุ่มแรงงานนอกระบบต้องการให้ภาครัฐได้ให้การช่วยเหลือเพิ่มเติม อาทิเช่น การพัฒนาองค์ความรู้เสริมทักษะด้านการใช้จักรอุตสาหกรรม, การพัฒนาทักษะฝีมือในการเย็บผ้าด้วยมือ, การส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์กลุ่มได้รับการยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์, การสนับสนุนแหล่งพื้นที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่แน่นอน และการคุ้มครองเข้าถึงสิทธิประโยชน์ของแรงงานนอกระบบ เป็นต้นจากข้อมูลการนำเสนอที่ได้รับ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดกระทรวงแรงงาน ประจำพื้นที่จังหวัดลำปางทั้งหมด ได้ร่วมกันพิจารณาจัดทำโครงการช่วยเหลือตามความเหมาะสมเพิ่มเติม หากข้อเสนอปัญหาใดมีการดำเนินการอยู่แล้วให้ทำการปรับปรุงและต่อยอดให้เกิดประโยชน์กับกลุ่มแรงงานให้มากที่สุด เฉพาะอย่างยิ่งได้เน้นย้ำให้ผลิตภัณฑ์ที่แรงงานผลิตได้ ต้องมีสถานที่วางจำหน่ายที่แน่นอน พร้อมเสนอให้หน่วยงานได้มีจัดการอบรมพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ เสริมความรู้เรื่องร้านค้า ON LINE ที่จะช่วยให้ทางกลุ่มสามารถจำหน่ายสินค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมงโอกาสนี้ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้เยี่ยมพบปะสมาชิกกลุ่มแรงงานนอกระบบที่มาให้การต้อนรับ พร้อมร่วมพูดคุยให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องสิทธิประโยชน์ประกันสังคมมาตรา 40 พร้อมทำกิจกรรมเชิญชวนให้สมาชิกแรงงานเข้าร่วมสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตราดังกล่าว ซึ่งจะช่วยให้สมาชิกแรงงานนอกระบบได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ มากมาย ทั้งเงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วยและนอนโรงพยาบาล และเงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพ รวมไปถึงการได้รับเงินช่วยเหลือในกรณีที่เสียชีวิต เป็นต้น
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: