หลังสถานการณ์ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในพื้นที่พุ่งสูงเกินค่ามาตรฐาน อยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่จังหวัดลำปาง
ล่าสุดนายสุรชัย อจลบุญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมคณะ เดินทางลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมดูสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันในจังหวัดลำปาง พร้อมร่วมประชุมติดตามผลการปฏิบัติงานการดำเนินการแก้ไขปัญหา จากหัวหน้าหน่วยงานส่วนราชการในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประจำพื้นที่จังหวัดลำปาง และผู้แทนองค์กรจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในเขตท้องที่ ที่ห้องประชุมศูนย์บัญชาการควบคุมไฟป่า อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง โดยมีนายอิศเรศ สิทธิโรจนกุล ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 สาขาลำปาง นายชูเกียรติ พงศ์ศิริวรรณ ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 (ลำปาง) และนายสุรชัย แสงศิริ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลำปาง ร่วมกันเป็นตัวแทนในนามหน่วยงานพื้นที่ นำผู้บริหารหัวหน้าหน่วย หัวหน้าส่วนงานและฝ่ายงานต่างๆ รวมทั้งข้าราชการ พนักงานเจ้าหน้าที่ จากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และอาสาสมัครภาคประชาชนที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับและรายงานข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
จากการรายงานสถานการณ์ภาพรวมระดับพื้นที่ นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นมา ซึ่งพบว่าจังหวัดลำปางได้มีการแจ้งรายงานการเกิดจุด Hotspots จากดาวเทียมระบบ MODIS และแจ้งเหตุไฟป่าในเขตพื้นที่รับผิดชอบ รวมแล้วกว่า 400 ครั้ง ซึ่งปัญหาไฟป่าที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อบริเวณผืนป่าในเขตพื้นที่รับผิดชอบ โดยมีพื้นที่ป่าได้รับความเสียหายรวมแล้วกว่า 100 ไร่ โดยสาเหตุของการเกิดไฟไหม้ป่าทั้งหมดเกิดจากฝีมือมนุษย์ที่ได้ทำการจุดไฟเผาป่าเพื่อล่าสัตว์ หรือหาของป่า และประเด็นสำคัญ คือ การตั้งใจจุดไฟเผาป่าเพื่อสร้างสถานการณ์ ซึ่งในส่วนของการแก้ปัญหาทางจังหวัดลำปาง ได้มีมาตรการป้องกันปัญหาตั้งแต่แรกเริ่มของการเข้าสู่หน้าแล้ง โดยได้พยามดำเนินการทุกรูปแบบ เพื่อป้องกันให้เกิดการเผาในเขตพื้นที่น้อยที่สุด โดยการปฏิบัติได้ใช้มาตรการบริหาร 4 พื้นที่ 5 หลักการบริหารจัดการ เน้นการทำงานในการประชาสัมพันธ์ การป้องกัน การเตรียมพร้อม การรับมือ และการฟื้นฟู พร้อมวางมาตรการปฏิบัติตามกฎหมาย ในการนี้ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมสถานการณ์ไฟป่า ทั้งในระดับหมู่บ้าน ตำบล และในระดับอำเภอ ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 13 อำเภอ
ทั้งนี้มีการระดมกำลังเจ้าหน้่าที่ที่เกี่ยวข้องช่วยกันทำแนวกันไฟตามจุดพื้นที่เสี่ยง พร้อมลงพื้นที่สร้างความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนชาวบ้านขอความร่วมมืองดการเผา และทำงานเชิงรุกลาดตระเวนในพื้นที่ป่าจุดเสี่ยงคอยสังเกตบุคคลแปลกหน้ารวมถึงผู้ที่เข้าออกบริเวณป่า เพื่อป้องกันและป้องปรามไม่ให้มีการลักลอบจุดไฟเผาป่า ส่วนมาตรการบังคับทางกฎหมายได้มีการดำเนินการเอาจริงเอาจัง จับปรับทุกรายกับผู้ที่กระทำผิด ทั้งที่จุดไฟเผาโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมถึงผู้ที่จุดไฟเผาโดยได้รับอนุญาตแต่ไม่ได้ควบคุมปล่อยให้ไฟลุกลาม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ที่ตั้งใจจุดไฟเผาป่า ซึ่งตลอดเดือนมกราคมที่ผ่านมาได้มีการดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำผิดไปแล้วรวม 7 คดี ส่วนมาตรการเข้มข้นปิดป่าตั้งจุดตรวจจุดสกัดตามเส้นทางเข้าออกเขตพื้นที่ป่าทุกเส้นทางทุกพื้นที่ ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นเตรียมการโดยคาดว่าจะมีการประกาศใช้มาตรการภายในเดือนกุมภาพันธ์ นี้
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ 0 / 5. จำนวนโหวต: 0