X

ลำปางเดินหน้าป้องกันแก้ไขปัญหาภัยแล้ง “คนลำปางมีน้ำกินน้ำใช้ ไม้ผลไม่ยืนต้นตาย”

นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง พร้อมด้วย นายสิธิชัย จินดาหลวง รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง และหัวหน้าส่วนราชการ/หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง จังหวัดลำปางได้มีการสรุปผลภาพรวมการดำเนินงานทั้ง 3 ระยะ ที่มุ่งเน้นการไม่ขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้และไม้ผลไม่ยืนต้นตายจนทำให้จังหวัดลำปางผ่านวิกฤตภัยแล้งมาได้ในปีนี้
ซึ่งผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาภัยแล้งตามแนวทาง 3 ระยะของจังหวัดลำปาง ประกอบด้วยระยะสั้น/ระยะเร่งด่วน
ด้านน้ำอุปโภค – บริโภค ซึ่งจากข้อมูลพบว่ามีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค จำนวนทั้งสิ้น 281 หมู่บ้าน ทางศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งจังหวัดลำปาง ได้เร่งให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ “เสี่ยงมาก” จำนวน 4 หมู่บ้าน และ “เสี่ยงปานกลาง” จำนวน 45 หมู่บ้าน ผ่านการประสานส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่สนับสนุนรถบรรทุกน้ำ เพื่อแจกจ่ายให้แก่ราษฎรมาอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนแจกจ่ายถังเก็บน้ำขนาด 200 ลิตร เพื่อให้ราษฎรใช้ในการเก็บน้ำไว้ใช้อุปโภคบริโภค

ด้านไม้ผลเสี่ยงยืนต้นตาย จังหวัดลำปางมีพื้นที่เสี่ยงไม้ผลยืนต้นตาย จำนวน 19,604 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงสีแดง (วิกฤติ) 2,219.75 ไร่ ทางศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งจังหวัดลำปาง จึงได้ลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าวอย่างเร่งด่วน โดยมีการแจกจ่ายน้ำ ตลอดจนให้ความรู้ในการทำระบบน้ำหยดด้วยขวดพลาสติก การปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อวัดความชุ่มชื้นในดิน การตัดแต่งกิ่ง การใช้สารชีวภัณฑ์ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชให้กับเกษตรกรเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมาจนทำให้ปัจจุบันไม่มีพื้นที่ประสบปัญหาแล้ว

ด้านการจัดสรรน้ำจากเขื่อนกิ่วลม เพื่อแก้ปัญหาลุ่มน้ำวังตอนล่าง (5 อำเภอ 30 ตำบล) ซึ่งจังหวัดลำปางมีพื้นที่ขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค และพื้นที่เสี่ยงไม้ผลยืนต้นตาย กระจายในพื้นที่ 9 อำเภอคือ อำเภอวังเหนือ อำเภอแจ้ห่ม อำเภอเมืองลำปาง อำเภอแม่เมาะ อำเภอห้างฉัตร อำเภอเกาะคา อำเภอสบปราบ อำเภอเถิน และอำเภอแม่พริก โดยมีพื้นที่แล้งวิกฤติทางตอนใต้ของจังหวัด จึงได้กำหนดให้มีการผันน้ำลงสู่แม่น้ำวัง จากแหล่งน้ำต้นทุน จำนวน 2 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำกิ่วลม และอ่างเก็บน้ำแม่ฟ้า รวม 10 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ด้านท้ายน้ำของแม่น้ำวัง โดยเริ่มระบายน้ำในวันที่ 17 เมษายน 2563 ตั้งแต่เวลา 18.00 น. ถึงวันที่ 21 เมษายน 2563 เวลา 18.00 น. ผลการดำเนินงานดังกล่าวทำให้มีพื้นที่ได้รับประโยชน์จากการระบายน้ำครั้งนี้ จำนวน 5 อำเภอ รวม 30 ตำบล รวมทั้งการประปาส่วนภูมิภาค สาขาเถิน สามารถเก็บกักไว้สำหรับผลิตน้ำประปาได้จนถึงเดือนกรกฎาคม 2563 ถือได้ว่าการให้บริการน้ำประปาในพื้นที่อำเภอเถินและอำเภอแม่พริก ปี 2563 ได้ผ่านพ้นวิกฤติแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในระยะปานกลาง และระยะยาวนั้น จังหวัดลำปาง ได้มีแนวคิดที่จะใช้ประโยชน์จากขุมเหมือง เป็นการศึกษาและเตรียมนำโมเดลการนำน้ำจากขุมเหมืองมาใช้ประโยชน์ เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ในลักษณะการขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการในการทำ CSR ซึ่งพื้นที่จังหวัดลำปางมีขุมเหมืองอยู่ ประมาณ 10 ขุมเหมือง โดยดำเนินโครงการนำร่อง (Pilot Project ) เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่อย่างยั่งยืน (สิริราชโมเดล) ในพื้นที่ตำบลสันดอนแก้ว อำเภอแม่ทะ ซึ่งมีระบบการปรับปรุงคุณภาพน้ำก่อนนำไปใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค และหรือเพื่อการเกษตรกรรม นอกจากนี้ ยังวางแผนพัฒนาลุ่มน้ำต่างๆเพื่อให้ประชาชนสามารถนำน้ำมาใช้ประโยชน์ เช่น การพัฒนาลุ่มน้ำแม่จางที่เป็นแม่น้ำสายหลักที่ประชาชนใช้ประโยชน์ ในพื้นที่ 3 อำเภอ คือ อำเภอแม่เมาะ อำเภอแม่ทะ และอำเภอเกาะคา การพัฒนาลุ่มน้ำแม่งาว เพื่อช่วยเหลือประชาชนพื้นที่ 5 ตำบล คือ ตำบลบ้านร้อง ตำบลปงเตา ตำบลนาแก ตำบลหลวงเหนือ และตำบลหลวงใต้ การแก้ไขปัญหาลำน้ำแม่ตุ๋ยช่วงบนมีแนวทางการดำเนินการผันน้ำต้นทุนจากอ่างเก็บน้ำแม่นึง บรรเทาปัญหาความเดือดร้อนในช่วงภัยแล้งให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยยึดต้นแบบของการผันน้ำจากเขื่อนกิ่วลมลงสู่ลุ่มน้ำวังตอนล่าง การเติมน้ำใต้ดินเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งน้ำใต้ดินให้มีน้ำใช้อย่างยั่งยืน การพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ การติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร ไม่น้อยกว่า 2500 w และการดำเนินยุทธการหน่วงน้ำในแผ่นดินเขลางค์นคร ซึ่งเป็นแนวคิดการชะลอน้ำหรือหน่วงน้ำไว้ใช้ เพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ตลอดจนสนับสนุนการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน การปรับเปลี่ยนแนวคิดการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย การปลูกจิตสำนึกและสร้างความตระหนักในการใช้ทรัพยากรน้ำ

ทั้งนี้ ด้วยความร่วมมือในการบริหารจัดการน้ำทำให้ปัจจุบัน จ.ลำปาง ไม่มีพื้นที่ประกาศภัยแล้งเลย ถึงแม้จะอยู่ในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ และมีไม้ผลยืนต้นที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงกว่า 19,000 ไร่ แต่ผลจากการเตรียมความพร้อมรับมือล่วงหน้า ที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่การป้องกันก่อนเกิดภัย และระหว่างเกิดภัยก็มีการเร่งให้ความช่วยเหลืออย่างรวดเร็วเพื่อลดการสูญเสีย โดยการบูรณาการในทุกภาคส่วนที่ร่วมกันบริหารจัดการน้ำที่ถูกต้องเหมาะสม มีการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล มีการบริหารทรัพยากรน้ำ ทั้งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดิน มีการอนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งน้ำให้คงอยู่และมีใช้อย่างยั่งยืนต่อไป

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน