ตามที่จังหวัดลำปางได้มีคำสั่ง และประกาศ ปิดสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด – 19 พร้อมทั้งได้กำหนดมาตรการที่มีการรักษาความสมดุล ระหว่างการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 อย่างเข้มข้นแล้ว และผ่อนปรนกิจการ กิจกรรมต่างๆ ให้สามารถดำรงชีวิตอย่างปกติสุขได้ ควบคู่ไปกับการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว นั้น สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของจังหวัดลำปาง ระลอกเดือนเมษายน จังหวัดลำปางพบผู้ป่วยตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2564 และสถานการณ์ตั้งแต่วันที่ 21 – 27 เมษายน 2564 เป็นต้นมา พบผู้ติดเชื้อโรคโควิด – 19 ในพื้นที่จังหวัดลำปางมีแนวโน้มลดลง (11 ,14 ,6 ,6 ,7 ,3 และ 0 ตามลำดับ) ประกอบกับที่ผ่านมาได้กำหนดมาตรการต่างๆ อย่างเข้มงวด จึงสามารถควบคุมสถานการณ์ในพื้นที่ให้อยู่ในระดับเป็นที่น่าพึงพอใจ ซึ่งจังหวัดลำปางขอขอบคุณประชาชน ชาวจังหวัดลำปางที่ให้ความร่วมมือในการป้องกันตนเองปฏิบัติตามมาตรการของทางส่วนกลาง และจังหวัดลำปางกำหนดอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการสวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ที่ประชาชน ให้ความร่วมมือเกิน ร้อยละ 90
ข่าวน่าสนใจ:
แต่เนื่องจากจังหวัดต่างๆ ได้ประกาศกำหนดให้ประชาชนต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา ส่งผลให้ประเทศไทยได้ยกระดับมาตรฐานที่สูงขึ้น ดังนั้น เพื่อเป็นการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว และเป็นการเพิ่มความเข้มข้น/ยกระดับมาตรการในพื้นที่จังหวัดลำปาง อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 28 (1) (7) และมาตรา 34 (6) แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ประกอบกับ ข้อ 7 (1) และข้อ 11 ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 1) ลงวันที่ 25 มีนาคม 2563 ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง/ผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินทุกมิติในเขตท้องที่จังหวัดลำปาง โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดลำปาง ในคราวประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดลำปาง ครั้งที่ 16/2564 เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2564 จึงมีประกาศ ดังนี้
1.ให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดลำปางสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าอย่างถูกต้อง หรือถูกวิธีทุกครั้ง ตลอดเวลาที่ออกนอกเคหสถานหรือสถานที่พำนัก หรือในที่สาธารณะ เพื่อป้องกันมิให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งเป็นสาเหตุให้โรคแพร่ออกไป จนเกิดการระบาดเป็นวงกว้างในพื้นที่
2.ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน คณะกรรมการหมู่บ้าน ผู้บริหาร/บุคลากรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) พื้นที่ หรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ช่วยเหลือเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อแห่งท้องที่ในการให้คำแนะนำ สอดส่องดูแลให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคดังกล่าวอย่างเคร่งครัด
ผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามประกาศฉบับนี้ และคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท ตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558
อนึ่ง เนื่องจากเป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนหากปล่อยให้เนินช้าไปจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงแก่สาธารณชน หรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ จึงไม่อาจให้คู่กรณีใช้สิทธิโต้แย้ง ตามมาตรา 30 วรรคสอง (1) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539
ประกาศ ณ วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2564
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: