นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง พร้อมด้วย นพ.ประเสริฐ กิจสุวรรณรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำปาง และ นพ.พงษ์ศักดิ์ โสภณ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลลำปาง ร่วมกันนำทีมเจ้าหน้าที่พยาบาล ตัวแทนเจ้าหน้าที่อำเภอ และตัวแทนเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานประจำหน่วยศูนย์บริการพยาบาลฉุกเฉินจาก 14 หน่วยงานในจังหวัดลำปาง ทั้งในส่วนของโรงพยาบาลลำปาง โรงพยาบาลมะเร็งลำปาง, โรงพยาบาลประจำอำเภอทุกแห่งทั้ง 12 โรงพยาบาล ร่วมกันทำพิธีรับมอบเครื่องมืออุปกรณ์ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ “เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator) หรือ AED”
ซึ่งทางสภากาชาดไทยได้ทำการจัดหาผ่านกิจกรรม “วิ่งกระตุกหัวใจ 125 ปี ของสภากาชาดไทย” และได้นำมาบริจาคมอบให้แก่ทางจังหวัดลำปาง เพื่อสำหรับนำไปใช้ประโยชน์ในการช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วย จากเหตุกรณีฉุกเฉินหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน โดยการรับมอบเครื่องมืออุปกรณ์ครุภัณฑ์ทางการแพทย์เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ AED ดังกล่าว ทางจังหวัดลำปางได้จัดทำพิธีรับมอบอย่างเป็นทางการขึ้น ณ ห้องประชุมสุรินทร์-สมพร โอสถานุเคราะห์ ชั้น 6 อาคารตึกนวมินทร-ราชประชาภักดี โรงพยาบาลลำปาง ตำบลหัวเวียง อำเภอเมืองลำปาง โดยมีคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของเหล่ากาชาดจังหวัดลำปาง ร่วมกันเป็นตัวแทนในนามสภากาชาดไทย ทำการส่งมอบเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ AED จำนวน 14 เครื่อง ให้กับทางจังหวัด
ข่าวน่าสนใจ:
- จัดกิจกรรมวิ่งการกุศล UNITHAI-CUEL Run for Charity 2025 ครั้งที่ 3 วิ่งด้วยใจ ในสวนสวย ช่วยผู้ป่วยมะเร็ง
- ตรัง จัดใหญ่ 12 วัน งานฉลองรัฐธรรมนูญและงานกาชาดจ.ตรัง 4-15 ธ.ค.นี้ รีแบร์นใหม่! ย้อนยุคงานเหลิมแต่แรก แสดงบินโดรนพิธีเปิด วธ.ทุ่ม 3.4 ล้าน…
- "เบิร์ด ธงไชย" ศิลปินแห่งชาติ ร่วมสืบสานนาฏศิลป์สยาม ชมการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ
- อบจ.ลำปางยกระดับคุณภาพมาตรฐานหน่วยบริการปฐมภูมิและเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ PCU/NPCU
ในการนี้ นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ได้ทำการนำเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติทั้งหมด ส่งมอบต่อให้กับเจ้าหน้าที่ตัวแทน 14 หน่วยงาน ในเขตท้องที่อำเภอต่างๆ ทั้ง 13 อำเภอ โดยเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติที่ได้รับ ทางเจ้าหน้าที่จะได้มีการนำไปติดตั้งไว้ ตามสถานที่สาธารณะที่เป็นจุดศูนย์กลางของชุมชนและมีผู้มาใช้บริการเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงที่อาจเกิดเหตุกรณีฉุกเฉินมีผู้ป่วยประสบภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้ อาทิเช่น ตามสถานีรถโดยสาร สนามบิน สนามกีฬา สวนสาธารณะ ห้างสรรพสินค้า สถานที่ท่องเที่ยว และจุดบริการประชาชน เป็นต้น
ทั้งนี้ สำหรับภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน เป็นหนึ่งในอาการสาเหตุหลักต่อการเสียชีวิตของผู้ป่วย รองจากโรคมะเร็ง และอุบัติเหตุ โดยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำปาง ได้กล่าวว่า ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน เป็นอาการที่ได้คร่าชีวิตคนไทยไปในแต่ละปีมากถึง 54,000 คน เฉลี่ยแล้วในแต่ละชั่วโมงจะมีผู้เสียชีวิตจากอาการดังกล่าว 6 คน ซึ่งภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน คือ ภาวะที่หัวใจหยุดการส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆ ในร่างกายอย่างกะทันหัน โดยผู้ที่เกิดอาการจะหมดสติภายใน 10 วินาที ขณะที่เนื้อสมองจะเริ่มเสียหายภายในระยะเวลา 4 นาที และอาการหัวใจหยุดเต้นกะทันหันนี้ อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคนไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ โดยตัวผู้ป่วยเองมักจะไม่ทราบถึงอาการล่วงหน้า ส่วนใหญ่มักมีอาการเป็นลมหมดสติกะทันหัน หรือ อาจเกิดอุบัติเหตุโดยไม่คาดคิดมาก่อน ซึ่งหากเกิดอาการเพียงเสี้ยววินาทีที่หัวใจหยุดเต้น หรือเต้นผิดจังหวะ สมองและร่างกายจะขาดออกซิเจนจนอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ โดยโอกาสรอดชีวิตจะลดลงร้อยละ 10 ในทุกๆ 1 นาที แต่หากผู้ป่วยได้รับการช่วยเหลือทำ CPR อย่างทันท่วงทีก็จะสามารถยื้อชีวิตไว้ได้ เพียงแต่ปัญหาในการช่วยชีวิต คือ ผู้ทำ CPR ไม่สามารถรู้ได้ว่าการทำ CPR แต่ละครั้งมีประสิทธิภาพมากแค่ไหน ความลึกในการกดหน้าอก ความเร็ว ตำแหน่งที่ถูกต้อง หรือแม้กระทั่งหัวใจของผู้ป่วยอยู่ตรงจุดไหน โดยเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ AED ที่ได้รับมอบในครั้งนี้ จะเป็นเครื่องมือที่ทันสมัยและมีความสำคัญที่จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ ซึ่งตัวเครื่องสามารถที่จะให้คำแนะนำแก่ผู้ปฏิบัติ ให้ทำ CPR เป็นไปตามขั้นตอนอย่างถูกต้องและถูกวิธี ควบคู่ไปกับการใช้กระแสไฟฟ้าในการกระตุกหัวใจในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน เพื่อให้หัวใจที่หยุดเต้นกลับมาทำงานได้อีกครั้ง
โดยโอกาสนี้ เพื่อให้การใช้งานเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ AED เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปาง จึงได้ร่วมกับโรงพยาบาลลำปาง นำทีมบุคลากรจากศูนย์บริการพยาบาลฉุกเฉิน มาร่วมสาธิตถ่ายทอดองค์ความรู้ สอนเทคนิควิธีการปฏิบัติในการช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วยในภาวะฉุกเฉินด้วยการใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้า AED เพื่อฟื้นคืนการทำงานของระบบไหลเวียนโลหิตที่หยุดการทำงานอย่างกะทันหัน ให้หัวใจผู้ป่วยกลับมาเต้นเองได้ตามปกติ ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการอบรมครั้งนี้ จะเป็นวิทยากร ครู ก. ที่จะนำความรู้การใช้เครื่อง AED ไปถ่ายทอดให้กับเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: