จากกรณีปัญหายืดเยื้อของราษฎร 5 หมู่บ้าน กว่า 1,458 ครัวเรือน ในเขตพื้นที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ซึ่งราษฎรได้มีการร้องขออพยพชุมชนออกนอกเขตพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ตั้งแต่ปี 2552 โดยอ้างว่าได้รับผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม จากการดำเนินกิจการของโรงไฟฟ้า ขณะที่ทางจังหวัดได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการไตรภาคีขึ้น เพื่อร่วมกันพิจารณาและได้ร่วมกับกระทรวงพลังงานเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเข้าต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งคณะฯ ได้มีมติเห็นชอบในหลักการ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2556 ให้ดำเนินการตามข้อเสนอของกระทรวงพลังงาน อพยพชุมชน 5 หมู่บ้าน ประกอบด้วย บ้านหัวฝาย หมู่ที่ 1, บ้านดง หมู่ 2, บ้านสวนป่าแม่เมาะ หมู่ 7 และบ้านหัวฝายหล่ายทุ่ง หมู่ที่ 8 ในเขตพื้นที่ตำบลบ้านดง รวมจำนวน 982 ครัวเรือน และ บ้านห้วยคิง หมู่ที่ 6 ตำบลแม่เมาะ อีกจำนวน 476 ครัวเรือน ออกนอกพื้นที่เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎร และเพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
โดยในการดำเนินงานนั้นให้ กฟผ. รับผิดชอบเรื่องงบประมาณสำหรับเป็นค่ารื้อย้ายที่อยู่อาศัยรวมถึงเป็นค่าชดเชยที่ดิน ต้นไม้ รวมจำนวน 2,138 ล้านบาท และอีก 832.5 ล้านบาท ใช้เป็นค่าก่อสร้างจัดสรรที่สาธารณูปโภคในพื้นที่รองรับ การอพยพของราษฎร 2 พื้นที่ คือ พื้นที่สำหรับรองรับชุมชน 4 หมู่บ้าน ของตำบลบ้านดง 1,547 ไร่ และพื้นที่สำหรับรองรับชุมชนบ้านห้วยคิง ตำบลแม่เมาะ 590 ไร่ แต่จนถึงปัจจุบันราษฎรทั้ง 5 หมู่บ้าน 1,458 ครัวเรือน ยังไม่ได้มีการอพยพย้ายออกจากพื้นที่เดิมตามที่ร้องขอ ทั้งต่อมายังมีข้อกรณีพิพาทกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกหลายครั้ง
ข่าวน่าสนใจ:
ล่าสุด นายกิตติกร โล่ห์สุนทร ประธานคณะกรรมาธิการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย นายธารา ปิตุเตชะ รองประธานคณะกรรมาธิการคนที่ 5 และคณะทำงานฯ ได้ร่วมเดินทางลงพื้นที่จังหวัดลำปาง เพื่อตรวจเยี่ยมติดตามผลความคืบหน้าการดำเนินงานในเรื่องกรณีดังกล่าว โดยการนี้นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ได้นำทีมเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการพลังงาน ณ ห้องประชุมอาลัมภางค์ ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดลำปาง เพื่อให้ข้อมูลรายละเอียดและรายงานผลความคืบหน้าการอพยพราษฎรที่ได้รับผลกระทบทั้ง 5 หมู่บ้าน
โดยจากการชี้แจงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่า ขณะนี้เรื่องของการอพยพราษฎรในพื้นที่ 4 หมู่บ้าน ของตำบลบ้านดง นั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีดำเนินการให้เป็นไปตามลำดับขั้นตอน มีการคิดค่าชดเชยผลอาสิน ค่าทดแทนเรื่องที่อยู่อาศัยและกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ราษฎรทั้ง 982 ครัวเรือน ซึ่งเมื่อเดือนสิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา คณะกรรมการระดับจังหวัดก็ได้มีการปรับราคาการประเมิน ให้มีค่าเพิ่มสูงขึ้นตามความเหมาะสมของสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน และเป็นไปตามเงื่อนไขในประกาศของกรมชลประทาน ทั้งมีการดำเนินการจัดเตรียมตั้งหมู่บ้านเป็นกรณีพิเศษ ตามระเบียบของกรมการปกครอง ขณะที่ในพื้นที่รองรับกว่า 1,547 ไร่ ได้มีการจัดสร้างอ่างกักเก็บน้ำสำหรับใช้เป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค และเพื่อการเกษตร, มีการก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภค ถนน ระบบไฟฟ้า ประปา วัด โรงเรียน ตลาด ทั้งมีการปรับพื้นที่จัดสรรที่ดินไว้ พร้อมที่จะทำการจัดให้ราษฎรได้เข้าไปปลูกบ้านเพื่ออยู่อาศัยได้แล้ว ซึ่งในส่วนนี้คาดว่าจะมีการดำเนินการจับฉลากจัดสรรชาวบ้านเข้าอยู่อาศัยในพื้นที่ได้ในวันที่ 20 กันยายน 2564 นี้
สำหรับในส่วนการอพยพราษฎร หมู่บ้านห้วยคิง ตำบลแม่เมาะ จำนวน 476 ครัวเรือน ขณะนี้ยังไม่สามารถดำเนินการให้มีความคืบหน้าต่อได้ เนื่องจากติดปัญหาการบุกรุกพื้นที่รองรับ 590 ไร่ จากราษฎรในพื้นที่ 63 ราย แม้ตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจะมีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 ให้กระทรวงพลังงาน (กฟผ.) จ่ายค่าชดเชยเยียวยาที่ดิน ต้นไม้ สิ่งปลูกสร้าง ให้แก่ราษฎรผู้ครอบครองพื้นที่ เพื่อให้ราษฎรทั้ง 63 ราย ได้รับค่าชดเชยเยียวยาแล้วออกจากพื้นที่ และจะได้จัดสรรที่ดินให้ชาวบ้าน 400 กว่าครัวเรือน เข้าอยู่อาศัยในพื้นที่รองรับ แต่มติดังกล่าวได้ถูกทักท้วงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ทั้งสำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่าในการจ่ายค่าชดเชยเยียวยาแก่ราษฎรทั้ง 63 ราย จะต้องมีการพิจารณาประกอบว่าไม่ใช่บุคคลในครอบครัวที่เคยได้รับการช่วยเหลือจากรัฐเรื่องการอพยพย้ายที่อยู่อาศัยในพื้นที่มาก่อน เพื่อป้องกันมิให้มีการช่วยเหลือซ้ำซ้อนและเป็นแบบอย่างให้มีการเรียกร้องต่อหน่วยงานรัฐได้ อีกทั้งจะต้องมีการตรวจสอบพื้นที่พิสูจน์ความถูกต้องจากภาพถ่ายทางอากาศ และแผนที่ดาวเทียม เพื่อตรวจสอบสิทธิ์ ทรัพย์สิน และระยะเวลาที่ราษฎรได้บุกรุกเข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐว่ามีความถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการเอาพื้นที่ป่ามาหากินรับเงินชดเชยช่วยเหลือจากภาครัฐ ซึ่งจากข้อมูลการตรวจสอบโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่าราษฎรทั้ง 63 ราย ไม่เข้าข่ายที่จะได้รับการช่วยเหลือเยียวยาในครั้งนี้ เนื่องจากส่วนหนึ่งเป็นผู้ที่เคยได้รับการช่วยเหลือจากรัฐในการอพยพย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยมาแล้ว เมื่อการอพยพครั้งที่ 3 ในปี 2530 อีกส่วนหนึ่งเป็นครอบครัวขยายของผู้อพยพ และมี 1 ราย อยู่นอกพื้นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการอพยพ โดยปัจจุบันทั้ง 63 ราย ยังคงปักหลักอยู่ในพื้นที่เดินหน้าเรียกร้องค่าชดเชยเยียวยาจากรัฐ
ทั้งนี้ในประเด็นปัญหาดังกล่าว ทางคณะกรรมาธิการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร ได้มีการเสนอข้อคิดเห็นให้หน่วยงานพื้นที่ดำเนินการ 3 ประเด็น คือ ให้ทำการสำรวจพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อใช้ในการรองรับการอพยพของราษฎรจากบ้านห้วยคิง ทดแทนไปพลางก่อนแล้วค่อยมีการพิจารณาดำเนินการเผาผิดทางกฎหมายกับ 63 รายที่บุกรุก หรือ ให้มีการพิจารณากันพื้นที่แก่ราษฎรที่บุกรุกทั้ง 63 ราย ตามมติ ครม. ที่กำหนดให้ราษฎรที่ได้รับความช่วยเหลือครั้งนี้ จะได้รับการจัดสรรที่ดินเป็นที่อยู่อาศัยคนละ 1 แปลง เนื้อที่ไม่เกิน 1 ไร่ แล้วให้ยึดพื้นที่ที่เหลือคืนนำมาจัดสรรใหม่ หรือ ให้มีการพิจารณาตามมติ ครม.จ่ายเฉพาะค่าชดเชยอาสินพืชที่ปลูกเท่านั้น โดยให้ยกเว้นค่าทดแทนอื่นๆ และให้จ่ายค่าชดเชยเป็นไปตามระเบียบหลักเกณฑ์ข้อกำหนดของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เท่านั้น โดยประเด็นข้อเสนอที่ได้รับ ทางผู้ว่าราชการจังหวัด และตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ขอรับไว้พิจารณาเพื่อเป็นแนวทางที่จะดำเนินการแก้ไขปัญหา ซึ่งจะต้องมีการประชุมหารืออย่างละเอียดรอบคอบร่วมกับคณะกรรมการระดับพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง เพื่อไม่ให้มีการปฏิบัติขัดกับข้อกฎหมาย แต่เบื้องต้นจะขอเร่งดำเนินการอพยพราษฎรในพื้นที่ 4 หมู่บ้าน 982 ครัวเรือน ของตำบลบ้านดง ให้แล้วเสร็จเสียก่อนซึ่งก็จะมีการจับฉลากจัดสรรชาวบ้านเข้าอยู่อาศัยในพื้นที่ภายในเดือนกันยายน 2564 นี้
ในโอกาสนี้ นายกิติกร โล่ห์สุนทร ประธานคณะกรรมาธิการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร พร้อมคณะฯ ได้ลงพื้นที่ ติดตามดูการดำเนินงานการก่อสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานในพื้นที่รองรับการอพยพราษฎร 4 หมู่บ้าน ในตำบลบ้านดง พร้อมพบปะกับชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อร่วมแสดงความดีใจที่ความฝันของชาวบ้านกำลังจะเป็นจริงหลังต้องใช้เวลาอดทนรอคอยมานานนับสิบปี
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: