พลตรีอโณทัย ชัยมงคล ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 32 เป็นประธานการแถลงข่าว “บ้านป่องนัก” พลับพลาที่ประทับ สถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่าให้ประชาชนชาวจังหวัดลำปาง เห็นความสำคัญทางประวัติศาสตร์ สมบัติอันล้ำค่าของชาวไทยและชาวจังหวัดลำปาง
สำหรับ “บ้านป่องนัก” เคยใช้เป็นพลับพลาที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลพายัพ เมื่อเดือนมกราคม 2469 ต่อมา เดือนมีนาคม 2501 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จประทับระหว่างทรงเยี่ยมราษฎรภาคเหนือก็ใช้พลับพลาที่ประทับอีกครั้งหนึ่ง
การเรียกชื่อบ้านป่องนักเป็นการเรียกตามลักษณะการก่อสร้างบ้านในภาษาเหนือ ซึ่ง ป่อง หมายถึง “หน้าต่าง” นัก หมายถึง “มาก” เมื่อรวมกันแล้วจึงมีความหมายคือ บ้านที่หน้าต่างจำนวนมาก มีลักษณะเป็นอาคารไม้ 2 ชั้น ยกพื้นเตี้ย ขนาดกว้าง 19 เมตร ยาว 25 เมตร ชั้นล่างสูงจากพื้นดิน 80 เซนติเมตร มีหน้ามุขแบบ 5 เหลี่ยม จำนวน 5 มุข หลังคาทรงพีระมิด ตัวบ้านเป็นสถาปัตยกรรมยุโรปแบบคลาสสิก สมัยกรีก ราวศตวรรษที่ 13 ผสมผสานกับสถาปัตยกรรมแบบไทย มีหน้าต่างแบบแป้นเกล็ด ทั้งบานแบะและบานกระทุ้ง มากถึง 250 บาน ช่องหน้าต่าง 469 ช่อง ควบคุมการก่อสร้างโดย พันโท พระมหาณรงค์เรืองเดช ผู้บังคับกองทัพที่ 1 กรมทหารราบที่ 17 ซึ่งใช้งบประมาณในการก่อสร้างจำนวน 16,000 บาท (ในยุคสมัยนั้น) หากคิดเป็นราคาในปัจจุบันนี้คงประมาณค่ามิได้
ภายในบ้านป่องนัก ได้มีการแสดงเรื่องราวความเป็นมาของจังหวัดลำปาง และศิลปวัฒนธรรม ตลอดทั้งอาวุธยุทธภัณฑ์สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และเครื่องใช้สมัยสงครามและของทหารกล้าในอดีตในแต่ละสมรภูมิ อีกทั้งเครื่องใช้ส่วนพระองค์อีกจำนวนหนึ่ง ภายในบ้านยังคงสภาพห้องทรงงาน ห้องเสวย ห้องบรรทม ซึ่งยังคงเก็บรักษาไว้อย่างดี เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาและเกิดความภาคภูมิใจ โดยสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ในวัน และเวลาราชการ โทรศัพท์ 054 – 225941 – 3 ต่อ 72318
กองทัพบก ให้ความสำคัญกับบ้านป่องนักที่เป็นสมบัติล้ำค่าและความเกี่ยวเนื่องกับประวัติศาสตร์ของมณฑลพายัพ จึงได้ขึ้นทะเบียนเป็นพิพิธภัณฑ์ทหาร และมอบหมายให้มณฑลทหารบกที่ 32 ดำเนินการดูแลสมบัติอันล้ำค่านี้ร่วมกับชาวจังหวัดลำปางและชาวไทย ในการบูรณะปรับปรุง ซ่อมแซม ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ให้ “บ้านป่องนัก” มีความงดงามและคงสภาพเดิมไว้ทุกประการ เพื่อเป็นสถานที่ที่รวบรวมข้อมูล และเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์ อันเกี่ยวเนื่องกับความเป็นเอกราชและความเป็นไทย ไว้ให้ลูกหลานสืบไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: