X

ลำปางเชิญชวนประชาชนฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้น

นางนงคราญ คชรักษา รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำปาง กล่าวว่า จังหวัดลำปาง (ตั้งแต่วันที่ 1 – 24 กรกฎาคม 2565) พบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 14,886 ราย อัตราป่วย เท่ากับ 2,057.21 ต่อแสนประชากร และเสียชีวิต 24 ราย อัตราป่วยตาย 0.16 รักษาหาย 14,841 ราย อยู่ระหว่างรักษา 45 ราย ยังไม่พบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนสถานการณ์ทั่วโลก พบแนวโน้มผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ผู้เสียชีวิตคงตัว มีรายงานผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในบางประเทศ เนื่องจากสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ประเทศไทยช่วง 2-8 กรกฎาคม 2565 พบสัดส่วน BA.4 และ BA.5 ร้อยละ 49.3 ของการตรวจหาสายพันธุ์

สถานการณ์ประเทศไทย จำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลรายใหม่ทรงตัว รายงานผู้ป่วยปอดอักเสบกำลังรักษาเพิ่มขึ้นในหลายจังหวัด ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจและผู้เสียชีวิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

มาตรการควบคุมป้องกันโรค

1 ระดับการเตือนภัยจากโรคโควิด 19
ระดับการเตือนภัยโควิด 19 ยังคงไว้ที่ระดับ 2 ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยแนะนำให้ประชาชนสวมหน้ากาก เนื่องจากมีการเพิ่มขึ้นของสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ทั้งนี้ในส่วนของกลุ่มเสี่ยง และผู้ไม่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์รวมทั้งเข็มกระตุ้น ให้หลีกเลี่ยงการเข้าสถานที่แออัด และการร่วมกิจกรรมที่มีคนรวมกลุ่มจำนวนมาก สำหรับสถานศึกษา ขอให้ดำเนินการตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด แนะนำให้ตรวจ ATK เมื่อมีอาการ

2. เน้นให้ประชาชนมารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้น (เข็มที่ 3) โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง (608) ผลงานการฉีดวัคซีน ณ วันที่ 24 กรกฎาคม 2565 มีการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ในทุกกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 261,665 คน (ร้อยละ 38.71) เข็มที่ 3 ในกลุ่มผู้สูงอายุ จำนวน 75,617 คน (ร้อยละ 39.86)

ผลงานการฉีดวัคซีนในเด็กนักเรียนอายุ 5-11 ปี ได้รับวัคซีนเข็ม 1 ทั้งหมด 26,802 คน (ร้อยละ 99.9) ได้รับเข็ม 2 จำนวน 17,851 คน ร้อยละ 65.79 และผลงานการฉีดเด็กนักเรียนอายุ 12-17 ปีได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้ว 9,593 คน (ร้อยละ 23.52)

จึงขอเชิญชวนให้ชาวลำปางโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง (608) มารับวัคซีนเข็มที่ 3 และเข็มที่ 4 ทั้งนี้ ผู้รับบริการสามารถขอรับวัคซีนได้เมื่อครบระยะเวลาห่างจากเข็ม 2 ตามแนวทางที่กำหนด โดยติดต่อขอรับบริการ (Walk in) ได้ที่โรงพยาบาลทุกแห่ง และ กลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่มดังนี้ สามารถฉีดวัคซีนพร้อมกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ เพื่อลดความเสี่ยงทั้ง 2 โรคในช่วงฤดูฝน 1) หญิงตั้งครรภ์ 2) เด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี 3) ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 4) บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป 5) โรคธาลัสซีเมีย ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง 6) โรคอ้วน และ 7) ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้

สำหรับโรคฝีดาษลิง หรือฝีดาษวานร เป็นโรคที่ใกล้เคียงกับอีสุกอีใส และไข้ทรพิษ แต่มีความรุนแรงน้อยกว่า โดยผู้ป่วยจะมีไข้ ร่วมกับตุ่มผื่น ตุ่มหนองทั่วตัว ต่อมน้ำเหลืองโต ปัจจุบันทั่วโลกพบผู้ป่วยยืนยันทั่วโลก 12,608 ราย ใน 75 ประเทศ และพบผู้ป่วยยืนยันในประเทศไทย 1 ราย ที่จังหวัดภูเก็ต เป็นผู้ป่วยเพศชาย ชาวไนจีเรีย อายุ 27 ปี ค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูง และค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติม ส่งตรวจหาเชื้อแล้วทั้งหมด 38 ราย ผลตรวจไม่พบเชื้อฝีดาษวานร 7 ราย และอยู่ระหว่างการตรวจหาเชื้อ 31 ราย

คำแนะนำในการป้องกันโรคฝีดาษวานร สำหรับประชาชน
1.โรคฝีดาษวานร ติดเชื้อจากการสัมผัสโดยตรงกับตุ่มหรือผื่น / สิ่งของที่ใช้ร่วมกับผู้ป่วย ให้เลี่ยงสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยที่มีตุ่มหนอง และงดใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย
2.Universal Prevention : เน้นการล้างมือบ่อย ๆ ด้วยเจลแอลกอฮอล์ เว้นระยะห่าง
3.หากเริ่มมีไข้ เจ็บคอ ต่อมหน้าเหลืองโต มีผื่นแดง ตุ่มน้ำ หรือตุ่มหนอง ขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ ลำตัว แขนขา ใบหน้า และฝ่ามือฝ่าเท้า ร่วมกับมีประวัติเสี่ยง ได้แก่ สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย มีประวัติเดินทางจากต่างประเทศ /ร่วมงานหรือกิจกรรมที่เคยมีรายงานพบผู้ป่วยฝีดาษวานร มีอาชีพที่ต้องสัมผัสใกล้ชิดคลุกคลีกับผู้เดินทางจาก ต่างประเทศ หรือมีประวัติสัมผัสสัตว์ฟันแทะที่มาจากอาฟริกา ให้รีบพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย ทั้งนี้ขอให้ แจ้งประวัติเสี่ยงให้เจ้าหน้าที่ทราบ
4.กรณีพบผู้ป่วยสงสัยฝีดาษวานร โดยเฉพาะชาวต่างชาติ แนะนำให้ผู้ป่วยรีบไปพบแพทย์ ไม่ควร หลบหนี เพื่อลดการแพร่โรคสู่ผู้อื่น

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน