X

สสจ ลำปางวางมาตรการ ลดป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน

 

นายแพทย์ประเสริฐ กิจสุวรรณรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำปาง กล่าวว่า สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) มีแนวโน้มเกินค่ามาตรฐาน ในช่วงเดือนมกราคม จนถึงเดือนเมษายนของทุกปี ปัจจุบันปริมาณค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ของจังหวัดลำปาง มีค่าเกินมาตรฐาน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม – 13 กุมภาพันธ์ 2566 และวันนี้ (13 กุมภาพันธ์ 2566) มีค่าปริมาณ PM 2.5 สูงที่สุดของปี 2566 มีค่า 135 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และมีแนวโน้มสูงเพิ่มขึ้น โดยช่วงสัปดาห์นี้คาดการณ์ว่าอัตราการระบายอากาศมีแนวโน้มลดลง อาจส่งผลให้ปริมาณ ฝุ่น PM 2.5 มีแนวโน้มสูงขึ้น (ข้อมูลจากสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 2 ลำปาง) อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนชาวจังหวัดลำปาง

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปาง ได้เฝ้าระวังผู้ป่วยกลุ่มโรคที่มีผลกระทบ 4 กลุ่มโรค ประกอบด้วย โรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคตา และโรคผิวหนัง พบว่า ตั้งแต่วันที่1 มกราคม – 12 กุมภาพันธ์ ของปี 2565 – 2566 เพิ่มขึ้นจากปี 2565 โดยพบจำนวนผู้ป่วยนอกที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยโรคที่เฝ้าระวัง ปี 2565 จำนวน 3,958 ครั้ง และปี 2566 จำนวน 4,206 ครั้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.27 พบผู้ป่วยมากขึ้นโดยเฉพาะผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.52 และกลุ่มโรคทางตา เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.52 ส่วนกลุ่มโรคผิวหนัง และโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด พบจำนวนลดลง ร้อยละ 11.43 และ 4.38 ตามลำดับ

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปาง มีมาตรการดำเนินงาน 3 มาตรการ และ 10 กิจกรรมการดำเนินงาน เพื่อการลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน PM2.5 ดังนี้

1. มาตรการ: ลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ
1.1. เฝ้าระวังและแจ้งเตือนสถานการณ์ความเสี่ยงต่อสุขภาพ โดยการสื่อสารความรู้/ความตระหนัก เรื่อง PM 2.5 ทั้งระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน โดยเฉพาะ อาสาสมัครสาธารณสุขในพื้นที่ ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น กลุ่มไลน์ เวปไซต์ Facebook เสียงตาสายในหมู่บ้าน
1.2. เฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพและพฤติกรรมสุขภาพใน 4 กลุ่มโรค (กลุ่มโรคทางเดินหายใจ, กลุ่มโรคหัวใจหลอดเลือด, กลุ่มโรคตาอักเสบ, กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ) โดยการเฝ้าระวังการเจ็บป่วย และสอบสวนโรคในกรณีที่พบผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจำนวนมาก

 

2. มาตรการ : จัดบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข
2.1. สนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลแก่กลุ่มเสี่ยง ได้สนับสนุนหน้ากาก N95 ให้หน่วยบริการ ทุกแห่ง 144 แห่ง จำนวน 13,000 ชิ้น เพื่อแจกจ่ายให้กับกลุ่มเปราะบาง และกลุ่มที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะ โรคหืด และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

2.2. โรงพยาบาลทุกแห่งเปิดดำเนินการคลินิกมลพิษ เพื่อให้คำปรึกษาประชาชน และเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์กรณีพบผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนคนคนนี้จนจนตน (PM 2.5)

2.3. เยี่ยมบ้าน โดยทีม 3 หมอ กลุ่มเปราะบาง ประกอบด้วย เด็กเล็ก หญิงมีครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดบ้าน/ติดเตียง ผู้ที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหืด และส่งเสริมให้ใช้ N95 ในการป้องกันฝุ่น PM 2.5 โดยในช่วงตั้งแต่ 1 มกราคม – 12 กุมภาพันธ์ 2566 หน่วยบริการสาธารณสุข ได้เยี่ยมบ้านไปแล้วทั้งสิ้น 40,989 คน

2.4. ตรวจสุขภาพผู้ปฏิบัติงานดับไฟป่า ก่อนเข้าปฏิบัติงานดับไฟป่า ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2566 เบื้องต้นตรวจสุขภาพผู้ปฏิบัติงานดับไฟป่าไปแล้วจำนวน 462 คน ผลตรวจปกติ 121 ราย คิดเป็นร้อยละ 26.19 ผิดปกติ 431 ราย คิดเป็นร้อยละ 73.81 พบอาการผิดปกติ 3 ลำดับแรก ได้แก่ ระดับไขมันในเลือดสูง ดัชนีมวลกาย ระดับน้ำตาลในเลือด คิดเป็นร้อยละ 58.44 38.96 และ 33.77 ตามลำดับ และได้ให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวเพื่อความปลอดภัยจากการปฏิบัติงาน

2.5. ส่งเสริมให้มีการจัดห้องปลอดฝุ่น (Clean Room) ในสถานที่ต่างๆ ในเดือน มกราคม 2566 มีการรณรงค์ดำเนินการใน สถานที่ทำงาน ศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียน และอื่นๆ รวม 387 ห้อง

 

3. มาตรการ : เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ
3.1. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปางเปิดประชุมศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อลดและป้องกันฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนวันที่ 26 มกราคม 2566 ณ ห้องประชุมสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปาง ได้มีข้อสั่งการให้หน่วยบริการสาธารณสุขทุกแห่ง เตรียมการเฝ้าระวัง ดูแลและ ป้องกันผลกระทบ ต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่จากสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก
3.2. ส่งเสริมและขับเคลื่อนการบังคับใช้กฎหมาย พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และพระราชบัญญัติโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562
3.3. ส่งเสริมองค์กรสาธารณสุขต้นแบบลดมลพิษ เช่น กิจกรรมตรวจควันดำรถยนต์ราชการ Big Cleaning ล้างแอร์ ปลูกต้นไม้ Car Pool เพิ่มพื้นที่สีเขียว เป็นต้น

 

ข้อแนะนำสำหรับประชาชน
1. ประชาชนติดตามสถานการณ์ปริมาณฝุ่น PM 2.5 ในแต่ละวันจาก กรมควบคุมมลพิษ เว็บไซต์ Air 4 thai และจากการประชาสัมพันธ์ของจังหวัดลำปาง
2. กรณีมีค่าฝุ่น PM 2.5 สูงเกินค่ามาตรฐาน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
กลุ่มประชาชนทั่วไป
– ให้ใช้สวมหน้ากากอนามัย ป้องกันฝุ่นละออง แนะนำให้ใช้หน้ากาก N95 ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้ดีกว่าหน้ากากอนามัยธรรมดา
– หลีกเลี่ยง หรือ งดกิจกรรมการออกกำลังกายกลางแจ้ง
– หากมีมีอาการผิดปกติควรปรึกษาแพทย์
กลุ่มเปราะบาง ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว
– แนะนำให้ใช้หน้ากาก N95 ในการป้องกันตัวเอง ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันฝุ่น
PM 2.5 ได้ดีกว่าหน้ากากอนามัยธรรมดา
– งดกิจกรรมการออกกำลังกายกลางแจ้ง
– สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรเตรียมยาและเวชภัณฑ์ให้พร้อม และรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง
– หากมีอาการผิดปกติควรปรึกษาแพทย์

ขอความร่วมมือจัดเตรียมห้องปลอดฝุ่น ในสถานที่ต่างๆ เช่น สถานที่ทำงาน/ภาครัฐ เอกชน สถานศึกษา ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงงาน สถานประกอบการ ห้างร้าน ร้านอาหาร/ร้านกาแฟ

การจัดเตรียมห้องปลอดฝุ่น (Clean Room) มีองค์ประกอบ
1) เป็นห้องที่มีการปิดประตูหน้าต่าง และซีลขอบประตูหน้าต่างให้มิดชิด
2) มีระบบปรับอากาศภายในห้อง (Air Conditioner)
3) มีเครื่องฟอกอากาศ ที่ใช้ใส้กรองเฮปป้า (HEPA filter)
สำหรับครัวเรือน ขอความร่วมมือให้มีการทำความสะอาดบ้านเรือนให้สะอาดเป็นระเบียบ งดกิจกรรมการเผาสร้างมลพิษ ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด กรณีมีค่าฝุ่น PM 2.5 สูงเกินค่ามาตฐาน และส่งเสริมให้จัดห้องปลอดฝุ่นในครัวเรือน

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน