ลำปาง – กฟผ. ไม่หยุดรักษ์โลก เปิดตัวรถมินิบัสไฟฟ้า 28 คัน ใช้งานแทนรถบัสดีเซลที่ อ.แม่เมาะ ลดปัญหามลภาวะและการจราจร สร้างลำปางเป็น ‘เมืองเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ’ หนุนขับเคลื่อนประเทศ ตามนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)
วันที่ 10 สิงหาคม 2566 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดตัวรถมินิบัสไฟฟ้า ‘ชาร์จไฟใส่ EV ชาร์จอากาศดี ๆ ให้โลกเรา’ โดยมี นายศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นประธาน พร้อมด้วย นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. คณะผู้บริหาร กฟผ. หัวหน้าส่วนราชการจังหวัดลำปางและอำเภอแม่เมาะ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผู้นำชุมชนในอำเภอแม่เมาะ ร่วมงาน ณ กฟผ. แม่เมาะ จังหวัดลำปาง
นายศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เปิเผยว่า จังหวัดลำปาง ร่วมมือกับ กฟผ. แม่เมาะ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ชุมชนแม่เมาะ พัฒนาอำเภอแม่เมาะ ให้เป็นเมืองน่าอยู่ (Mae Moh Smart City) โดยขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่แม่เมาะ เพื่อมุ่งสู่เมืองเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำของจังหวัดลำปาง สอดรับกับนโยบาย Carbon Neutrality ซึ่งประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะบรรลุ Net Zero ให้ได้ในปี ค.ศ.2050 ซึ่งงานเปิดตัวรถมินิบัสไฟฟ้าในวันนี้ แสดงให้เห็นถึงอีกหนึ่งการดําเนินงานของ กฟผ. ที่ช่วยส่งเสริมนโยบายดังกล่าวให้ลุล่วง ด้วยการเปลี่ยนจากการใช้รถสันดาปเป็นรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อน ช่วยลดการปล่อยก๊าคาร์บอนไดออกไซด์ และเกิดความคล่องตัวในการจราจรบนท้องถนนอีกด้วย
ด้านนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. ระบุว่า กฟผ. มีนโยบายสนับสนุนการนำรถมินิบัสไฟฟ้ามาใช้ในพื้นที่ของ กฟผ. เริ่มที่ กฟผ. สำนักงานใหญ่ ศูนย์การเรียนรู้ และที่ กฟผ. แม่เมาะ แห่งนี้ มีจำนวนมากที่สุดถึง 28 คัน ดำเนินการโดย บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ กฟผ. ช่วยส่งเสริมนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศ และสนับสนุนแนวทางการพัฒนาพื้นที่ อ.แม่เมาะ และ จ.ลำปาง สู่การเป็นเมืองเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ให้ อ.แม่เมาะ และ จ.ลำปาง เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน ด้วยการใช้รถบัสไฟฟ้าแทนรถบัสดีเซลแบบเดิม ซึ่งจะช่วยลดปัญหามลภาวะและฝุ่นละอองขนาดเล็ก ที่เกิดจากไอเสียของยานยนต์ อีกทั้งช่วยเพิ่มความคล่องตัวบนท้องถนน ด้วยรถที่ขนาดเล็กลง
สำหรับค่าเชื้อเพลิง เมื่อเทียบกับการใช้น้ำมันแล้ว รถมินิบัสไฟฟ้าจะใช้พลังงานเฉลี่ย 0.6 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อ 1 กิโลเมตร หรือคิดเป็นค่าไฟประมาณ 2.90 บาทต่อกิโลเมตร ขณะที่รถน้ำมันจะมีค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงประมาณ 8 บาทต่อกิโลเมตร
ที่ผ่านมา กฟผ. ยังรณรงค์ใช้รถไฟฟ้าในองค์กร เช่น ปรับรถประจำตำแหน่งผู้บริหารเป็นรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด และในอนาคต จะมีการปรับเปลี่ยนรถสำหรับใช้ในหน่วยงานต่าง ๆ เป็นรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
ผู้ว่า กฟผ. กล่าวด้วยว่า กฟผ. มุ่งมั่นสนับสนุนและขับเคลื่อน โครงสร้างพื้นฐานรองรับการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV Ecosystem) ในระดับประเทศ ผ่านการดำเนินงาน และการร่วมเป็นพันธมิตร กับองค์กรเครือข่ายต่าง ๆ อาทิ การติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า EleX by EGAT ทั่วประเทศ ภายในสิ้นปี 2566 ตั้งเป้าหมายขยายสถานี และสถานีพันธมิตรในเครือข่าย จำนวนรวม 180 สถานี การพัฒนาแอปพลิเคชัน EleXa สำหรับผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และพัฒนาระบบบริหารจัดการสถานีอัดประจุไฟฟ้า BackEN EV สำหรับองค์กรและภาคธุรกิจ
ตลอดจนร่วมขับเคลื่อนและรณรงค์การใช้งานในแคมเปญระดับประเทศ เพื่อให้ประเทศพร้อมสูงสุดในการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า สร้างระบบการเดินทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปูทางสู่เป้าหมายร่วมตามนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในอนาคตอันใกล้
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: