ปลูก “ลูกพลับ”เปลี่ยนผันชีวิตหนุ่มม้งอำเภอเมืองปานลำปาง
นายดวงแก้ว สิริกุลพิพัฒน์วัย 24 ปี หนุ่มชาวเขาชนเผ่าม้ง เกษตรกรรุ่นใหม่ บ้านห้วยเหมี้ยง สาขาบ้านใหม่พัฒนา ตำบลแจ้ซ้อน อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง ผู้ซึ่งผันเปลี่ยนชีวิตตัวเองนำหลักแนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่มาปรับใช้ พลิกฟื้นผืนดินท่ามกลางหุบเขาที่ถูกห้อมล้อมไปด้วยแมกไม้นานาพันธุ์อันอุดมสมบูรณ์ ที่มีอยู่กว่า 20 ไร่ ทดลองปลูกพืชเศรษฐกิจทางเลือกไม้ผลเมืองหนาว “ลูกพลับ” ทดแทนการทำไร่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว จนประสบความสำเร็จกลายเป็นอาชีพที่มั่นคง สามารถสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับตนเองและครอบครัว
นายดวงแก้วฯ เล่าถึงสภาพพื้นที่ในอดีตว่า ผืนที่ดินทำกินที่ได้ปลูกต้นพลับแห่งนี้และกว่าจะมาเป็นสวนผลไม้ “ลูกพลับ” ที่ผลิดอกออกผลชวนน่ารับประทาน ตนได้รับเป็นมรดกตกทอดต่อมาจากพ่อและแม่ ซึ่งแต่เดิมเป็นพื้นที่ที่ถูกปล่อยให้รกร้างว่างเปล่า ไม่มีต้นไม้ขึ้นแม้เพียงสักต้นเดียวภูเขาทั้งลูกเป็นเขาหัวโล้นที่ไร้ค่า ไม่สามารถปลูกพืชผลอันใดให้เจริญงอกงามได้ เหตุด้วยเพราะความล้มเหลวจากการทำการเกษตรปลูกพืชเชิงเดี่ยวทำไร่เลื่อนลอย ส่งผลให้ครอบครัวของตน ตลอดจนคนในชุมชนบ้านห้วยเหมี้ยง สาขาบ้านใหม่พัฒนา ต้องทิ้งผืนดินที่ทำกินและโยกย้ายถิ่นฐานหาแหล่งที่อยู่อาศัยใหม่ ภายหลังพื้นที่แห่งนี้ได้ถูกฟื้นฟูโดยธรรมชาติกลับมามีความอุดมสมบูรณ์ ตนและชาวบ้านบางส่วนจึงได้หวนกลับคืนมาใช้ผืนที่ดินแปลงเดิมประกอบอาชีพทำการเกษตรอีกครั้ง โดยครั้งนี้ได้เปลี่ยนแนวคิดมาทำการเกษตรเพาะปลูกพืช รวมอยู่ในพื้นที่ป่าอาศัยความอุดมสมบูรณ์ของป่าช่วยดูแลพืชผลที่ปลูก โดยจะไม่มีการตัดต้นไม้ที่ขึ้นตามธรรมชาติ หรือรุกพื้นที่ป่าเพิ่มโดยเด็ดขาด ซึ่งระยะแรกเริ่มได้ทำการปลูกกาแฟเป็นพืชหลัก ภายหลังจึงได้ทดลองนำต้นพลับมาปลูกเพิ่ม และก็ได้ประสบความสำเร็จต้นพลับที่ปลูกสามารถผลิดอกออกผลสร้างรายได้หมุนเวียนให้กับครอบครัวของตนได้อย่างเพียงพอ
จากความสำเร็จที่เกิดขึ้น นายดวงแก้วฯ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ส่วนหนึ่งได้แนวคิดมาจากญาติพี่น้องที่มีโอกาสได้ไปทำงานอยู่ภายในศูนย์โครงการหลวงที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยญาติคนดังกล่าวได้นำต้นกล้าพันธุ์ “ลูกพลับ” มาทดลองปลูกในพื้นที่ชุมชนบ้านใหม่พัฒนา ซึ่งต้นพลับก็สามารถให้ผลผลิตได้ แถมลูกพลับยังมีรสชาติดี หวาน กรอบ อร่อย ตนมองเห็นว่า “พลับ” น่าจะเป็นพืชทางเลือกตัวใหม่สามารถที่จะนำมาสร้างอาชีพได้ จึงเกิดความคิดในการที่จะขยายต้นพันธุ์เพื่อจะได้นำมาปลูกเก็บผลผลิตจำหน่าย โดยในส่วนนี้ตนได้นำเอาความรู้ตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่มาปรับใช้ ด้วยการนำต้นพลับป่า ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ประจำถิ่นดั้งเดิมมาปลูกในผืนที่ดินของตนก่อน และรอให้ต้นพลับป่าเจริญเติบโตสมบูรณ์เต็มที่ แล้วจึงนำกิ่งพันธุ์จากญาติซึ่งได้มาจากโครงการหลวงที่จังหวัดเชียงใหม่ มาขยายพันธุ์ทำการติดตาต่อยอด แล้วจึงปล่อยให้กิ่งพันธุ์ “ต้นพลับ” เติบโตเองตามธรรมชาติ ประมาณ 4 ปี ก็จะผลิดอกออกผลสามารถเก็บเกี่ยวนำผลผลิตไปจำหน่ายได้
โดยนายดวงแก้วฯ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันภายในพื้นที่แปลงทำกิน กว่า 20 ไร่ ของตนได้มีการปลูกต้นพลับรวมทั้งหมดประมาณ 100 ต้น แต่ละปีจะมีผลผลิตลูกพลับให้เก็บเกี่ยวรวมแล้วกว่า 10,000 กิโลกรัม มีรายได้จากการขายส่ง ปีละไม่น้อยกว่า 150,000 บาท ซึ่งรายได้เกือบจะทั้งหมดถือเป็นกำไรแทบทั้งสิ้น ทั้งนี้เนื่องจากต้นพลับเป็นพืชที่ปลูกง่าย สามารถเติบโตเองได้ตามธรรมชาติไม่มีแมลงรบกวน ไม่ต้องใส่ปุ๋ย หรือใช้สารเคมีใดๆ รวมถึงไม่ต้องรดน้ำเพราะอาศัยเพียงน้ำฝนตามธรรมชาติก็เพียงพอแล้ว และเมื่อถึงเวลา “ต้นพลับ” ก็จะแตกใบผลิดอกให้ผลผลิตเอง โดยทั้งหมดนับได้ว่าเป็นความโชคดีของพื้นที่ที่มีสภาพอากาศที่เหมาะสม ไม่ร้อนและไม่เย็นจนเกินไป จึงทำให้ต้นพลับเจริญเติบโตได้ดี และยังให้ผลดกลูกโต พร้อมยืนยันว่าลูกพลับจากชุมชนบ้านห้วยเหมี้ยง สาขาบ้านใหม่พัฒนา แห่งนี้ถือได้ว่าเป็นลูกพลับที่มีคุณภาพและรสชาติอร่อย เพราะว่าเกษตรกรได้ทำการเก็บเกี่ยวทุกขั้นตอนอย่างพิถีพิถัน อย่างไรก็ตามผลผลิตที่ได้ส่วนใหญ่จะมีพ่อค้ามารับซื้อถึงสวน รวมไปถึงได้นำส่งให้กับโครงการหลวง ซึ่งสำหรับประชาชนผู้บริโภคที่สนใจอยากจะหา “ลูกพลับ” ไปรับประทาน สามารถหาซื้อได้ตามตลาดสดทั่วไป และที่ตลาดถนนคนเดิน “กาดกองต้า” ในตัวเมืองลำปาง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: