เกษตรผสมผสานแบบขั้นบันไดแนวทางพัฒนาอาชีพให้ชาวเขาลำปาง
เมื่อวันที่ 30 ก.ย.2561 นายทรงพล สวาสดิ์ธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง พร้อมทีมเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินทางลงพื้นที่อำเภองาว จ.ลำปาง โดยออกเยี่ยมเยือนชุมชนพบปะกับพี่น้องเกษตรกรและประชาชนชาวบ้านกลุ่มชาวไทยภูเขา บ้านแม่ฮ่าง หมู่ที่ 4 ตำบลนาแก อำเภองาว จังหวัดลำปาง เพื่อปฏิบัติการเดินหน้าสานต่องานเชิงรุก “สร้างสรรค์ปันสุข ให้แก่ประชาชนชาวลำปาง” ทั้งนี้เพื่อต้องการจะรับฟังปัญหาความเดือดร้อนและรับทราบถึงความต้องการที่แท้จริงของประชาชนชาวบ้านในชุมชนท้องที่ และจะได้นำข้อมูลไปใช้สำหรับเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนงานการพัฒนาพื้นที่จังหวัด ให้เป็นไปได้อย่างเหมาะสมสอดคล้องสนับสนุนการดำเนินงานในด้านต่างๆ ตามนโยบายสำคัญของรัฐ เพื่อการพัฒนาคุณชีวิตให้เกิดความยั่งยืนแก่พี่น้องประชาชนชาวบ้านที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูงชัน ตามถิ่นทุรกันดารต่อไป
ข่าวน่าสนใจ:
- ตรัง ผลผ่าพิสูจน์การตายพะยูน 2 ตัว ผอม หญ้าในท้องน้อย ป่วยตาย
- ลำพูน บุกจับบุหรี่ไฟฟ้าล็อตใหญ่ ทำเนียนปลอมเป็นไรเดอร์ แต่วิ่งส่งบุหรี่ไฟฟ้า
- บุรีรัมย์ ต๋อง ศิษย์ฉ่อย ชี้ควรเพิ่มหลีกแข่งขันในไทยเชื่อเศรษฐกิจพุ่งแน่นอน (มีคลิป)
- นครพนม ทหารพรานสนธิกำลังยึดยาบ้าเกือบ 2 แสนเม็ด! ตรวจพบฝิ่นดิบกว่า 3 กิโลกรัม ริมแม่น้ำโขง
การลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมชุมชนบ้านแม่ฮ่าง พบว่าส่วนใหญ่เป็นพี่น้องชนเผ่าปกากะญอ และอาข่า มีความต้องการที่จะได้รับการสนับสนุนในเรื่องของการพัฒนาอาชีพจากหน่วยงานภาครัฐ ด้านการปลูกพืชเศรษฐกิจทางเลือกที่มีตลาดรองรับ เพื่อการสร้างรายได้ทดแทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่มีอยู่ในพื้นที่ชุมชนมากกว่าร้อยละ 80 โดยผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ได้เสนอให้ทางชุมชนได้ปรับเปลี่ยนมาทำการเกษตรปลูกพืชเศรษฐกิจแบบผสมผสาน โดยทางจังหวัดจะช่วยสนับสนุนจัดหากล้าพันธุ์พืชให้ ซึ่งทางกลุ่มชาวบ้านสนใจต้องการที่จะปลูกพืชเศรษฐกิจควบคู่กัน 3 ชนิด ได้แก่ อะโวคาโด, เงาะโรงเรียน และไผ่ซางหม่น ทั้งนี้เนื่องจากพื้นที่ชุมชนบ้านแม่ฮ่างมีสภาพอากาศที่พอเหมาะ สามารถปลูกพืชทั้ง 3 ชนิดได้ดี โดยที่ผ่านมามีชาวบ้านบางรายได้ริเริ่มนำพืชดังกล่าวมาทดลองปลูกในพื้นที่สวนเกษตรแบบผสมผสาน ด้วยการจัดทำเป็นสวนเกษตรในลักษณะขั้นบันได ซึ่งปรากฏว่าได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจ
จากนั้นนายอรุณ เยละ ผู้ใหญ่บ้านบ้านแม่ฮ่าง ได้นำผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง พร้อมทีมคณะเจ้าหน้าที่ฯ เข้าเยี่ยมชมสวนเกษตรผสมผสานแบบขั้นบันได ของนายสมุทร ศิราไพบูรณ์พร เกษตรกรต้นแบบชนเผ่าปกากะญอ ของชุมชนบ้านแม่ฮ่าง พบว่า บนผืนที่ดินแปลงปลูกกว้างกว่า 20 ไร่ มีการขุดร่องเป็นคลองไส้ไก่ยาวไปตลอดแนวเขตพื้นที่แปลงปลูก ลดหลั่นกันเป็นชั้นๆ ในลักษณะแบบขั้นบันได รวมถึงได้มีการขุดหลุมทำเป็นหนองน้ำหลายขนาดอยู่ในระหว่างกลางร่องเป็นแห่งๆ อยู่ทั่วบริเวณพื้นที่ ส่วนบนเนินของแปลงที่ดินได้ทำการปลูกพืชหลากหลายชนิด ทั้งพืชไม้เศรษฐกิจขนาดใหญ่ ไม้ผลยืนต้น และพืชล้มลุก เช่น พะยูง สัก มะม่วง ขนุน ฝรั่ง อะโวคาโด เงาะ หว้า กระท้อน และกล้วย เป็นต้น ซึ่งนายสมุทรฯ เกษตรกรเจ้าของพื้นที่แปลงปลูกกล่าวว่า การทำสวนเกษตรผสมผสานแบบขั้นบันไดดังกล่าว เป็นเทคนิควิธีเดียวกันกับโคกหนองนาโมเดล หลังจากมีโอกาสเข้าไปร่วมฝึกอบรมพัฒนาความรู้ เรื่องแนวทางการทำการเกษตรแบบผสมผสานตามแนวทางศาสตร์พระราชา ภายใต้โครงการ “กสิกรรม ธรรมชาติ” จึงได้นำความรู้มาปรับใช้ในผืนที่ดินทำกินของตน และพบว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ด้วยระยะเวลาเพียง 4 ปี จากผืนดินที่แห้งแล้งใช้สำหรับทำไร่ข้าวโพดเพียงปีละ 1 ครั้ง ได้กลับกลายเป็นพื้นที่สวนเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ ให้ผลผลิตเก็บเกี่ยวสามารถสร้างรายได้ให้ตลอดทั้งปี โดยปัจจุบันมีพืชที่ให้ผลผลิตแล้วเช่น กล้วย ฝรั่ง กระท้อน และที่กำลังจะเริ่มให้ผลตามมาคือ เงาะ และ อะโวคาโด
ด้านนายอรุณ เยละ ผู้ใหญ่บ้านบ้านแม่ฮ่าง กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันชุมชนบ้านแม่ฮ่าง มีปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวของชาวบ้านในพื้นที่ โดยได้ก่อให้เกิดปัญหาในเรื่องสิ่งแวดล้อม ทั้งเรื่องของสารเคมียาฆ่าแมลง การบุกรุกพื้นที่ป่า และยังได้ส่งผลกระทบไปถึงปัญหาเรื่องดินโคลนถล่ม ซึ่งในส่วนนี้ตนมีแนวคิดที่จะนำวิธีการทำสวนเกษตรผสมผสานแบบขั้นบันไดมาช่วยแก้ปัญหา สนับสนุนให้ชาวบ้านในเขตท้องที่ได้ทำสวนเกษตรผสมผสานฯ ทดแทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยวครอบคลุมทุกครัวเรือน และจะนำเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยว วิถีชีวิต อัตลักษณ์ชุมชน เพื่อจะผลักดันให้ชุมชนบ้านแม่ฮ่างได้เป็นชุมชนหมู่บ้านท่องเที่ยวแบบนวัตวิถีต่อไปในอนาคต โดยนายอรุณฯ ผู้ใหญ่บ้านบ้านแม่ฮ่าง ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการที่ชุมชนได้มีสวนเกษตรผสมผสานแบบขั้นบันไดตัวอย่าง ได้ทำให้เกษตรกรชาวบ้านหลายครัวเรือนได้หันมาให้ความสนใจ โดยมีเกษตรกรมากกว่า 10 ครัวเรือน ได้เริ่มรวมกลุ่มทำการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำกิน จากไร่ข้าวโพดมาทำสวนเกษตรผสมผสานฯ และยังมีอีกหลายครัวเรือนที่สนใจจะเริ่มทำตาม ซึ่งในส่วนนี้ทางชุมชนบ้านแม่ฮ่าง ได้มีการจัดทำกฎระเบียบชุมชนขึ้น เพื่อเป็นข้อตกลงร่วมกันว่าหากครัวเรือนใดได้มีการเข้าร่วมกับกลุ่มผันเปลี่ยนอาชีพมาทำสวนเกษตรผสมผสานฯ ก็จะได้รับการสนับสนุนในเรื่องต่างๆ มากมาย ทั้งการสนับสนุนจากชุมชน หน่วยงานภาครัฐ และจากทางจังหวัด โดยมีข้อแม้ว่าต้องไม่มีการรุกพื้นที่ป่าเพิ่ม
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: