X

บางกลอย…คุณภาพชีวิตของคนอยู่ป่า

บ้านโป่งลึก-บางกลอย

นับเป็นเวลากว่า 20 ปี ที่ชาวบ้านบางกลอย (บน) ได้เคลื่อนย้ายที่อยู่อาศัยจากบริเวณใจแผ่นดิน ใกล้แนวชายแดนไทย-เมียนมา ลงมาอยู่อาศัยที่บริเวณบ้านโป่งลึก-บางกลอย (ล่าง) ที่อยู่ในบริเวณใกล้กับบ้านโป่งลึก และมีกลุ่มชาวกะเหรี่ยงอาศัยอยู่มาก่อนแล้ว โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้พัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเพื่อให้เหมาะสมต่อการดำรงชีพตามสมควร สำหรับชาวบ้านทุกวัย หลายหน่วยงานได้บูรณาการเข้าช่วยเหลือชาวบ้านโป่งลึก-บางกลอย อย่างต่อเนื่อง อาทิ การจัดสรรที่ดินทำกิน การจัดทำแปลงสาธิต การปรับปรุงดิน การจัดหาแหล่งน้ำและระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ สนับสนุนด้านสาธารณูปโภค ด้านสุขอนามัย การส่งเสริมการศึกษานอกระบบ การจ้างงาน รวมถึงโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตอีกหลายโครงการ ได้เข้าไปพัฒนาและปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้านบางกลอย เพื่อให้ชาวบ้านบางกลอยมีคุณภาพชีวิต มีสุขอนามัย มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

สะพานข้ามแม่น้ำเพชรระหว่างบ้านบางกลอยและบ้านโป่งลึก

โดยที่ผ่านมาคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน และคุณภาพชีวิตของชาวกระเหรี่ยง ในพื้นที่บางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ได้มีการประชุมติดตาม พิจารณาข้อมูลพื้นที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน ของราษฎรบ้านบางกลอย จำนวน 95 ราย 154 แปลง เนื้อที่ประมาณ 853 ไร่ 1 งาน 60 ตารางวา โดยแบ่งเป็นผู้ครอบครองเดิมเมื่อปี 2539 จำนวน 51 ราย 104 แปลง เนื้อที่ประมาณ 520 ไร่ 3 งาน 25 ตารางวา แบ่งเป็นที่ดินอยู่บ้านโป่งลึก 14 ราย 15 แปลง และบ้านบางกลอย 49 ราย 89 แปลง ส่วนผู้ครอบครองใหม่ (ครอบครัวขยาย) จำนวน 44 ราย 50 แปลง เนื้อที่ประมาณ 332 ไร่ 2 งาน 35 ตารางวา ซึ่งพื้นที่ดังกล่าว ได้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของชาวบ้านบางกลอย โดยได้จัดทำแผนงานต่อยอดการพัฒนาหมู่บ้านบางกลอย แบ่งเป็น 9 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านการสำรวจที่ดินทำกิน ตรวจสอบแปลงที่ดิน และจ้างแรงงานเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ 2. ด้านงานบริหารจัดการน้ำ พัฒนาน้ำบาดาลพร้อมก่อสร้างระบบประปา และระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำบาดาล 3. ด้านงานพัฒนาปรับปรุงดิน 4. ด้านงานจัดทำแปลงสาธิตการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างยั่งยืน 5. ด้านงานพัฒนาอาชีพทางเลือกและการสร้างรายได้ จัดทำโครงการหมู่บ้านพิทักษ์ป่ารักษาสิ่งแวดล้อม โครงการจัดทำแปลงสาธิตการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างยั่งยืน 6. ด้านงานพัฒนาการท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรม พัฒนาพื้นที่กางเต็นท์ กิจกรรมล่องแพและปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวก บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ กจ.10 (ห้วยแม่สะเรียง) รวมทั้งศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรมของชุมชนชาวบางกลอยล่าง 7. ด้านงานมวลชนสัมพันธ์และประชาสัมพันธ์ 8. ด้านงานสำมะโนประชากร และ 9. ด้านงานพัฒนาคุณภาพชีวิต ส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย กระทรวงศึกษาธิการ โดย ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวง “บ้านโป่งลึก” ทั้งนี้ เพื่อให้ครอบคลุมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ท้ากินของชาวบ้านบางกลอยในทุกด้าน และเกิดประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของชาวบ้านอย่างมั่นคงและยั่งยืน

แผงโซลาเซลล์ขนาดใหญ่ในบ้านบางกลอย
กิจกรรมท่องเที่ยวในหมู่บ้านรอเพียงโควิดจาง ก็ไปเที่ยวกันได้

สำหรับการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรมของชุมชนชาวบางกลอยล่าง อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้ร่วมกับ สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินโครงการพัฒนาหมู่บ้านวัฒนธรรมชาวปกาเกอะญอ โป่งลึก-บางกลอย เพื่อรองรับกิจกรรมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมบนพื้นฐานของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อขับเคลื่อนพื้นที่แก่งกระจานสู่การเป็นมรดกโลก ผ่าน 5 กิจกรรมหลัก อาทิ การนำองค์ความรู้เชิงสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมปรับปรุงที่พักอาศัยรูปแบบดั้งเดิมของชาวปกาเกอะญอ เพื่อรองรับกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้ชาวปกาเกอะญอ การพัฒนาระบบน้ำสำหรับการเกษตร กสิกรรมผสมผสาน แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง การนำเที่ยวทางวัฒนธรรมภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน การรักษาและถ่ายทอดภูมิปัญญาชาวปกาเกอะญอ เพื่อการพัฒนาต่อยอดทางเศรษฐกิจในระดับชุมชนและการส่งเสริมสุขภาวะชาวปกาเกอะญอตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งโครงการดังกล่าว จะนำไปสู่การลดการพึ่งพิงทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่าและทรัพยากรทางธรรมชาติภายในพื้นที่อุทยานฯ และการลดความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างการปฏิบัติงานเพื่อพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของเจ้าหน้าที่รัฐและชุมชนได้ และผลลัพธ์จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมากในการสนับสนุนการดำเนินงานของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการเตรียมการเพื่อขอรับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVD-19) ปัจจุบัน กรมอุทยานแห่งชาติฯ โดยอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้ดำเนินตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 อย่างเคร่งครัด มีการตรวจคัดกรองบุคคลภายนอกที่จะเข้าสู่พื้นที่อุทยานหรือผ่านขึ้นไปหมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอย สำหรับการเดินทางเข้าออกของชาวบ้าน ได้ประสานงานกับผู้ใหญ่บ้านอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ คณะเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ร่วมกับ อสม. บ้านบางกลอย ยังได้น้าเสบียงอาหารแห้ง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงจังหวัดเพชรบุรีและศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดเพชรบุรี ตลอดจนหน่วยงานต่างๆ ไปมอบให้กับราษฎรผู้มีประวัติสัมผัสผู้ป่วย ที่ทำการกักตัวอยู่ที่บ้านบางกลอย โดยมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ขึ้นไปตรวจอาการ รวมทั้งเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ร่วมติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือในทันที กรณีมีเหตุฉุกเฉิน

จุดชมวิวแม่น้ำเพชรบ้านโป่งลึก-บางกลอย


รอเพียงโควิดจาง แล้วเราเข้าไปเที่ยวบ้านโป่งลึก-บางกลอย กางเต็นท์ เล่นน้ำในแม่น้ำเพชร จิบกาแฟบ้านโป่งลึก กินข้าวป่าบ้านบางกลอย สร้างเศรษฐกิจให้ชุมชน คนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้ ด้วยเราช่วยกัน.
(รอการประกาศให้ท่องเที่ยวเมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลาย สอบถามกฎระเบียบการพักแรมบ้านโป่งลึก-บางกลอย ได้ที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน )
……………………………..

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน