จากกรณีที่มีผู้ใช้รถยนต์บนถนน หมายเลข ๓๕๙ (เขาหินซ้อน-สระแก้ว) ชนเข้ากับช้างป่าจนได้รับบาดเจ็บและรถยนต์เกิดความเสียหาย เมื่อวันที่ 23 ส.ค.64 ที่ผ่านมา จากการรายงานข่าวคาดว่าน่าจะเป็นโขลงช้างจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ซึ่งเคยออกไปนอกพื้นที่จนเกิดอุบัติเหตุแบบเดียวกัน บนถนนสายต่างๆ ในบริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่ป่ารอยต่อ ๕ จังหวัด หลายครั้งมาก่อนหน้านี้
ช้างที่อ่างฤาไน เป็นช้างที่อยู่ในป่าพื้นราบ การออกไปหากินนอกพื้นที่จึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ตามสัญชาตญาณสัตว์ บางทีอาจไม่ใช้ด้วยเหตุผลแหล่งอาหารอย่างเดียว เหมือนกรณีช้างในมณฑลยูนาน ในประเทศจีน ที่มีข่าวว่าช้างเดินเที่ยวเล่นเป็นระยะทางนับพันกิโลเมตรออกจากพื้นที่สงวนเป็นเวลาหลายเดือนแล้วจึงย้อนกลับมาที่เดิม ช้างที่อ่างฤาไนก็มีพฤติกรรมไม่ต่าง
ผิดกับช้างบนเขาใหญ่ ที่นักท่องเที่ยวมักคุ้นชินกับภาพของพลายเดี่ยว พลายดื้อ พลายงาทอง ที่มักออกมาเดินบนถนน หรือเดินเที่ยวเล่นแถวศูนย์บริการนักท่องเที่ยว บางครั้งก็ลงเล่นน้ำในลำห้วยลำตะคองหน้าลานกางเต็นท์ลำตะคองต่อหน้านักท่องเที่ยวนับร้อยๆ คนก็มี แต่ช้างบนเขาใหญ่เหล่านี้จะไม่ออกไปนอกเขตป่า
แต่ช้างที่มักไม่ขึ้นไปบนเขาใหญ่ แต่จะหากินตามชายป่าใกล้ชุมชน เช่น พลายสาริกา ที่หากินในเขตป่าของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ทางด้านตำบลสาริกา และมักออกมาเดินในชุมชน ข้ามถนน หรือเข้าไปในชุมชน จนเป็นที่คุ้นชินตากันของผู้คนในย่านนั้น หรือพลายแคระ ที่มักออกมาหากินตามหลังรีสอร์ตติดเขาใหญ่ฝั่งทางด้านถนนธนะรัชต์ ให้นักท่องเที่ยวหรือผู้มาพักได้เห็นอยู่บ่อยครั้ง
ข่าวน่าสนใจ:
แต่อะไรก็ไม่ฮือฮาเท่ากับภาพที่ช้างบุญช่วยแห่งบ้านห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน ที่โผล่หัวเข้าไปในบ้าน โดยที่เจ้าของบ้านยืนถ่ายคลิป หรือภาพลายบุญช่วยมารื้ออาหารแมวที่ห้อยไว้ข้างบ้านกิน เมื่อเผยแพร่ออกสู่สาธารณะ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์ขึ้นมาสองแนวทาง หนึ่งคือ เป็นภาพที่น่ารัก ช้างก็ไม่ได้เข้ามามากกว่านั้นโดยที่เจ้าของบ้านที่ยืนถ่ายคลิปก็ไม่มีท่าทีหวาดกลัว กับอีกกระแสความรู้สึกหนึ่งคือ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ที่คนจะมามองโลกสวยว่าเป็นเรื่องที่น่ารักไม่ได้ ถ้าถึงขนาดช้างพังบ้านคน ถือเป็นเรื่องที่ร้ายแรงแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกรมอุทยานฯ ทำไมไม่แก้ไขปัญหา จะปล่อยให้ชาวบ้านเผชิญกับชะตากรรมแบบนี้ต่อไปไม่ได้
แล้วอะไรคือสิ่งที่เกิดขึ้น
ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่…ชุมชนในป่า
เมื่อปี 2537 มีการตั้งโครงการหมู่บ้านสหกรณ์ห้วยสัตว์ใหญ่ เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หน่วยงานภาครัฐจัดหาพื้นที่ว่างเปล่าในเขตจังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ มาจัดสรรให้ราษฎรชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงที่ไม่มีที่ทำกิน ให้อยู่ในรูปแบบของสหกรณ์ โดยให้มีสิทธิครอบครองที่ดินทำกินชั่วลูกชั่วหลานแต่ไม่ให้มีการถ่ายโอนกรรมสิทธิ์ ทั้งนี้เพื่อต้องการให้มีการรวบรวมราษฎรและชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยง ที่อยู่กระจัดกระจายให้มาอยู่รวมกัน เพื่อป้องกันการตัดไม้ทำลายป่า และรักษาความปลอดภัยของชาติบริเวณชายแดน ทั้งได้มอบหมายให้หน่วยงานราชการเข้าไปดูแลช่วยเหลือ แนะนำ วางแผนการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ให้กับสมาชิกที่อยู่ในโครงการ มีการสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยป่าเลา อ่างฯหุบปลาก้าง ฝายทดน้ำหุบเสือโฮก จนเติบใหญ่เป็นตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ ที่มีถึง 11 หมู่บ้าน ที่เป็นที่รู้จักกันก็คือบ้านป่าละอู ซึ่งมีทุเรียนดัง มีลำห้วยจากธารน้ำตกป่าละอูเป็นต้นน้ำสำคัญ ต่อมาจึงมีคนเมืองจากพื้นราบเข้าไปทำมาหากิน ตั้งบ้านเรือน และค้าขายในพื้นที่ สภาพตำบลจึงเป็นเหมือนชุมชนในป่า ที่มีตำบลป่าเด็งที่ต่อเนื่องกันมีสภาพชุมชนกลางป่าเช่นกัน มีหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ กจ.7 (เขาหุบเต่า)อยู่ใกล้เคียงชุมชนที่สุด และหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งนี้ มีบทบาทมากในการไล่ช้าง
พื้นที่ของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มีเนื้อที่กว้างใหญ่ถึง 1,821,687.84 ไร่ มีช้างอยู่ในพื้นที่ประมาณ 250 ตัว และเป็นที่น่าสังเกตว่า ช้างแก่งกระจานจะไม่ขึ้นไปทางทิศเหนือของพื้นที่อุทยานแห่งชาติ แต่จะหนาแน่นตั้งแต่เขาพะเนินทุ่งลงมาทางใต้ ย่านตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ ตำบลป่าเด็งที่ต่อเนื่องกัน มีช้างป่าแก่งกระจานอยู่ราว 150 ตัว
บุญช่วย และบุญมี คือช้างโทนสองเชือกที่ออกมาให้พบเห็นประจำในตลาดและชุนห้วยสัตว์ใหญ่ ทั้งบุญช่วย และบุญมี หากินในพื้นที่เดียวกัน ทับทางกัน แต่ไม่หากินด้วยกัน ต่างตัวต่างอยู่ ต่างตัวต่างหากิน พื้นที่หากินย่านบ้านห้วยสัตว์ใหญ่ และริมถนนสายหนองพลับ-ห้วยสัตว์ใหญ่ตั้งแต่ศาลเจ้าพ่อลงมาจนถึงย่านตลาดและชุมชนห้วยสัตว์ใหญ่ แต่ไม่เลยไปถึงบ้านป่าละอูและป่าละอูบนซึ่งย่านนั้นจะเป็นพื้นที่ของช้างโขลงต่างหาก
(ภาพ…สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย)
เรา-เขา คือเพื่อนกัน
ชาวบ้านห้วยสัตว์ใหญ่คุ้นชินกับการที่พบเห็นทั้งบุญช่วยและบุญมี เดินหากินในชุมชนไม่ว่ากลางวันหรือกลางคืน ทั้งในชุมชนวันที่มีตลาดนัด ซึ่งที่หลังตลาดก็จะเป็นที่ทิ้งเศษผัก ผลไม้ ในอดีตมีรีสอร์ตบางแห่งให้อาหารเพื่อให้ช้างมากิน ให้ผู้มาพักได้พบเห็นช้าง แต่ต่อมามีการขอความร่วมมือไม่ให้ทำ เพื่อไม่ให้มีสิ่งดึงดูดช้างเข้ามาในชุมชน ในพื้นที่เมื่อพบเห็นช้าง ผู้คนจึงก็เฉยๆ เหมือนเห็นสัตว์เลี้ยงในหมู่บ้าน ด้วยเป็นภาพที่คุ้นชินตาของคนย่านนี้จนเป็นปกติ เด็กๆ เมื่อเห็นช้าง ก็จะบอกผู้ใหญ่ให้รู้ ผู้ใหญ่ก็จะแจ้งข่าวไปยังชุดไล่ช้างของอุทยานฯ ถ้าช้างเข้าชุมชน เจ้าหน้าที่จะรอให้เขาเดินไปจนพ้นเขตชุมชนจึงจะไล่เข้าป่า
(ภาพ..สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย)
จากการพูดคุยกับชาวบ้านบ้านห้วยสัตว์ใหญ่ เขาไม่มีความกลัวช้าง คุ้นชิน และรู้สึกว่าที่นั้นเป็นทั้งบ้านคนและบ้านช้าง อะไรพังมาเดี๋ยวเจ้าหน้าที่เขาก็มาซ่อมให้ ชาวบ้านเขาชินกันหมด ไม่ได้คิดว่าใครเบียดเบียนใคร ซึ่งก็คล้ายกับชาวบ้าน ต.สาริกา ที่ไม่ได้เห็นว่าการปรากฏกายของพลายสาริกาเป็นอันตรายหรืออุปสรรคในการใช้ชีวิตแต่อย่างใด หรือแม้กระทั่งนักท่อเที่ยวที่ขึ้นไปอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ที่มักเจอช้างออกมาบนถนนขณะเดินทาง ก็จะรู้ว่าจะต้องทำอย่างไร และจะมีเจ้าหน้าที่มาแนะนำหรือมาอำนวยจราจรและมาแนะนำคนที่ไม่เคยเจอช้างบนถนนว่าจะต้องทำอย่างไร
เหล่านี้คือการยอมรับซึ่งกันและกัน….
กรมอุทยานแห่งชาติ กับการแก้ปัญหาช้างป่า
ที่ผ่านมากรมอุทยานฯ ไม่เคยนิ่งเฉย และให้ความสำคัญกับปัญหาช้างป่า กับชุมชนเป็นลำดับต้นๆ แต่ขึ้นชื่อว่าช้างป่า ซึ่งไม่ใช่ช้างเลี้ยง เขามีอิสระในการดำเนินชีวิต ปัญหาการกระทบกระทั่งกันระหว่างช้างและคนในแต่ละพื้นที่ก็ไม่เหมือนกัน ที่บ้านห้วยสัตว์ใหญ่ชุมชนเขามีทัศนคติที่ดีกับช้าง ถือว่าอยู่ร่วมกันคนก็อยู่ช้างก็อยู่ หนักนิดเบาหน่อย ประกอบกับช้างที่นี่ก็ไม่มีพฤติกรรมก้าวร้าวอะไร เพียงแต่คราวนี้ที่ช้างโผล่หัวเข้าไปในบ้าน อาจจะเป็นภาพที่ช๊อคความรู้สึกของคนเมือง แต่สำหรับคนในพื้นที่เขา เห็นเป็นเรื่องปกติ แต่ช้างที่อื่นอาจจะไม่ใช่แบบนี้ ช้างทางแก่งหางแมว รวมกลุ่มกันนับร้อยตัว เวลาออกหากินจึงนำความเสียหายมาให้พืชผลทางการเกษตรอย่างมาก จะเห็นว่าปัญหาแต่ละแห่งไม่เหมือนกัน ซึ่งการแก้ปัญหาก็มีทั้งแก้ที่เป็นการรับมือกับนิสัยช้างในแต่ละพื้นที่ อย่างช้างบุญช่วย บุญมีที่ห้วยสัตว์ใหญ่เพียงเจ้าหน้าที่ไปไล่ให้ออกจากถนนก็จบ แต่ช้างที่อื่นอาจจะไม่ใช่ ซึ่งในกรณีนี้แต่ละพื้นที่เขามีวิธีการที่แตกต่างกัน ในส่วนของภาพใหญ่ในการดำเนินการป้องกัน ทางกรมอุทยานฯทำมาหมด ทำรั้วไฟฟ้าล้อมพื้นที่ อย่างที่เขตฯสลักพระ ก็จะเห็นว่ากันเขาได้ในระยะแรก ตอนนี้ไปดูรั้วพังหลายจุด เพราะเขาล้มต้นไม้ทับรั้วไฟฟ้าจนพัง ที่เขตฯเขาอ่างฤาไนย เราขุดคูล้อมก็กันเขาได้ในระยะแรก ต่อมาเขาก็ค่อยๆพังคูดินลงมาจนเดินข้ามคูได้ หรือวิธีการผึ้งไล่ช้างที่เลียนแบบต่างชาติก็ได้ทดลองทำที่ เขตฯภูหลวงก็ได้ผลแค่แรกๆ ต่อมาเขาก็ไล่เอาไม้ตีลวดที่รังผึ้งเกาะ ทั้งเขย่าลวดจนผึ้งหนี ก็ไม่ได้ผลอีก ทำรั้วปูนล้อมแบบที่แก่งกระจาน ช้างก็มีวิธีการข้ามรั้ว (มีคลิป) ช้างไทยนั้นฉลาด เขาก็เรียนรู้ตลอดเวลา ไม่ว่าวิธีการไหนใช้ไม่ได้ผล 100% และต้องเปลี่ยนวิธีไปเรื่อยๆ
สิ่งที่กรมอุทยานฯ พยายามทำในระยะยาวก็คือ การให้เขามีอาหาร มีแหล่งน้ำ มีเกลือแร่หรือสิ่งจำเป็น ทั้งทำแปลงหญ้า สร้างโป่งให้ สร้างแหล่งน้ำให้ ให้สิ่งเหล่านี้อย่างเพียงพอ ไปสร้างให้ในป่าลึกๆ จะได้ไม่ต้องออกมาในชุมชน แต่ช้างก็เหมือนคน บางทีนอกจากอาหารอิ่มท้องแล้ว เขาก็อยากจะเดินเที่ยว เดินเล่น เหมือนบุญช่วย บุญมีที่เดินเข้าชุมชนห้วยสัตว์ใหญ่ โดยไม่ได้เน้นหากิน แต่แค่อยากออกมา
กรมอุทยานฯ ได้แก้ปัญหาพื้นฐานให้กับช้างแล้ว แต่สิ่งที่เราช่วยกันคือทัศนคติคนต่อช้าง อยากให้คิดแบบชาวห้วยสัตย์ใหญ่ หรือชาวบ้านสาลิกา ว่าทั้งช้าง ทั้งคน ก็อยู่ด้วยกันอยู่ในพื้นที่เดียวกัน คนมาอยู่ในที่ที่ช้างเคยอยู่ สังคมเติบใหญ่ ในขณะที่ช้างต้องร่นถอยไม่มีใครต้องเสียสละ เพียงแต่อะลุ้มอล่วยกัน ถ้าเกิดความเสียหายกับทรัพย์สิน ทางกรมอุทยานฯก็มีหลักเกณฑ์การช่วยเหลืออยู่แล้ว
เรื่องของช้างกับคน จึงเป็นบทสรุปที่สรุปไม่ได้ หากแต่ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันไป เพราะช้างไทยนั้นฉลาด ไม่มีวิธีการใดที่จะป้องกันได้อย่างจริงจัง นอกจากการปรับใจให้รับซึ่งกันและกันให้ได้เท่านั้นเอง…..
“””””””””””””””””””””
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: