สองเดือนที่ผ่านมา มีข่าวว่าเขตรักษาพันธุสัตว์ป่าดอยเชียงดาว ปิดการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ที่บ้านนาเลา ที่เป็นชนเผ่าลีซอ เชิงดอยหลวงเชียงดาว ด้วยเหตุผลที่หมู่บ้าน ทำการท่องเที่ยว แบบเลยเถิดเกินกว่ากติกาที่ตกลงร่วมกันกับเขตรักษาพันธุ์ที่อนุญาต เช่น มีการขยายบ้านพักออกไปเรื่อยๆ มีการตัดไม้ในธรรมชาติมาทำฟืนบริการนักท่องเที่ยว ฯลฯ จนนำมาสู่การปิดการท่องเที่ยวในบ้านนาเลา มีตัวอย่างของการทำการท่องเที่ยวในเขตป่าอนุรักษ์มาให้ดูเป็นตัวอย่าง
ในป่าพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติขุนแจ ซึ่งเป็นต้นแม่น้ำขุนลาว ห้วยสาขาที่หล่อเลี้ยงคนเวียงป่าเป้า และพื้นที่ปลายน้ำอื่นๆ มีหมู่บ้านที่ใช้ชีวิตที่เรียบง่าย อยู่ท่ามกลางธรรมชาติอันสงบเงียบ รายรอบด้วยผืนป่าใหญ่ ทำพืชไร่แบบมีจิตสำนึกของคนที่อยู่ต้นน้ำ ไม่ใช้สารเคมี โดยมีกติกาที่ยอมรับซึ่งกันและกัน ทางอุทยานฯ ยอมรับว่ามีหมู่บ้านนี้ในป่า หมู่บ้านก็ยอมรับว่าตนเองอยู่ในพื้นที่อุทยาน กติกาการอยู่ร่วมกันจึงถูกกำหนดขึ้นและยึดถืออย่างเคร่งครัด
มีหมู่บ้านที่ไล่ไปจากปากทาง ริมถนนสายดอยสะเก็ด-เวียงป่าเป้า เยื้องที่ทำการอุทยานราว 1 กม. ถนนสายเล็กๆเข้าไปในหมู่บ้านป่าเริ่มตั้งแต่บ้านแรกคือบ้านขุนลาว-บ้านห้วยคุณพระ – บ้านปางมะกาด และสุดท้ายที่บ้านน้ำกืน รวมระยะทาง 14 กม. ทางเทปูนเข้าไปค่มีกี่กิโลก็จะเป็นทางลำลอง แบบหน้าแล้งปิคอัพเข้าได้ แต่หน้าฝนขอเป็นรถขับเคลื่อนสี่ล้อเท่านั้น
หมู่บ้านทั้งหมดตั้งอยู่ในร่องเขา ส่วนหนึ่งของเทือกผีปันน้ำ ที่ ไม่ได้มีเพียง 4 แต่มีถึง 8 หมู่บ้านที่ตั้งในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติขุนแจ เรียกรวมกันว่าชุมชนต้นน้ำขุนลาว เพราะมีแม่น้ำลาว เป็นผลผลิตของป่าผืนนี้ก่อนจะไหลไปรวมกับแม่น้ำกกอีกที
แม้นหมู่บ้านจะตั้งมานานหลายชั่วคน เป็นคนเมืองทั้งหมดไม่ใช่ชาวเขาชาวดอย หักร้างถางพงเอาด้วยกำลัง อุทยานฯมาทีหลังประกาศพื้นที่ป่าทั้งหมดให้เป็นอุทยานแห่งชาติ เพื่อสงวนป่าต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์ในส่วนที่เหลือไว้ แรกๆ ความขัดแย้งของคนที่ต้องดูแลรักษาป่า กับชาวบ้านที่ต้องการที่ดินทำกินและอยู่ในป่าจึงเกิดขึ้น จับกุม ตอบโต้ เป็นคดีความ อยู่กันด้วยความหวาดระแวง จนมีแนวการบริหารงานแบบใหม่ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่เรียกว่าโครงการ สสอ.(โครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์) ที่ให้มีการรับฟังชาวบ้านมากขึ้น พูดคุยกันมากขึ้น แคร์ชาวบ้านมากขึ้น คับข้องอะไรมาคุยกัน มาหาทางออกด้วยกัน ดีกว่าไปไล่จับชาวบ้านในป่า มานั่งคุยกัน อย่างแรกเลย มีการตกลงกับทางอุทยานฯว่า ขอสิทธิ์ในการอยู่อาศัยในพื้นที่ที่ตั้งหมู่บ้าน ในที่ทำกินที่มีอยู่เดิม อย่ารื้อถอน อย่าขับไล่ อย่าจับกุม ทางการก็โอเค ทีนี้ทางกรมอุทยานฯ ก็ขอชาวบ้านกลับว่า ขออย่าบุกรุกถางป่าใหม่ ขออย่าขายที่ดินเปลี่ยนมือเด็ดขาด ขออย่าใช้สารเคมี เพราะอยู่กันบนต้นน้ำ ถ้าใช้สารเคมี คนข้างล่างเขาก็อาจจะไม่พอใจ จะขัดแย้งกันเองระหว่างชาวบ้านบนดอยกับที่ลุ่ม และช่วยกันดูแลรักษาป่าต้นน้ำ
โชคดีที่ชาวบ้านดั้งเดิมก็ไม่ได้ทำเกษตรแบบพืชเชิงเดี่ยว แต่ปลูกเมี่ยงที่ต้องอาศัยร่มเงาไม้ เมื่อไม่ให้ขยายพื้นที่ทำกิน ทางการก็ต้องช่วยเขาเพิ่มมูลค่าในผลิตผลที่เขาผลิตได้ กรมอุทยานฯ โดยส่วนส่งเสริมและพัฒนาชุมชนต้นน้ำ สำนักต้นน้ำ ก็ไปดึงมูลนิธิสายใยแผ่นดิน และมูลนิธิโครงการหลวงมาช่วย ปลูกชาและกาแฟ โดยให้ทำแบบปลอดสารเคมี 100 % แล้วสร้างแบรนด์ มีวนา เป็นกาแฟระดับพรีเมี่ยม เป็นกาแฟลอดสาร จนมีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับ ส่งออกไปยังร้านกาแฟระดับโลก
ทั้งให้ชาวบ้านทำการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ สร้างที่พักได้พอประมาณ ห้ามเปลี่ยนมือ ชาวบ้านทำเองได้ที่ กับชุมชนนุบเขาที่สงบ เงียบ หัวค่ำกลับจากสวนก็มาซื้อกับข้าว พูดคุยกัน สองทุ่มก็เงียบกริบบ้านใครบ้านมัน อากาศเย็นสบาย เย็นย่ำเงียบสงบ กลางคืนมีแต่เสียงน้ำค้างและสัตว์กลางคืน อยู่เป็นเพื่อนเดือนดาว เช้าๆ ไก่ขัน หมอกจางๆ พระสงฆ์ออกบิณฑบาตร แดดอุ่นๆ ทำให้บรรยากาศการจิบชา กาแฟนั้นสุนทรีย์ยิ่งขึ้น ยิ่งถ้าเป็นช่วงมกราคมที่พญาเสือโคร่งบาน ทั้งสองข้างทางเข้าและในหมู่บ้าน จะมีสีชมพูหวานตกแต่งบริเวณไปโดยปริยาย
อีกทั้งหมู่บ้านนี้ยังเป็นจุดเดินป่าระยะไกลขึ้นดอยมด ซึ่งเป็นเส้นทางเดินป่าที่คอเดินป่าอยากมาพิชิตสักครั้ง หรือเดินป่าไม่ไหวก็ไปตามจุดท่องเที่ยวแบบง่ายๆ ไปน้ำตกขุนลาว จุดชมวิวหมู่บ้าน ชมกิจการการทำชาทำกาแฟ ฯลฯ เพราะไม่ให้เขาขยายพื้นที่ก็ต้องหามูลค่าเพิ่มให้ชาวบ้านเขาแบบนี้ และนี่ถือว่ามาถูกทางแล้ว
ได้ไปพูดคุยกับผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านน้ำกืนถึงข้อกังวลที่นายทุนอาจเข้ามา ผู้ใหญ่บอกว่าไม่กลัวเพราะจะไม่มีการขายที่ดินเด็ดขาด ถ้าใครขาย ก็จะถือว่าผิดกติกาของชุมชนและผิดกฎหมายอุทยานฯ ด้วย ส่วนคนมาซื้อก็ถือว่ามาซื้อที่ในเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งผิดกฎหมายเต็มๆ ชาวบ้านเขารู้อยู่เต็มอกว่าหมู่บ้านเขาอยู่ในเขตอุทยานฯ ใครซื้อก็เหมือนถูกหลอก ป้ายห้ามซื้อขายที่ดินจึงปรากฏให้เห็นตั้งแต่บ้านแรกจนบ้านสุดท้ายของที่นี่ ย้ำเตือนกันตลอดเวลา
เพราะการดำเนินงานแบบนี้ที่เข้มงวดและเอาจริงเอาจัง เคารพกฎกติกาที่ร่างร่วมกัน จึงทำให้ ในปี 2561 ที่ผ่านมา โครงการนี้จึงได้รับรางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นรางวัลที่เป็นความภาคภูมิใจในการทำงานของภาครัฐที่ร่วมกับชาวบ้านด้วยความเข้าใจกันและสำเร็จด้วยดี นับเป็นสิ่งดีๆอีกหนึ่งอย่างที่เกิดขึ้นในยุคนี้
กฎกติกาที่ห้ามฝ่าฝืนเด็ดขาด
จริงๆ บ้านเรายังมีหมู่บ้านคลองเรือที่พะตะ ที่เป็นแบบอย่างของการอยู่ร่วมในป่าโดยไม่ทำลาย แต่นั่นก็ต้องพิสูจน์ตัวเองให้ว่า เราเคารพข้อตกลงร่วมกันจริงๆ ถ้าแหกกฎกติกา ความไม่ไว้วางใจก็จะเกิดขึ้นแบบบ้านนาเลาที่เชียงดาว
คนอยู่ในป่าได้แต่ต้องไม่โลภเกินไป อยู่อย่างสบายก็อยู่ได้แต่อยู่อย่างโลภก็ลำบาก…
……………………………………………………………………..
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: