นายสมโภชน์ มณีรัตน์ โฆษกกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์และแสดงความคิดเห็นต่อกรณีที่มีข่าวว่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ เตรียมทำการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์สัตว์ป่าในรูปแบบซาฟารี ลักษณะคล้ายในทวีปแอฟริกาในพื้นที่ป่าสงวน ซึ่งเป็นพื้นที่ป่ารอยต่อเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง อ่างเก็บน้ำทับเสลา และเมื่อข่าวดังกล่าวนำเสนออกไป จึงเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ข้อกังวลต่างๆว่าหากมีการดำเนินการจริง อาจส่งผลกระทบกับสัตว์ป่า และสถานภาพการเป็นพื้นที่มรดกโลกของขสป.ห้วยขาแข้ง หรือไม่นั้น นายสมโภชน์ มณีรัตน์ โฆษกกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้กล่าวว่า
“โครงการที่กำลังได้รับกระแสวิพากษ์วิจารณ์อยู่ขณะนี้ คือ “โครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพและแรงจูงใจเพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่าในผืนป่าตะวันตก (Strengthening Capacity and Incentives for Wildlife Conservation in the Western Forest Complex)” ซึ่งมีการดำเนินการพัฒนาต้นแบบการท่องเที่ยวสัตว์ป่า เพื่อการอนุรักษ์บริเวณเขตกันชน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งรวมอยู่ด้วย ขณะที่ความเป็นมาของโครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพและแรงจูงใจเพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่าในผืนป่าตะวันตกมีดังนี้”
“พื้นที่มรดกโลกห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร ตั้งอยู่ใจกลางผืนป่าตะวันตกของประเทศไทย ประกอบด้วยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 3 แห่งได้แก่ ห้วยขาแข้ง ทุ่งใหญ่นเรศวรตะวันออก ทุ่งใหญ่นเรศวรตะวันตก รวมพื้นที่ทั้งสิ้น 6,427 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ป่าสมบูรณ์และมีเสือโคร่งประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนเสือโคร่งทั้งหมดที่มีอยู่ในประเทศไทย ตลอดจนสัตว์ป่านานาชนิด และพบว่าภัยคุกคามที่สำคัญต่อการดำรงอยู่ของสัตว์ป่าในพื้นที่มรดกโลก โดยเฉพาะเสือโคร่งนั้น ได้แก่
1)ถิ่นที่อยู่ถูกทำลายเนื่องจากความเสื่อมโทรมและการถูกตัดแบ่งพื้นที่ป่าออกจากกัน
2)การล่าสัตว์ป่าที่เป็นอาหารของเสือโคร่ง
3) การล่าเสือโคร่งเพื่อสนองการค้าผิดกฎหมาย”
นายสมโภชน์ อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ระบุ “นอกจากนี้ยังมีชาวบ้านที่เป็นชุมชนดั้งเดิม ชุมชนเกษตรสวนป่าผสมผสาน ซึ่งอาศัยอยู่ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ตะวันออกและตะวันตก และชุมชนที่ตั้งอยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตรของพื้นที่กันชนรอบๆพื้นที่มรดกโลก ซึ่งมีชุมชนดังกล่าวกว่า 29 หมู่บ้าน ที่พึ่งพิงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติจากป่าในการดำรงชีวิต”
สภาวะปัจจัยตามบริบทเหล่านี้ ส่งผลให้มีความจำเป็นที่ต้องดำเนินการปรับปรุงประสิทธิผลของการบริหารจัดการสัตว์ป่าและถิ่นที่อยู่ของสัตว์ป่า สร้างกลไกทางการเงินที่ยั่งยืนสำหรับพื้นที่มรดกโลกห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร รวมทั้งสนับสนุนการนำร่องกิจกรรมสร้างแรงจูงใจทางเศรษฐกิจเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่สมดุลกับวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่น ดังนั้น สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ได้ร่วมมือกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จัดทำข้อเสนอโครงการเพื่อขออนุมัติทุนสนับสนุน เป็นจำนวน 7.33 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อดำเนินการเสริมสร้างประสิทธิภาพในการจัดการปกป้องพื้นที่มรดกโลกห้วยขาแข้ง ทุ่งใหญ่นเรศวร และกองทุนสิ่งแวดล้อมโลกมีมติอนุมัติงบประมาณสนับสนุนโครงการดังกล่าวในปี 2558 และในปีเดียวกันเมื่อ วันที่ 16 มิถุนายน คณะรัฐมนตรีในขณะนั้นก็ได้เห็นชอบในโครงการดังกล่าว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุง ประสิทธิภาพการจัดการสำหรับแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง และกระตุ้นให้ชุมชนท้องถิ่นช่วยกันดูแลรักษา โดยแบ่งเป็น 3 องค์ประกอบ คือ
1) เสริมสร้างความเข้มแข็งในการอนุรักษ์พื้นที่ป่าและคุ้มครองสัตว์ป่า ประกอบด้วย การสร้างขีดความสามารถและประสิทธิภาพของระบบลาดตระเวน การปรับปรุงถิ่นอาศัยสัตว์ป่าการติดตามสำรวจประชากรสัตว์ป่าโดยเฉพาะเสือโคร่งอินโดจีน เป็นต้น
2) สร้างแรงจูงใจและส่งเสริมกลไกการเงินที่ยั่งยืนเพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่าและการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่มรดกโลก ประกอบด้วย การพัฒนาอาชีพทางเลือกของชุมชนที่เป็นมิตรต่อสัตว์ป่า การท่องเที่ยวเพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่าและการสร้างต้นแบบระดมทุนและจัดการกองทุนเพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่า
3) สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและมรดกโลก พร้อมทั้งเสริมสร้างความรับรู้ของสาธารณชนเกี่ยวกับคุณค่าของทรัพยากรสัตว์ป่าและความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ ซึ่งมีความสำคัญระดับโลก
ทั้งนี้มีระยะเวลาดำเนินการระหว่างปีพ.ศ. 2558-2563 และมีพื้นที่โครงการอยู่ในพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ซึ่งได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก
“ด้านการพัฒนาต้นแบบการท่องเที่ยวสัตว์ป่าเพื่อการอนุรักษ์บริเวณเขตกันชน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง อยู่ภายใต้โครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพและแรงจูงใจเพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่าในผืนป่าตะวันตก” ซึ่งหลายฝ่ายกำลังวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่นั้น ใช้พื้นที่ป่าชุมชนบ้านบึงเจริญ ป่าชุมชนบ้านห้วยเปล้า พื้นที่ขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้(ออป.) ชุมชนบ้านห้วยเปล้า สันเขื่อนทับเสลา มีหน่วยงานสำรวจและดำเนินงานด้านวิชาการ คือ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยศึกษาการจัดการถิ่นที่อยู่อาศัย การออกแบบและพัฒนาพื้นที่ การพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยว การพัฒนาและเตรียมความพร้อมด้านชุมชน” นายสมโภชน์ กล่าว
นายสมโภชน์ อดีตหัวหน้าขสป.ห้วยขาแข้งกล่าวอีกว่า “ขณะที่วัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวสัตว์ป่าที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือที่ช่วยสนับสนุน ส่งเสริมให้เกิดการจัดการพื้นที่มรดกโลกห้วยขาแข้งอย่างยั่งยืน เป็นเครื่องมือที่ช่วยสนับสนุนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ที่อยู่รอบพื้นที่คุ้มครอง มีเป้าหมายที่จะสร้างการท่องเที่ยวทางเลือกสำหรับนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่มที่ต้องการเรียนรู้ระบบนิเวศและทรัพยากรสัตว์ป่า ให้เกิดจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ สนับสนุนนโยบายการพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศ และยังเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน และการดำเนินการดังกล่าวมีคณะกรรมการบริหารโครงการ ซึ่งมีอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯเป็นประธาน มีการประชุมศึกษาความก้าวหน้าตามวาระอย่างน้อยปีละสองครั้ง การรายงานความก้าวหน้าต่อยูเอ็นดีพี การจัดทำรายงานประจำปี ส่งกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก” กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ยืนยันว่าไม่ได้สนับสนุนให้เกิดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะสัตว์ป่า และได้ดำเนินการอย่างมีแบบแผน ตามหลักวิชาการ โดยคำนึงถึงความเป็นมรดกโลกในพื้นที่ด้วย และยังอยู่ในขั้นศึกษาด้านต่างๆโดยคณะวนศาสตร์ มก. อีกทั้ง พร้อมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้งที่สนับสนุนและคัดค้าน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวยังมีอีกหลายขั้นตอน และกรมอุทยานแห่งชาติฯ จะดำเนินการบนพื้นฐานของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการยั่งยืนของประชาชนอีกด้วย…
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: