ไม่ต้องอารัมภบทกันนาน เป็นที่รับรู้กันแล้วว่า เสือที่ยึดมาจากวัดหลวงตามหาบัว กาญจนบุรี ที่ยึดมา 147 ตัว ตายไป 86 ตัว เรียกว่าช็อคสังคมอย่างมาก พร้อมทั้งการมองหาจำเลยในเรื่องนี้ แน่นอนว่าต้องพุ่งเป้ามาที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ชนิดที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
มีการแถลงข่าวเรื่องนี้เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2562 โดยมีนายประกิต วงศ์ศรีวัฒนกุล รองอธิบดีกรมอุทยานฯ พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสัตว์แพทย์หลายคนมาให้ข้อมูล
ก่อนที่จะด่า อยากให้มาตั้งสติกันก่อน ….
ไปยึดเขามาทำไม ? ถ้าปล่อยไว้เสือก็ไม่ตายขนาดนี้
ข่าวน่าสนใจ:
ความเป็นมาของเรื่องนี้ก็คือ จากการที่เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เข้าตรวจยึดเสือโคร่งภายในสำนักสงฆ์หลวงตามหาบัว ญานสัมปันโน จ.กาญจนบุรี จำนวน 7 ตัว เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2544 ตอนขนย้ายภายในวัดตายไป 1 ตัว เลยเหลือ 6 ตัว สัตว์ป่าของกลางทั้งหมดตกเป็นของแผ่นดินเนื่องจากไม่มีบุคคลใดมาแสดงตนเป็นเจ้าของ ทางเจ้าหน้าที่จึงได้ฝากเลี้ยงเสือโคร่งและสัตว์อื่นที่อยู่ในสำนักสงฆ์หลวงตามหาบัวไว้ก่อน
ระหว่างนี้กรมอุทยานแห่งชาติ ฯ ได้มีความพยายามที่จะจัดการกับเสือกับสัตว์ป่าของกลางที่ตกเป็นของแผ่นดินมาโดยตลอดแต่ไม่สามารถดำเนินการย้ายออกมาจากวัดได้ (ให้ตามอ่านดูข่าวเก่าๆ ในช่วงที่จะมีการขนย้ายว่าได้รับความร่วมมือหรือขัดขวางอย่างไรจากใครบ้าง ) จนเสือโคร่งได้สืบขยายพันธุ์เพิ่มเป็นจำนวน 147 ตัว
วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2548 กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้รับแจ้งว่ามีเสือโคร่งสูญหายไปจากสถานที่เลี้ยงดูสัตว์ป่าภายในวัดหลวงตามหาบัว จำนวน 3 ตัว กรมอุทยานแห่งชาติฯ จึงได้เข้าทำการเคลื่อนย้ายเสือโคร่งจากวัดป่าหลวงตามหาบัว โดยเริ่มทยอยเคลื่อนย้ายบางส่วนในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2559 จำนวน 10 ตัว และย้ายที่เหลือทั้งหมดในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2559 นำไปเลี้ยงที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้างจำนวน 85 ตัว และสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสนจำนวน 62 ตัว รวม 147 ตัว จากการตรวจสอบ DNA ส่วนใหญ่จะเป็นเสือโคร่งสายพันธุ์ไซบีเรียและเกิดจากการผสมพันธุ์กันเอง จากเสือโคร่งที่ตรวจยึดครั้งแรก จำนวน 6 ตัว
ก่อนนั้นทั้งสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้างและสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน มีเสือที่เลี้ยงดูอยู่แล้ว แต่พอจะย้ายเสือจากวัดหลวงตามา ก็มีการย้ายเสือเก่าบางส่วนไว้ยังสถานีเพาะเลี้ยงแห่งอื่นเกือบทั้งหมด มีเหลืออยู่บางส่วนที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายไปได้ เช่นที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้างจำนวน 6 ตัวและสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน จำนวน 3 ตัว
นายสุนทร ฉายวัฒนะ หัวหน้ากลุ่มงานเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า กรมอุทยานฯ ให้ข้อมูลว่า เมื่อมีการย้ายเสือจากหลวงตามหาบัวญาณสัมปันโน จำนวน 147 ตัวมานั้น เป็นการดำเนินการในภาวะไม่ปกติ เสือโคร่งที่เคลื่อนย้ายมาส่วนใหญ่มีภาวะเครียดเนื่องมาจากการขนย้ายและเปลี่ยนสถานที่ ซึ่งต่อมาพบปัญหาการเจ็บป่วยคือ
– พบว่ามีปัญหาระบบทางเดินหายใจมีอาการหายใจเสียงดังเป็นส่วนใหญ่ซึ่งเป็นอาการของอัมพาตลิ้นกล่องเสียงทําให้หายใจเข้าและออกลำบาก เมื่ออาการหนักมากขึ้นจะไม่กินอาหาร มีอาการชักเกร็งและตายในที่สุด
-พบการติดเชื้อไวรัสไข้หัดสุนัข ซึ่งเป็นโรคติดต่อร้ายแรงในสุนัขและสัตว์ป่าหลายชนิดรวมทั้งเสือโคร่ง ซึ่งปัจจุบันยังไม่มียารักษาเป็นการเฉพาะทำได้เพียงการรักษาตามอาการ ซึ่งภายหลังการติดเชื้อจะพบอาการผิดปกติในระบบประสาท ระบบทางเดินหายใจ และระบบทางเดินอาหาร เหล่านี้เป็นมูลเหตุที่ทำให้เสือตาย
คำถามที่สังคมถามก็คือ แล้วตอนที่พระเลี้ยงเสือไว้ ทำไมเสือไม่ตาย?
ถ้าใครลองค้นดูข่าวเก่าๆในช่วงการเคลื่อนย้ายอาจจะเห็นข้อมูลบางอย่างว่า มีการพบซากลูกเสือนับสิบซาก ถูกดองแช่ฟอร์มาลีนไว้ รวมทั้งมีการพบหนังเสือ ทั้งที่เป็นผืนใหญ่และที่ถูกตัดเป็นชิ้นๆ ไว้ คาดว่าน่าจะเพื่อจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยว เพราะก่อนนั้น วัดหลวงตามหาบัว ญานสัมปัณโณ แห่งนี้ เป็นที่รู้กันในโปรแกรมท่องเที่ยวในชื่อ ”วัดเสือ”มีการกำหนดในโปรแกรมทัวร์ แม้แต่เอกสารเผยแพร่ จ.กาญจนบุรีของ ททท. ก็มีแนะนำเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีการเก็บค่าเข้าดูที่ค่อนข้างแพง
แสดงว่า ตอนที่อยู่ที่วัด ก็มีเสือตาย เพียงแต่ไม่ได้ปรากฏเป็นข่าว ส่วนว่าตายไปแล้วเท่าไหร่กี่ตัว อันนี้ไม่มีข้อมูลทั้งหมด
ทำไมตายมาก?
นายสุนทร ฉายวัฒนะ หัวหน้ากลุ่มงานเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า กรมอุทยานฯ ให้ข้อมูลว่าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้างรับเสือมาจากวัดหลวงตามหาบัวญาณสัมปันโน 85 ตัว ตาย 54 ตัว คงเหลือ 31 ตัว เป็นการตายช่วงปี 59-12 ส.ค. 62 เหลือ 31 ตัว รวมทั้งมีเสือโคร่งของกลางในคดีอื่นๆ อีกจำนวน 5 ตัว และเสือโคร่งจากการส่งมอบคืนให้กรมอุทยานอีก 9 ตัว รวมขณะนี้มีเสือโคร่งที่สถานีเขาประทับช้าง 45 ตัว
ขณะที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสนมีเสือโคร่งจำนวน 33 ตัวเป็นเสือโคร่งที่ได้รับมาจากวัดหลวงตามหาบัวญาณสัมปันโนจากที่รับมา 32 ตัวตาย 32 ตัว(มีนาคม 60 ถึงกรกฎาคม 62 ) เหลือ 30 ตัว และมีเสือโคร่งของกลางในคดีอื่นจำนวนอีก 3 ตัว
จะเห็นว่าเสือที่ตายเป็นเสือโคร่งที่รับมาจากวัดหลวงตามหาบัวญาณสัมปันโน ทั้งหมด 111 ตัว เหลือ ตอนนี้ 61 ตัว ตายไปแล้ว 86 ตัว (ความเป็นมาช่วงที่จะมีการยึดเสือนี้ท่านผู้อ่านสามารถค้นคว้าเพิ่มเติมได้จากในกูเกิล จะได้มีมุมมองและเห็นความเป็นมาที่ชัดเจนยิ่งขึ้น)
คำถามคือ แล้วเสืออื่นๆ ที่มีอยู่ในศูนย์เพาะเลี้ยงไม่มีอาการอะไร ยังสุขสบายดีไหม?
เดี๋ยวมีคำตอบ……..
เสือคลองค้อ เสือที่แม่ทิ้ง แห่งห้วยขาแข้ง
ทำไมจาก 6 ตัวจึงเป็น 147 ตัวได้?
เสือมีอายุประมาณเดียวกับแมว คือ 10-15 ปี อายุ 2-5 ปี ก็ผสมพันธุ์ได้แล้ว ตั้งท้อง 55-120 วัน(ขึ้นอยู่กับชนิดเสือ) นี่ก็อาจจะเป็นคำตอบได้ว่าจาก 6 ตัว มาเป็น 147 ตัวได้อย่างไร จึงเป็นไปได้ว่าอาจจะผสมกันเองใน 6 ตัว (ถ้าไม่มีการลักลอบซื้อเสือมาเพิ่ม ซึ่งไม่มีข่าวตรงนี้)
เสือที่ผสมพันธุ์ไปมา ก็จะเกิดปัญหาเลือดชิด ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เสือตาย
ก่อนนั้นผมได้เขียนเรื่องเสือคลองค้อ เสือโคร่งแห่งห้วยขาแข้ง และเสือดาวอรินทร์-อรัญ ลูกเสือที่จะถูกส่งขาย เสือทั้ง ๓ ตัวอยู่ในการดูแลของศูนย์เพาะเลี้ยงห้วยขาแข้ง เติบโตแข็งแรง จึงได้เข้าไปพูดคุยและเยี่ยมชมที่ศูนย์เพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และเห็นความแตกต่างที่ชัดเจน
เสือโคร่งคลองค้อ เป็นเสือที่แม่ทิ้งไป ปล่อยลูก 3 ตัวอยู่ในโพรงรัง จนเจ้าหน้าที่ไปพบ ลูกเสือตัวหนึ่งตายไปแล้ว อีกสองตัวรวมทั้งคลองค้อถูกส่งไปศูนย์เพาะเลี้ยงห้วยขาแข้ง แต่ไปถึงลูกเสืออีกตัวก็ตายเหลือแต่คลองค้อถูกเลี้ยงจนเป็นเสือหนุ่ม แข็งแรงเช่นทุกวันนี้
ส่วนอรินทร์-อรัญ เป็นลูกเสือดาวขนาด 1 เดือนและสองอาทิตย์ ถูกน๊อคยาให้หลับใหล ยัดไปในกระเปาเดินทางเตรียมส่งออกนอกประเทศและถูกตรวจพบ จึงถูกนำมาอนุบาลและส่งต่อมาที่ศูนย์เพาะเลี้ยงห้วยขาแข้ง ดูแลจนทุกวันนี้เติบใหญ่เป็นเสือหนุ่มกำลังซนปีนต้นไม้เล่นทุกวัน สัตว์ทุกตัวในศูนย์เพาะเลี้ยงมีการดูแลโภชนาการ การดูแลสุขภาพอย่างใกล้ชิด จึงทำให้เสือสามตัวสมบูรณ์แข็งแรง อารมย์แจ่มใส
ทั้งสองเรื่องนี้อาจจะทำให้ท่านผู้อ่านได้คำตอบบ้างว่าเสือที่ไปจากวัดหลวงตามหาบัว มีอาการอย่างไร ต่างจากคลองค้อและอรินทร์-อรัล อย่างมาก
ความสดใสของเสือดาวกำพน้าแม่อรินทร์-อรัญ
เลือดชิด…สาเหตุที่เสืออ่อนแอ
น.สพ.ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่ากรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ ให้ข้อมูลเรื่องเลือดชิดนี้ว่ามันจะส่งผลให้สัตว์มีความผิดปกติ อ่อนแอ มีภูมิคุ้มกันโรคน้อย เสือที่มาจากวัดหลวงตามหาบัวญาณสัมปันโณ กับเสืออื่นที่อยู่ในศูนย์เพาะเลี้ยงเดียวกัน จึงมีสุขภาพที่ต่างกัน ยิ่งมาเจอไข้หัดสุนัข ยิ่งตายได้ง่าย
รักษาเสือที่เหลืออย่างไร?
นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่ากรมอุทยานแห่งชาติฯ ให้ข้อมูลในกระบวนการรักษาคือ
1 มีการคัดแยกเสือโคร่งตามกลุ่มอาการโดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มอาการปกติไม่แสดงอาการ , กลุ่มเริ่มแสดงอาการเล็กน้อยและ กลุ่มแสดงอาการปานกลางถึงรุนแรงเพื่อให้ง่ายต่อการตรวจติดตามและการประเมินการรักษา
2 การใช้วัคซีนป้องกันโรคไข้หัดสุนัข โดยในเบื้องต้นได้ประสานกับคณะสัตว์แพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินงานร่วมกับทีมสัตวแพทย์ของสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าฯ เก็บอุจจาระและตัวอย่างเลือดส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการที่ศูนย์เฝ้าระวังและติดตามโรคจากสัตว์ป่า สัตว์ต่างถิ่นและสัตว์อพยพ คณะสัตว์แพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อทราบผลสัตว์แพทย์ของสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าฯจะพิจารณาให้วัคซีนป้องกันโรคไข้หัดสุนัขตามขั้นตอนและมีการติดตามผลเป็นระยะ
3 การดูแลเสือโคร่งที่ป่วยรักษาโรคที่มีอาการป่วยสัตว์แพทย์ดำเนินการให้รักษาและให้ยาตามอาการสำหรับเสือที่มีอาการหายใจเสียงดัง มาจากอาการอัมพาตลิ้นกล่องเสียง และมีโอกาสตายหากไม่ได้รับการรักษาสัตว์แพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดเป็นรายกรณีโดยอาจเชิญสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาร่วมรักษาหรือให้คำแนะนำ
4.มีการควบคุมให้มีระบบความปลอดภัยทางชีวอนามัยภายในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าทั้งสองแห่งอย่างเข้มงวด พร้อมการปรับปรุงคอกให้มีอากาศถ่ายเทสะดวกและเพิ่มพื้นที่กรงคอก(สนาม)ให้เสือโคร่งและส่งเสริมพฤติกรรมเพื่อลดความเครียดของเสือโคร่ง
5 มีสัตว์แพทย์ปฏิบัติงานประจำสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าทั้ง 2 แห่งพร้อมสัตว์แพทย์จากสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าจะสนับสนุนและติดตามการดูแลทุกสัปดาห์โดยมีการประชุมเพื่อประเมินผลการดูแลรักษา
ซากเอาไปไหน?
หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้างแจ้งว่าสำหรับซากเสือที่ตาย ไม่มีการชำแหละซากใดๆทั้งสิ้น มีการแช่ในถังที่แช่น้ำยา แล้วฝังลงดินทั้งถังลึกจากปากถังในพอประมาณ
…………………………………………………………….
จะเห็นว่าอาการลุกลามของโรคในสัตว์ป่านั้นรุนแรงจนบางกรณีก็ป้องกันไม่ทัน ในอดีตเราเคยมีกระทิงตายก็มาจาโรคของสัตว์ป่า ดังนั้นการห้ามไม่ให้เลี้ยงสัตว์ในพื้นที่อนุรักษ์ หรือการห้ามไม่ให้นำสัตว์เลี้ยงข้าเขตป่าอนุรักษ์ก็ด้วยมูลเหตุเหล่านี้นี่เอง เราไม่เห็นถึงพิษภัยมันจนกระทั่งมีสัตว์ป่าล้มตาย…@
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: