นายกเล็กยะลา เผย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศใกล้ “ถังแตก” หลังมีปัญหาจัดเก็บรายได้จากนโยบายของรัฐ แนะรัฐบาลเร่งแก้ไขก่อนจะล้มละลาย
เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2563 ที่สำนักงานเทศบาลนครยะลา นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา เปิดเผยว่า สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยกตัวอย่าง อบต. กับเทศบาล จะมีที่มาของรายได้ 3 ทาง คือ ภาษีโรงเรือน ซึ่งตอนนี้ก็เป็นเป็นกฎหมายที่ดินและสิ่งก่อสร้าง อันที่สองคือภาษีที่รัฐบาลจัดเก็บแล้วแบ่งให้ เช่นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิต อันที่สามคือส่วนที่เป็นเงินอุดหนุน ซึ่งตอนนี้ทั้ง 3 ส่วนเกิดปัญหาทั้งหมด คือภาษีโรงเรือนซึ่งที่ผ่านมาเทศบาลจัดเก็บเอง รัฐบาลก็ไปสั่งยกเลิกกฎหมายเก่าแล้วไปออก พรบ ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง ใหม่ โดยใช้เหตุผลว่าจะทำให้มีรายได้กับทางเทศบาลและ อบต.มากขึ้น แต่ในการปฎิบัติได้รับเสียงคัดค้านจากประชาชนเป็นอย่างมาก รัฐบาลจึงได้สั่งชะลอ จึงทำให้เทศบาลและ อบต. ไม่สามารถเก็บรายได้มาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 2 ปี และเพิ่งจะมีคำสั่งให้จัดเก็บได้ในเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา และรัฐบาลก็ได้สั่งให้ลดภาษีเพื่อเป็นการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน เนื่องจากอยู่ในช่วงโควิท โดยให้ลดภาษี 90 เปอร์เซ็นต์ เหลือเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ที่เข้าท้องถิ่น รายได้ที่ท้องถิ่นเก็บเองก็แทบจะหายไป ในส่วนที่รัฐจัดเก็บแล้วแบ่งมาให้คือภาษีมูลค่าเพิ่ม ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ แต่ในเดือนสิงหาคมนี้ รัฐบาลโอนมาให้ลดไปกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ จากที่เคยได้เดิม ซึ่งเทศบาล และอบต.ทั่วประเทศก็ได้รับผลกระทบเหมือนกัน ภาษีสรรพสามิตก็หายไปจากกรณีการระบาดโควิท และในส่วนของเงินอุดหนุนที่รัฐบาลให้ ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ เป็นเงินที่ท้องถิ่นไม่สามารถนำออกมาใช้ได้ เพราะเป็นเงินที่จะต้องใช้จ่ายตามที่รัฐบาลกำหนดไว้
“ปีงบประมาณ 2564 จะมีปัญหามาก เพราะเงินจะหายไปเยอะมาก ยกตัวอย่างเทศบาลนครยะลา มีนักเรียนที่จะต้องดูแลค่าอาหารกลางวัน เงินในส่วนนี้ถูกตัดหายไปกว่า 1 พันคน รวมทั้งในเรื่องของนมโรงเรียน ที่เป็นเรื่องสำคัญมาก วันนี้นมโรงเรียนที่ได้รับงบประมาณจากสำนักงบประมาณให้เทศบาลนครยะลา ขาดไปกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ และยังจะมีเงินผู้สูงอายุ ที่ก็ไม่เพียงพอ เงินอุดหนุนเหล่านี้เฉพาะเทศบาลนครยะลา หายไปเกือบ 70 ล้านบาท ซึ่งทางรัฐหวังว่า จะให้เทศบาลนครยะลานำเงินสะสมของเทศบาลไปจ่าย จึงขอเรียนให้ทราบว่า เงินสะสมที่ทางเทศบาลเก็บเอาไว้ ได้มาจากเงินที่เหลือจากการประกวดราคาต่างๆ นำมาสะสมเอาไว้ เพื่อใช้ในเวลาที่เกิดภัยพิบัติ หรือเหตุการณ์ฉุกเฉิน และเมื่อสะสมได้เงินก้อนโตขึ้นมาก็จะสามารถนำไปโครงการขนาดใหญ่ที่สามารถพลิกเมืองได้ ซึ่งตนมองว่าการที่จะให้นำเงินสะสมของเทศบาลออกมาใช้ เป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรม ทุกวันนี้รัฐบาลพยายามผลักภาระให้กับท้องถิ่น ซึ่งรัฐควรที่จะสนับสนุนจัดสรรงบให้ได้ตามนโยบายของรัฐเอง ทางเทศบาลมีสองทางให้เลือกคือถ้าไปช่วยดูแลเด็กก็จะไม่มีเงินเดือนไปจ่ายพนักงาน ถ้าเราจ่ายเงินเดือนพนักงานก็จะไม่สามารถดูแลเด็กได้ ก็จะเกิดปัญหา กรณีแบบนี้ท้องถิ่นทั่วประเทศกำลังได้รับผลกระทบเหมือนกัน และในหลายเทศบาลที่ไม่มีเงินสำรอง ก็อาจจะต้องมีการปลดพนักงาน หรือชะลอการรับโอนข้าราชการ” นายกเทศมนตรีนครยะลา กล่าว
นายพงษ์ศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่า ส่วนการแก้ไขในเรื่องนี้ ตนเองมองว่ารัฐบาลจะต้องปลดล็อคกระทรวงมหาดไทย โดยเฉพาะในเรื่องการใช้จ่ายเงินสะสม เพราะวันนี้ถึงแม้จะมีเงินแต่ก็นำไปใช้ไม่ได้ เพราะถูกกันเอาไว้ จะต้องคลายล็อคก่อน รวมทั้งขณะนี้รัฐบาลได้ออก พรก.เงินกู้ เงินส่วนนี้ส่วนหนึ่งควรจะนำมาอุดหนุนท้องถิ่นเฉพาะในส่วนที่เป็นนโยบายของรัฐ ไม่ว่าจะเป็น อาการกลางวันเด็ก นมโรงเรียน เงินผู้สูงอายุ เบี้ยยังชีพคนพิการ ที่รัฐควรจะดูแลก่อน และในส่วนที่สามตนมองว่ารัฐบาลควรจะมีการปฎิรูประบบราชการทั้งหมด วันนี้มีความซ้ำซ้อนของระบบค่อนข้างมาก ตนเองเชื่อว่าในปีนี้จะมีหลายๆเทศบาล หรือ อบต.จะไม่มีเงินจ่ายพนักงาน ที่จะเป็นปัญหา ซึ่งในส่วนของเทศบาลนครยะลา ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาก็ได้มีการสั่งลดรายจ่ายประจำลงมา แต่ก็ยังกระทบพอสมควร
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: