กอ.รมน.ภาค 4 สน. แถลงร่วม 3 ฝ่าย เดินหน้าพหุวัฒนธรรมชูแนวคิด SATU PADU “เราคือพี่น้องกัน” พร้อมขยายผลชุมชนบำบัดยาเสพติดทั่ว จชต.
วันนี้ (3 ธันวาคม 2563) เวลา 09.30 น. ที่ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี พันเอก วัชรกร อ้นเงิน รองโฆษก กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า พร้อมด้วย พันตำรวจเอก วศิน จินตเสถียร ผู้กำกับการ(สอบสวน) กองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ /ผู้ช่วยโฆษกกองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ นาย ธีรพงศ์ เพชรรัตน์ ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ / โฆษกศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมแถลงข่าวแผนเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ และงานสำคัญเร่งด่วน ชูพหุวัฒนธรรมภายใต้แนวคิด SATU PADU “เราคือพี่น้องกัน” พร้อมขยายผลชุมชนบำบัดยาเสพติดทั่วจังหวัดชายแดนภาคใต้
โดยพันเอก วัชรกร อ้นเงิน รองโฆษก กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เปิดเผยว่าตามที่ ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4.ได้มอบแนวทางการดำเนินงานตามแผนเสริมสร้างสันติสุข จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปี 2564 ซึ่งเป็นการต่อยอดความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมจากปีที่ผ่านมา โดยในปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินงานตามแผนเสริมสร้างสันติสุขฯ และนโยบายงานสำคัญเร่งด่วนจนมีความก้าวหน้ามาโดยลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง กอ.รมน.ภาค 4 สน. ได้กำหนดแคมเปญใหม่เพื่อสร้างกระแสการจดจำและการตอบรับ ในการเรียนรู้และยอมรับการอยู่ร่วมกันแบบสังคมพหุวัฒนธรรมเหมือนเช่นในอดีตภายใต้แนวคิด “SATU.PADU”.เราคือพี่น้องกัน โดยหลังจากนี้จะมีการจัดกิจกรรมในหลากหลายรูปแบบ อาทิ การรณรงค์เปลี่ยนรูปโปรไฟล์เป็นสัญญาลักษณ์ “SATU PADU” เราคือ
พี่น้องกัน รวมไปถึงการเชิญชวนพี่น้องประชาชนทุกศาสนามาร่วมทำกิจกรรมในวันสำคัญๆ ด้วยกัน เช่น งานแต่งงาน งานเมาลิด งานวันอาซูรอ และการร่วมละศีลอด เป็นต้น โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนธันวาคมเป็นต้นไป
สำหรับงานการแก้ไขปัญหายาเสพติด เป็นการสานต่อความสำเร็จจากปีที่ผ่านมา โดยเน้นการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบในทุกมิติ โดยใช้มาตรการทางกฎหมายกับผู้ค้าในทุกระดับ และใช้มาตรการทางสังคมกับผู้เสพยาเสพติดให้เข้าสู่กระบวนการบำบัดฟื้นฟู พัฒนาอาชีพ และการสร้างพลังภาคประชาชนให้เป็นเครือข่ายในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในหมู่บ้านและชุมชน ตลอดจนแม่ทัพภาคที่ 4 /ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4.ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน จึงได้อนุมัติแนวทางในการขับเคลื่อนกระบวนการชุมชนบำบัดยาเสพติด หรือ CBTX.ในพื้นที่ จชต. โดยมีตำบลต้นแบบที่ ต.มะนังยง อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นชุมชนเข้มแข็งที่ใช้กระบวนการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดโดยใช้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง ภายใต้การมีส่วนร่วมของคนในชุมชนทั้ง 5 ขั้นตอน ตั้งแต่กระบวนการค้นหาผู้เสพยาเสพติด การคัดแยก การบำบัดฟื้นฟู บำบัดเสร็จแล้วมีการติดตาม จนถึงกระบวนการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อส่งเสริมอาชีพให้บุคคลเหล่านี้ได้กลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข ซึ่งเริ่มต้นจากภายในชุมชนเอง ทั้งพี่น้องประชาชนที่เป็นผู้ปกครอง ทั้งผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ซึ่งถือว่าเป็นโมเดล และเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับชุมชนอื่นๆ โดยในปี 2564 มีเป้าหมายที่จะทำการขยายชุมชนต้นแบบให้ครอบคลุมทั่วพื้นที่ จชต. อย่างน้อยอำเภอละ 1.ตำบล ซึ่งกระบวนการ CBTX.ถือว่าเป็นกระบวนการที่สำคัญที่จะสามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด เพราะคนในชุมชนมีความรักความสามัคคี และร่วมกันขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชนอย่างเข้มแข็ง ปัญหาทุกอย่างจะคลี่คลายและหมดไป
ด้านการช่วยเหลือประชาชน จากสถานการณ์ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในหลายพื้นที่ของภาคใต้ โดย มทภ.4 ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพภาคที่ 4 ได้สั่งการให้หน่วยทหารในพื้นที่ภาคใต้ บูรณาการการช่วยเหลือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเข้าให้การช่วยเหลือพี่น้องประชาชนโดยทันทีเมื่อเกิดเหตุการณ์ พร้อมทั้งจัดเตรียมถุงยังชีพและชุดแพทย์เข้าช่วยเหลือประชาชน เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนให้ได้มากที่สุด โดยสามารถแจ้งขอความช่วยเหลือได้โดยตรงที่ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพภาคที่ 4 โทร 075-383-405 หรือหน่วยทหารในพื้นที่ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
สำหรับในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยมณฑลทหารบกที่ 42 (พื้นที่สงขลา) โทร 074-586685, ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยมณฑลทหารบกที่ 46 (พื้นที่ปัตตานี) โทร 073-340141, และศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองพลทหารราบที่ 15 โทร.073-424021 (พื้นที่จังหวัดยะลา และนราธิวาส)
ขณะที่ พันตำรวจเอก วศิน จินตเสถียร ผู้กำกับการ (สอบสวน) กองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ /ผู้ช่วยโฆษกกองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ชี้แจงความคืบหน้าการปฏิบัติที่สำคัญว่า ในห้วงเดือน ตุลาคม 2563 – 30 พฤศจิกายน 2563 เกิดเหตุรวม 27 เหตุการณ์ แยกเป็นเหตุก่อความรุนแรง 7 เหตุ, อาชญากรรมทั่วไป 15 เหตุ, เหตุก่อกวน 5 เหตุ และจากเหตุความมั่นคงทำให้มีผู้บาดเจ็บรวมทั้งสิ้น 8 ราย ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการสืบสวนสอบสวน ซึ่งกองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้บูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่าง ตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง จนมีผลเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นการทำงานของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ว่าจะทำงานด้วยความโปร่งใส่ ตรวจสอบได้ พร้อมที่จะทุ่มเทการทำงาน เพื่อสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับประชาชน ภายใต้แนวคิด “องค์กรเข้มแข็ง สร้างความ ยุติธรรม ประชาชนอยู่อย่างปลอดภัย” โดยหวังว่าสันติสุขจะกลับมาในพื้นที่โดยเร็ววันภายใต้แนวคิด “องค์การเข้มแข็ง สร้างความยุติธรรม ประชาชนอยู่อย่างปลอดภัย”
ทางด้าน นาย ธีรพงศ์ เพชรรัตน์ ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ / โฆษกศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้สรุปผลการปฏิบัติงานรวมถึงความคืบหน้าภารกิจงานของ ศอ.บต. ว่า จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้น พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มีความห่วงใยพี่น้องประชาชน ที่อาศัยอยุ่บริเวณพื้นที่ลุ่ม โดยขอให้ทุกคนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด ให้ดูแลสัตว์เลี้ยง พร้อมทั้งระวังสัตว์มีพิษที่มากับน้ำ สำหรับพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนให้ขอความช่วยเหลือหน่วยงานที่ใกล้เคียงได้ทันที นอกจากนี้ ยังมีความเป็นห่วงเรื่องสถานการณ์โรคโควิด-19 ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาเราจะประสบความสำเร็จในเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหา แต่ก็ยังคงต้องขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน ให้มีความระมัดระวัง การ์ดอย่าตก ปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด สำหรับเรื่องผลกระทบที่ผ่านมา ทาง ศอ.บต.พยายามช่วยเหลือดูแลพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยมีการส่งแรงงานในพื้นที่ไปทำงานที่จังหวัดเพชรบุรีแล้วจำนวน 2 รุ่นตามโครงการเปิดพื้นที่ประเทศไทย รองรับแรงงาน จชต. สู่การมีงานทำและมีรายได้ หลังสถานการณ์โรคติดเชื้อ COVID –19 นอกจากนี้ยังมีการประสานการให้ความช่วยเหลือนักศึกษาไทยในต่างประเทศจำนวน 11,069 คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศอียิปต์, มาเลเซีย และอินโดนีเซียต่างประเทศ ให้สามารถเทียบโอนหน่วยกิตเพื่อกลับมาศึกษาต่อที่ประเทศไทยภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย นอกจากนี้ ศอ.บต. ยังได้มีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการรุ่นใหม่ โดยร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อการเติบโตอย่างมั่งคง และยั่งยืน ซึ่งเป็นความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถ และถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ผู้ประกอบการ SME ในพื้นที่ พร้อมผลักดันให้ได้เข้าร่วมกิจกรรมและโครงการต่างๆ ของ สสว.และ ศอ.บต. โดยล่าสุดได้เปิดศูนย์ให้บริการ SME ครบวงจร : OSS สสว. ประจำจังหวัดยะลา เพื่อเป็นศูนย์ให้บริการ ให้คำปรึกษาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ในการหารือขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ในการส่งเสริมอาชีพ และเป็นเพื่อนคู่คิด ช่วยแก้ไข แนะนำ และสนับสนุนธุรกิจในพื้นที่ ให้ประชาชนมีอาชีพและรายได้ที่มั่นคงรวมทั้งเรื่องการประกอบอาชีพอีกด้วย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: