ยะลายังไม่พบผู้ป่วย “พิษสุนัขบ้า” ในขณะที่ สสจ.ยะลาเตือน โรคพิษสุนัขบ้า รักษาไม่ได้ แต่ป้องกันได้
เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2561 นายแพทย์สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา กล่าวว่า โรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย พบมากในสุนัขและแมว โดยติดเชื้อจากการสัมผัสน้ำลายของสัตว์ที่มีเชื้อ เช่น ถูกกัด ข่วน หรือเลียผิวหนังที่มีบาดแผล คนสามารถติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าได้จากการถูกกัด ข่วนจากสุนัขหรือแมว เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกาย ระยะการแสดงอาการของโรคนั้นไม่แน่นอน บางรายอาจนานเป็นปี เมื่อผู้ป่วยมีอาการแล้ว จะรักษาไม่หายและเสียชีวิตทุกรายทั้งนี้สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าของไทยขณะนี้ยังเป็นที่น่ากังวลอยู่ กรมปศุสัตว์ประกาศให้ 15 จังหวัดเป็นเขตระบาดพบโรคพิษสุนัขบ้าในคน(พื้นที่สีแดง) ซึ่งพบผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว 4ราย (สุรินทร์ นครราชสีมา สงขลา ตรัง) การเสียชีวิตส่วนใหญ่ของผู้ป่วยโรคนี้ เกิดจากการไปรับการรักษาเมื่ออาการของโรคเริ่มแสดงแล้ว ทำให้สายเกินกว่าจะยับยั้งเชื้อได้ทัน ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากความชะล่าใจในการป้องกัน และรักษาโรคเบื้องต้น คิดว่า ไม่เป็นไร เมื่อถูกสุนัข หรือแมวข่วนเป็นแผลเล็กน้อย จึงไม่ทำความสะอาดแผลเบื้องต้น หรือไม่เข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้ครบ
“โรคพิษสุนัขบ้า เกิดจากเชื้อไวรัสเรบี่ส์เป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์สู่คน โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์ที่เป็นตัวนำโรคที่สำคัญ คือ สุนัขและแมว และอาจพบในสัตว์อื่นๆ เช่น กระรอก กระต่าย ชะนี หนู ลิง เป็นต้น ติดต่อโดยสัตว์ที่มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า กัด ข่วนหรือ เลียตรงที่มีรอยแผล รอยข่วนหรือน้ำลายเข้าตา ปาก จมูก อาการเริ่มแรกของผู้ป่วย คือ ปวดศรีษะ มีไข้ต่ำๆ เจ็บคอ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ต่อมามีอาการคันจากบริเวณแผลที่ถูกกัด ปวดแสบปวดร้อนแล้วลามไปส่วนอื่น นอกจากนี้ยังมีอาการกระสับกระส่าย กลัวแดดกลัวลม ไม่ชอบเสียงดัง กลืนลำบาก ไม่อยากดื่มน้ำ กลัวน้ำ แน่นหน้าอกหายใจไม่ออก ชักเกร็ง อัมพาต หมดสติ และเสียชีวิต ภายใน 2 – 7 วัน นับจากวันเริ่มแสดงอาการจึงขอให้ประชาชนระมัดระวัง รู้จักการป้องกันตนเอง ดังนี้ คือ อย่าแหย่ อย่าเหยียบ อย่าแย่ง อย่าหยิบ อย่ายุ่งกับสุนัขคนอื่น หรือสุนัขที่มีการผิดปกติ และเมื่อถูกสุนัข หรือแมว ข่วน หรือกัด ควรรีบล้างแผลด้วยน้ำ และสบู่ทันทีหลายๆครั้ง และใส่ยาเบตาดีนหลังล้างแผลเพื่อลดการติดเชื้อโรค และรีบพบแพทย์โดยทันที เพื่อรับการวินิจฉัยรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า หากได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ควรไปตามนัดทุกครั้ง เพื่อการป้องกันสูงสุด เมื่อถูกกัด ควรกักสุนัข และแมวตัวที่กัดข่วน ไว้เพื่อสังเกตอาการ 10 วัน หากสัตว์ที่กักตายลงให้รีบแจ้งปศุสัตว์ในพื้นที่ เพื่อการส่งตรวจหาโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ ทั้งนี้เจ้าของสุนัข เเละเเมวควรนำสัตว์เลี้ยงของท่านเข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นประจำทุกปี เพื่อการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ แต่อย่างไรก็ตามขณะนี้ในพื้นที่จังหวัดยะลายังไม่พบผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้าแต่อย่างใด” นายแพทย์สงกรานต์ กล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: