ชลประทานยะลา ประชุมกลุ่มย่อย ศึกษาความเหมาะสม และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โครงการประตูระบายน้ำกรงปินัง จ.ยะลา
เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2561 ที่ห้องประชุมศรีญาลอ องค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา นายฉัตรชัย ชูกลิ่น ปลัดอำเภอเมืองยะลา ได้เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 1 พื้นที่ 2 อำเภอเมืองยะลา ตามโครงการศึกษาความเหมาะสม และผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการประตูระบายน้ำกรงปินัง จ.ยะลา ที่ทางจังหวัดยะลา และกรมชลประทาน ได้มอบหมายให้กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาจำนวน 2 บริษัท ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของโครงการดังกล่าว ให้บรรลุวัตถุประสงค์และเกิดประโยชน์สูงสุดในการดำเนินงาน โดยมีนายชูศักดิ์ สุทธิ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจังหวัดยะลา และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม พร้อมแลกเปลี่ยนข้อมูลกับผู้แทนชุมชนต่างๆในพื้นที่
นายไพโรจน์ เตชะเจริญสุขจีระ วิศวกรโยธาชำนาญการ กรมชลประทาน เปิดเผยว่า ได้มีการศึกษาถึงความเหมาะสม และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ รายงานอีไอเอจะต้องสงไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะอยู่ในกระบวนการศึกษาและออกแบบต่อไป ส่วนในปีหน้าก็จะเป็นการตั้งแผนสำรวจออกแบบของโครงการต่อไป ส่วนโครงการนี้ถ้าผ่านความเห็นชอบ ก็จะสามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ประมาณปี 2564 หรือ 2565 โดยจะใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี
“ข้อกังวลของชาวบ้าน หลังจากได้มีการพูดคุยกับประชาชนในพื้นที่ อ.กรงปินัง พบว่าในช่วงแรกชาวบ้านมีความเข้าใจผิดถึงลักษณะของโครงการ หลายคนเข้าใจว่าเป็นเขื่อน ที่จะมีพื้นที่น้ำท่วมเหมือนเขื่อนบางลาง ก็ได้ชี้แจงไปยังชาวบ้านว่า โครงการนี้ไม่ใช่เขื่อน เป็นประตูระบายน้ำ ผลกระทบก็จะมีแค่บริเวณหัวงาน ที่จะต้องมีการจัดซื้อที่ดิน เพื่อสร้างหัวงาน และใรส่วนของเหนือลำน้ำขึ้นไป ก็จะมีบางส่วนที่เดิมจะเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ชลประทานก็จะมีการสร้างคันกั้นน้ำปิดเพื่อไม่ให้น้ำเข้าท่วมพื้นที่ชาวบ้าน ซึ่งในครั้งแรกชาวบ้านเข้าใจว่าหากมีโครงการนี้ น้ำก็จะไปท่วมมัสยิด ซึ่งได้มีการชี้แจงไปว่า จะมีการเก็บน้ำที่ต่ำกว่าระดับตลิ่ง ที่จะไม่เข้าท่วมมัสยิดแน่นอน” นายไพโรจน์ กล่าว
ด้านนายชูศักดิ์ สุทธิ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจังหวัดยะลา กล่าวว่า สำหรับโครงการนี้ลักษณะไม่ได้เป็นเขื่อนตามที่ประชาชนเข้าใจ เป็นประตูระบายน้ำ 8 ช่องบาน ขนาด 12.5 x 5 เมตร ลักษณะเหมือนประตูระบายน้ำปากพนัง หรือประตูระบายน้ำบางนรา ไม่ใช่เขื่อนเก็บกักน้ำ เหมือนเขื่อนบางลาง จะมีการทำคันกั้นน้ำด้านหน้าป้องกันน้ำท่วม ซึ่งจะไม่ไปท่วมพื้นที่ของประชาชน ตามที่หวั่นเกรงแต่อย่างใด
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: