X

“ สหกรณ์ ” ร่วมใจลดภาระหนี้สินและเยียวยาสมาชิกจากผลกระทบ COVID-19

“ สหกรณ์ ” ร่วมใจลดภาระหนี้สินและเยียวยาสมาชิกจากผลกระทบ COVID-19

ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมครั้งยิ่งใหญ่จากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่มีการระบาดใหญ่ (Pandemic) ไปทั่วโลก (ตามประกาศขององค์การอนามัยโลก, 11 มีนาคม 2563) ขยายผลเข้าสู่ประเทศไทย โดยตรวจพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID – 19) เป็นรายแรก เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2563

สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโรคเป็นไปอย่างรวดเร็ว นำไปสู่แถลงการณ์สำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ (ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๖๓ เล่ม ๑๓๗ ตอนที่ ๒๔ ก)

“ เจ็บเพื่อจบ ”
คำกล่าวสั้น ๆ เพื่อสนับสนุนมาตรการของรัฐบาลในการต่อสู้กับสภาวะโรคระบาด COVID – 19 โดยการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ฯ สั่งปิดชั่วคราว สำหรับกิจการ ธุรกิจการค้า สถานศึกษา และ พื้นที่สาธารณะต่าง ๆ ที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคร้าย ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชน และ ก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้จากการต้องหยุดงานของกิจการที่ถูกสั่งห้าม ความเสียหายทางเศรษฐกิจรุนแรงเกินที่บางท่านจะทนรับความ “เจ็บ” ที่ไม่รู้ว่าจะนานเพียงใด หรือจนกว่าจะหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโรคนี้ได้

จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ที่จะต้องเยียวยาช่วยเหลือในการครองชีพของประชาชน ให้มีชีวิตรอดอยู่ต่อไป ที่สำคัญ ต้องอาศัยความร่วมมือของทุก ๆ คนในสังคม ควรรักษาวินัย โดยพร้อมใจและมีวินัยในการปฏิบัติตามประกาศของทางการ( ภายใต้ตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์) เชื่อมั่นว่า รัฐบาลในฐานะผู้ปกครองประเทศ คงไม่ปล่อยให้ประชาชนต้องทนเจ็บไปจนตาย อย่างแน่นอน เห็นได้จากนโยบายเร่งด่วนนำไปสู่การปฏิบัติในขณะนี้ คือ การจัดสรรงบประมาณจำนวนมหาศาลเพื่อจ่ายเงินเยียวยาให้ผู้ได้รับผลกระทบรายละ 5,000 บาท เป็นรายเดือน รวม 3 เดือน เพื่อใช้ดำรงชีพในช่วงขาดรายได้ และ กำลังทยอยมาตรการช่วยเหลือเยียวยาให้ครอบคลุมทุกสาขาอาชีพของประชาชน

ด้วย ความช่วยเหลือจากภาครัฐมีข้อจำกัดด้านงบประมาณโดยการไปกู้ยืมเงินจากต่างประเทศซึ่งก่อให้เกิดภาระหนี้สิน จึงจำเป็นที่ทุกภาคส่วนสมัครใจเป็นน้ำใจแบบไทย ๆ ที่ชาวตะวันตกยังต้องเหลียวมองและชื่นชมเป็นแบบอย่าง บนพื้นฐาน “ความเอื้ออาทร” เกิดกระแสการแบ่งปันแจกจ่ายช่วยเหลือเยียวยาเพื่อนร่วมชาติ ให้ก้าวพ้นวิกฤติการณ์ไปด้วยกัน ในการนี้รวมไปถึง “ขบวนการณ์สหกรณ์” เป็นเครื่องมือสำคัญอีกหนทางหนึ่ง โดยจะขอกล่าวถึงรายละเอียดในท้ายบทความนี้

เพื่อให้เห็นสภาพผลกระทบได้ชัดเจน จากวิกฤติการณ์ครั้งใหญ่ ภายใต้สภาวะโรคระบาดที่รุนแรง จึงขอนำข้อมูลสรุปปรากฎการณ์ COVID – 19 ในประเทศไทย (อ้างอิง : กรมควบคุมโรคติดต่อ) ตามตารางต่อไปนี้.-
https://drive.google.com/file/d/1ywOwJzQzmrjoLavwRD9OofjmEqCj59-l/view?usp=sharing


บทบาทของสหกรณ์ (การมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาและผลกระทบจากวิกฤติ COVID – 19)
“สหกรณ์” เป็นองค์กรกลางดำเนินธุรกิจเพื่อสังคม จัดตั้งขึ้นจากการรวมกลุ่มบุคคลในสาขาอาชีพต่าง ๆ ยื่นขอจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ต่อ นายทะเบียนสหกรณ์ ซึ่งหมายถึง อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ หรือ สหกรณ์จังหวัดแต่ละจังหวัด ทุก ๆ จังหวัด มีอำนาจหน้าที่รับจดทะเบียนสหกรณ์ (ในฐานะรองนายทะเบียนฯ ผู้ได้รับมอบอำนาจ ฯ ) เมื่อได้รับจัดตั้งเป็น “สหกรณ์” ซึ่งแบ่งตามประเภทต่าง ๆ ภายใต้พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 กำหนดให้มีการรับจดทะเบียนสหกรณ์ได้ 7 ประเภท แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ (1) สหกรณ์ภาคการเกษตร ได้แก่ สหกรณ์การเกษตร , สหกรณ์ประมง , สหกรณ์นิคม และ (2) สหกรณ์นอกภาคการเกษตร ได้แก่ สหกรณ์ออมทรัพย์ , สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน , สหกรณ์ร้านค้า และ สหกรณ์บริการ

กล่าวได้ว่า สหกรณ์ทุกประเภทต่างมีจุดมุ่งหมายในการดำเนินกิจการ เพื่ออำนวยประโยชน์ตอบสนองความต้องการแก่มวลสมาชิก โดยสามารถดำเนินธุรกิจได้หลายด้านเป็นไปตามประเภทของสหกรณ์ที่จดทะเบียน ฯ เช่น ธุรกิจสินเชื่อ , ธุรกิจรวบรวมและแปรรูปผลผลิต , ธุรกิจจัดหาสินค้าอุปโภค/บริโภคและปัจจัยการผลิต , การส่งเสริมอาชีพ และ รับฝากเงิน ฯลฯ สหกรณ์จะดำเนินธุรกิจด้านใด จะระบุไว้ชัดเจนในข้อบังคับของแต่ละสหกรณ์ และ มีธุรกิจหนึ่งที่สหกรณ์ทุกแห่งเปิดให้บริการแก่สมาชิก ธุรกิจหลักที่สำคัญ คือ ธุรกิจสินเชื่อ (ให้สมาชิกกู้ยืมเงิน) ทั้งนี้ ต้องดำเนินการให้ถูกต้องเป็นไปตามข้อกำหนดและกฎหมาย ที่สำคัญได้แก่ พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 , คำสั่ง/ประกาศ/คำแนะนำของนายทะเบียนสหกรณ์ , ข้อบังคับและระเบียบของแต่ละสหกรณ์ , คำแนะนำของหน่วยงานและข้อกฎหมายอื่น ๆ

เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ภายใต้การประกาศมาตรการสู้ภัยโรคระบาดของภาครัฐ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ มอบนโยบายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ออกมาตรการช่วยเหลือบรรเทาภาระหนี้สินสมาชิกสหกรณ์ โดยนายทะเบียนสหกรณ์ (นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ) ประกาศชวนเชิญและขอความร่วมมือสหกรณ์ทั่วประเทศให้ผ่อนผันการชำระหนี้จากสมาชิก โดยการขยายเวลาชำระหนี้ การพักชำระหนี้ชั่วคราว ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ รวมทั้งการหักชำระค่าหุ้นโดยปรับลดหรืองดชำระค่าหุ้นรายเดือนเป็นการชั่วคราว หรือ การงดหักชำระค่าหุ้นตามสัดส่วนแห่งเงินกู้ จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ปกติ ในเบื้องต้นประมาณการไว้ว่าจะส่งผลให้มีเงินหมุนเวียนทางเศรษฐกิจได้เฉลี่ยครัวเรือนละ 20,150 บาท โดยประชาชนที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ได้รับประโยชน์ 5.79 ล้านคน จากต้นเงินกู้ที่ได้รับจากสหกรณ์ 1,296,843 ล้านบาท

นอกจากนั้น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ได้ขยายเวลาส่งชำระหนี้ให้กับสหกรณ์การเกษตรที่เป็นลูกหนี้ ช่วยแก้ไขการผิดนัดชำระหนี้ของสหกรณ์ 710 แห่ง มูลหนี้ 48,800 ล้านบาท รวมทั้งกรมส่งเสริมสหกรณ์ในฐานะเจ้าหนี้ของสหกรณ์ ในการบริหารเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ ได้ขยายเวลาส่งชำระหนี้แก่สหกรณ์ 917 แห่ง ส่งผลให้สมาชิกลูกหนี้สหกรณ์ จำนวน 108,740 ราย ได้รับการผ่อนผันชำระหนี้ รายละ 24,000 บาท และ กลุ่มเกษตรกร 1,392 กลุ่ม ฯ ได้รับการขยายเวลาส่งชำระหนี้เงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรไปจนถึงวันที่ 28 ก.พ. 2564 เพื่อให้มีเงินทุนหมุนเวียนสำหรับเกษตรกรในการประกอบอาชีพเป็นจำนวน 704 ล้านบาท ทั้งนี้จะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมมิให้เกิดความเสียหายที่ร้ายแรงได้ ต่อไป

ณ วันที่เขียนบทความนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ขอความร่วมมือจากสหกรณ์ทั่วประเทศ ช่วยกันเยียวยาผู้ประสบภัย ตามหลักการ “เอื้ออาทร” ซึ่งเป็นหลักยึดถือและปฏิบัติเป็นสากลของสหกรณ์ทั่วโลก (Concern for Community)โดย เริ่มที่การขยายเวลาส่งชำระหนี้ และ พักการชำระหนี้ชั่วคราว ให้กับสมาชิกที่มีหนี้ค้างชำระ

หลายสหกรณ์ที่มีการรวบรวมและแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร บริจาคข้าวสารไปเยียวยาประชาชนในพื้นที่เสี่ยงโดยเฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีการระบาดรุนแรงและต้องประกาศปิดพื้นที่/ปิดหมู่บ้าน (Lock Down) ปริมาณการบริจาคข้าวสาร จำนวน 20 ตัน ได้จากสหกรณ์ 4 แห่ง ได้แก่ 1.สกก.เกษตรวิสัย จก.ร้อยเอ็ด จำนวน 10 ตัน 2.สกก.ปักธงชัย จก.นครราชสีมา จำนวน 2 ตัน 3.สกก.พรหมพิราม จก.พิษณุโลก จำนวน 5 ตัน 4.สกก.เมืองอุตรดิตถ์ จก.อุตรดิตถ์ จำนวน 3 ตัน ได้รวบรวมนำไปแจกจ่ายกลุ่มคนที่ไม่มีรายได้เพียงพอที่จะซื้อหาอาหารในช่วงที่ปิดหมู่บ้าน
ข้อสังเกตหนึ่งในทุกครั้งที่ประเทศชาติประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ “สหกรณ์” เป็นองค์กรสำคัญ มีส่วนร่วมช่วยแก้ไขปัญหาฟันฝ่าปัญหาอุปสรรคต่างๆ เช่น เมื่อเกิดปัญหาผลผลิตการเกษตรราคาตกต่ำถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง ความร่วมมือจากเครือข่ายสหกรณ์ทั่วประเทศช่วยกระจายสินค้าพยุงราคาให้ผลตอบแทนที่ดีช่วยเกษตรกรอยู่รอดได้ ภายใต้หลักการ การช่วยเหลือกันและกัน เอื้ออาทรต่อสังคม การดำเนินกิจการสหกรณ์ต่างจากองค์กรธุรกิจทั่วไปที่มุ่งแต่แสวงหาผลประโยชน์และกำไรสูงสุดเป็นสำคัญ

กล่าวได้ว่า “สหกรณ์” เป็นองค์กรธุรกิจเพื่อสังคมอย่างแท้จริง เห็นได้ชัดในสถานการณ์ความทุกข์ยากของประชาชนจากผลกระทบมาตรการปิดเมืองสู้ภัยโรคระบาด ทุกพื้นที่จะพบเห็นความช่วยเหลือจากสหกรณ์ เริ่มจากการร่วมกันเย็บหน้ากากผ้าแจกจ่ายประชาชนที่ขาดแคลน การบริการสินค้าอุปโภค/บริโภคสั่งซื้อออนไลน์จัดส่งถึงบ้านเพื่อส่งเสริมมาตรการของรัฐบาล “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” กำลังใจจากสหกรณ์หลั่งไหลไปอย่างต่อเนื่อง เป็นความศรัทธาที่ยึดมั่นตามอุดมการและหลักการของสหกรณ์ เพื่อสร้างเสริมความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ทุก ๆคนในสังคม “เราจะผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปด้วยกัน”

* * * * * * * * * * *
เรวัตร : ภาพ/บทความ

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of Rewatr

Rewatr

นายเรวัตร ก่อวงศ์กาญจน์ Admin เว็บไซต์สำนักงานสหกรณ์จังหวัดศรีสะเกษ http://web.cpd.go.th/sisaket/ รับผิดชอบงานด้านการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ การดำเนินงานเพื่อส่งเสริมและพัฒนาสหกรณ์ นำหลักและวิธีการสหกรณ์ไปใช้เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชนในเขตพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ วุฒิการศึกษา 1. ปริญญาตรี สาขา การบริหารการจัดการ (สสบ.) มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ปี 2529 2. ปริญญาตรี ส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์ (สสบ.) มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ปี 2536 3. ปริญญาโท หลักสูตร การจัดการมหาบัณฑิต (กจ.ม.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ปี 2550 คติประจำตัว การยึดมั่นในผลประโยชน์ของแผ่นดิน และ ความถูกต้องเป็นธรรม เป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ ( พระบรมราโชวาท เนื่องในโอกาสวันข้าราชการพลเรือน ปีพุทธศักราช 2539 พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน )