X

“การทำเกษตรผสมผสาน” เส้นทางสู่ความสำเร็จของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมศรีสะเกษ

“การทำเกษตรผสมผสาน” เส้นทางสู่ความสำเร็จของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมศรีสะเกษ

จะมีใครเชื่อว่าพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อหลายสิบปีก่อน ถือว่าเป็นพื้นที่ธุรกันดาร แห้งแล้ง ในอดีตจึงได้ชื่อว่าเป็นจังหวัดที่ยากจนที่สุดในประเทศ จากสถิติรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากร ปี พ.ศ. 2534 เฉลี่ยต่อหัว เพียง 12,087 บาท/ปี จะสามารถเป็นผู้ผลิตน้ำนมดิบและนำส่งให้กับคู่ค้าหลายแห่งรวมทั้งบริษัทแปรรูปนมรายใหญ่ของประเทศ ปริมาณส่งน้ำนมดิบ 17 ตันต่อวันโดยประมาณ จากจังหวัดที่เคยแห้งแล้งและเคยยากจนที่สุดในประเทศไทย สามารถทำการเกษตร (ทำนา) และปศุสัตว์ ควบคู่ ผสมผสานกันอย่างเกื้อกูล
ในปี พ. ศ. 2535 เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ตามโครงการอีสานเขียว เกษตรกรในเขตพื้นที่ตำบลหนองไฮ อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ ได้รับการสนับสนุนให้เกษตรกรเลี้ยงโคนม ครอบครัวละ 3 ตัว รวม 162 ตัว ซึ่งเสมือนเป็นการวางรากฐานการทำเกษตรแบบผสมผสานเกื้อกูลกันระหว่างการปลูกพืช การทำนาและปศุสัตว์ เพื่อให้พออยู่ พอกิน ตามหลักปรัญชาของเศรษฐกิจพอเพียงในปี พ.ศ. 2545 เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม เห็นความสำคัญของการทำเกษตรแบบผสมผสานและมีเกษตรกรสนใจเลี้ยงโคนมเพื่อการพาณิชย์เพิ่มขึ้น ทำให้ปริมาณน้ำนมดิบเพิ่มมากขึ้น จำเป็นต้องมีระบบการบริหารจัดการกลุ่มและน้ำนมดิบที่ซับช้อนมากขึ้น จึงขอรับคำแนะนำจากสำนักงานสหกรณ์จังหวัดศรีสะเกษ ในการนำหลักการ อุดมการณ์ และวิธีการสหกรณ์ ไปใช้บริหารจัดการกลุ่มในรูปแบบของสหกรณ์ เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาการทำกินด้านต่างๆ โดยร่วมกันจัดตั้งและจดทะเบียนเป็นสหกรณ์ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2545 ใช้ชื่อว่า “สหกรณ์โคนมศรีสะเกษ จำกัด” มีที่ทำการตั้งอยู่ เลขที่ 77 ม.6 บ้านโนนหล่อง ตำบลหนองไฮ อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ เป็นสหกรณ์ประเภทสหกรณ์การเกษตร เลขหมายทะเบียนสหกรณ์ ที่ ก 006945 ดำเนินกิจการภายใต้บทบัญญัติกำหนดเป็นกรอบการปฎิบัติ ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542

ปัจจุบัน สหกรณ์โคนมศรีสะเกษ จำกัด มีทุนดำเนินงาน 53,081,783.11 บาท มีสมาชิก 138 คน สมาชิกมีรายได้เฉลี่ย จากการขายน้ำนมดิบให้กับสหกรณ์ 70,000 บาทต่อเดือน (โดยประมาณ) ควบคู่ไปกับการทำนา และ ปลูกพืชผักสวนครัว โดยเกษตรกรจัดสรรพื้นที่ทำกิน ทำคอกสัตว์และแปลงปลูกหญ้าเลี้ยงโค พื้นที่ส่วนที่เหลือ ใช้ปลูกพืชผักสวนครัว พืชหลังนา หากมีที่ดินเหลืออีกก็ใช้เพื่อการทำนา กิจกรรมการเกษตรที่หลากหลาย สามารถนำวัสดุหมุนเวียนใช้ประโยชน์อย่างครบวงจร อาทิเช่น มูลโคนำไปใช้เป็นปุ๋ยเพื่อการปลูกพืชต่าง ๆ ได้แก่ ข้าว พืชผักสวนครัว และปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์นอกจากนั้นยังมีรายได้จากการขายมูลโคแห้งในราคาตันละ 800-1,500 บาท เมื่อมีรายได้มากขึ้นก็พัฒนาที่ทำกินขุดสระน้ำเลี้ยงปลาเพื่อบริโภค และใช้เพื่อการปลูกหญ้าในฤดูแล้ง ส่วนฟางข้าวหลังการเก็บเกี่ยวได้ใช้เป็นอาหารของโคนมและเหลือเพื่อขาย

เกษตรกรสมาชิกของสหกรณ์ฯ ส่วนใหญ่ได้นำระบบเกษตรผสมผสานมาใช้ในการทำการเกษตร สามารถลดต้นทุนการผลิต สร้างเสริมรายได้ และมีภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง (รายได้พอเพียง/รายจ่ายมีน้อย) นับเป็นอีกบทพิสูจน์หนึ่งของการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการดำรงชีพ การทำการเกษตรเพื่อให้พออยู่พอกิน เป็นคุณประโยชน์ที่ยั่งยืนของการทำเกษตรผสมผสาน สามารถลดความเสี่ยงที่อาจขึ้นได้อยู่เสมอ จากผลกระทบความไม่แน่นอนทางธรรมชาติ รวมทั้งราคาพืชผลและปัจจัยการผลิต ให้ผลตอบแทนคุ้มค่ากว่าการทำเกษตรเชิงเดี่ยว
เกษตรกรสมาชิกสหกรณ์โคนมศรีสะเกษ จำกัด พร้อมใจกันน้อมนำแนวทางของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปปฎิบัติจนเกิดผลดีเป็นรูปธรรม เกิดความมั่นคงคงยั่งยืนสามารถพึ่งพาตนเอง เมื่อมีเหลือยังเอื้ออาทรแบ่งปันกันในชุมชน นำไปสู่การกินดี อยู่ดี มีสันติสุขในสังคม ชุมชนเกิดความรักใคร่สามัคคี เข้มแข็ง โดยยึดแนวทางตามหลักการสหกรณ์
วันนี้ที่ศรีสะเกษ เกษตรกรพลิกวิกฤติเป็นโอกาสได้สำเร็จ มีชีวิตการเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากมีการทำเกษตรแบบผสมผสาน การปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์มีหลากหลายทางเลือก เกษตรกรทำการเกษตรแผนใหม่ ใช้เทคโนโลยีและความรู้ที่ได้รับจากการฝึกอบรม/ศึกษาดูงาน ฯลฯ ภายใต้การส่งเสริมและสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทุกหน่วยงานบูรณารการทำงานมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกัน เพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร

จากข้อมูลสถิติพบว่า รายได้ต่อหัวของประชากรจังหวัดศรีสะเกษ ในปี พ.ศ. 2562 เพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ย 73,958 บาท/คน/ปี ปัจจุบัน กล่าวได้ว่า จังหวัดศรีสะเกษ ได้หลุดพ้นสถานภาพการเป็นจังหวัดที่ยากจนที่สุดของประเทศไทยไปนานแล้ว เกษตรกรไม่ต้องทิ้งถิ่นฐาน บ้านเกิด หรือพลักพรากจากบุคคลอันเป็นที่รัก เยาวชนหนุ่มสาวลูกหลานเกษตรกรที่เคยทำงานในเขตเมืองหรือภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ มีแนวโน้มกลับไปทำกินในถิ่นฐานบ้านเกิดกันมากขึ้น
สังคมในชนบทที่เคยอบอุ่นพร้อมหน้าพร้อมตา ปัญหาทางสังคมแทบจะไม่เกิดขึ้น บรรยากาศเช่นนี้กำลังจะกลับคืนมา หลายคนที่ตลอดชีวิตอยู่แต่ในสังคมเมืองที่เน้นคุณค่าทางวัตถุและบริโภคนิยม ต่างไฝ่หาโอกาสไปหาที่ดินตามชนบทเพื่อทำการเกษตรอยากใช้ชีวิตแบบพอเพียงตามอย่างเกษตรกร เกษตรกรในวิถีชีวิตตามแนวทางสหกรณ์ จึงเป็นสังคมทางเลือกที่น่าสนใจอย่างยิ่ง/จริงหรือไม่/อยากบอกว่า/ให้ลองทำดู

ชุรีกรณ์ : ภาพ/บทความ

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of Rewatr

Rewatr

นายเรวัตร ก่อวงศ์กาญจน์ Admin เว็บไซต์สำนักงานสหกรณ์จังหวัดศรีสะเกษ http://web.cpd.go.th/sisaket/ รับผิดชอบงานด้านการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ การดำเนินงานเพื่อส่งเสริมและพัฒนาสหกรณ์ นำหลักและวิธีการสหกรณ์ไปใช้เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชนในเขตพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ วุฒิการศึกษา 1. ปริญญาตรี สาขา การบริหารการจัดการ (สสบ.) มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ปี 2529 2. ปริญญาตรี ส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์ (สสบ.) มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ปี 2536 3. ปริญญาโท หลักสูตร การจัดการมหาบัณฑิต (กจ.ม.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ปี 2550 คติประจำตัว การยึดมั่นในผลประโยชน์ของแผ่นดิน และ ความถูกต้องเป็นธรรม เป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ ( พระบรมราโชวาท เนื่องในโอกาสวันข้าราชการพลเรือน ปีพุทธศักราช 2539 พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน )