ชุมชนเกษตรกรรมในอุดมคติรูปแบบ “สหกรณ์”
เมื่อประมาณ 100 กว่าปีก่อน เมื่อครั้งที่ชาวยิวที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลก พากันอพยพกลับมาตั้งถิ่นฐานยังดินแดนที่เป็นประเทศอิสราเอลในปัจจุบัน ในครั้งนั้นชาวยิวส่วนหนึ่งได้รวมตัวกันเป็นชุมชนเกษตรกรรมตามชนบท หรือที่เรียกว่า ‘คิบบุตซ์’ (Kibbutz) ปัจจุบันทั่วทั้งประเทศอิสราเอลมีคิบบุตซ์อยู่มากกว่า 250 แห่งกระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ
ภายในคิบบุตซ์แต่ละแห่งคือชุมชนที่สมาชิกทุกคนจะร่วมกันประกอบอาชีพเกษตรกรรมและรวมตัวกันในรูปสหกรณ์ ทรัพย์สินทุกอย่างรวมทั้งผลผลิตที่ได้ จะถือเป็นสมบัติของส่วนรวมทั้งหมด เน้นการพึ่งพาตัวเอง และใช้ทรัพยากรที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นแบบอย่างที่ดีให้ชุมชนขนาดเล็กตามชนบททั่วโลกที่ไม่มีทรัพยากรมากนัก ได้ใช้เป็นแบบอย่างในการฝ่าฟันอุปสรรคและยืนบนลำแข้งของตัวเองอย่างเต็มภาคภูมิ
เกษตรกรยิวทุกวันนี้ทำการเกษตรจนมีฐานะร่ำรวย สามารถจ้างแรงงานไทยไปทำงานในฟาร์มของเขา จากการค้นคว้าข้อมูล (เทคโนโลยีชาวบ้าน ออนไลน์) พบว่าปี 2556 มีแรงงานไทยเข้าไปทำงานในอิสราเอล ประมาณ 26,700 คน แบ่งเป็นการทำงานในภาคเกษตร 26,000 คน งานก่อสร้าง 70 คน ช่างเชื่อม 30 คน งานร้านอาหาร 500 คน งานดูแลคนชราหรือคนพิการ 100 คน
ความสำเร็จด้านระบบเกษตรของประเทศอิสราเอล เริ่มจากคนรุ่นแรก 800 คน ที่อพยพมาอยู่ในพื้นที่นี้ ในปี ค.ศ. 1907 เป็นกลุ่มคนที่มีมันสมองดีมารวมตัวกันเพื่อจะสร้างอิสราเอลให้เป็นประเทศการเกษตร (แต่ไม่เคยทำการเกษตรมาก่อน) จึงมีการวางระบบที่ดี ภายใต้ปัจจัยที่อิสราเอลมีทรัพยากรจำกัด แล้วสืบทอดต่อกันมา
เริ่มจากการรวมกันสร้างชุมชนเกษตรกรรม เรียกว่า คิบบุตซ์ (Kibbutz หรือ นิคมการเกษตร) คนที่มีความคิดความอ่านที่ค่อนข้างดีมามารวมตัวกัน ตั้งแต่ไม่มีสมบัติเป็นของตัวเอง ผลผลิตทุกอย่างก็เพื่อเป็นของรัฐ ผลตอบแทนที่ร่วมกันผลิตใช้วิธีการแบ่งปันกัน
ส่วนอีกพวกคือ โมชาฟ (Moshav) เป็นพวกที่รวมกลุ่มเหมือนกัน แต่จะมีที่ทำกินเป็นของตัวเอง ซึ่งในอิสราเอล จะมี 2 กลุ่มนี้ เป็นกลุ่มใหญ่ของประเทศที่ทำด้านการเกษตร
การรวมกลุ่มกันเช่นนี้ ก่อให้เกิดผลดีต่อการทำการเกษตรอย่างยิ่ง เพราะนั่นหมายถึง อำนาจการต่อรอง และ เป็นเส้นทางส่งผ่านข้อมูลและความรู้และการสนับสนุนด้านต่างๆจากภาครัฐไปยังเกษตรกร รวมถึงการคัดเลือกพืชผักผลไม้เศรษฐกิจที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มโดยส่งไปจำหน่ายในตลาดต่างประเทศ ก่อให้เกิดรายได้ที่ดีแก่เกษตรกร
กรณีสถานีวิจัยทางด้านการเกษตรและหน่วยงานราชการจะถ่ายทอดเทคโนโลยีหรือความรู้ด้านใด ก็สามารถเชื่อมโยงไปยัง คิบบุตซ์ หรือ โมชาฟ เมื่อเกษตรกรได้นำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมไปใช้ จะมีการส่งข้อมูลย้อนกลับไปที่สถานีวิจัยทันที การแก้ปัญหาจึงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดการพัฒนาและต่อยอดประสบความสำเร็จสามารถพัฒนาผลผลิตให้มีคุณภาพได้ราคาดี ผลจากการการเชื่อมโยงข้อมูลที่สม่ำเสมอและรวดเร็ว
หลักสำคัญในการพัฒนาผลผลิตให้มีคุณภาพนั้น ประกอบด้วย
1. ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น คอมพิวเตอร์ ในการควบคุมระบบชลประทาน
2. การปรับแต่งพันธุกรรมพืช เพื่อให้คงทนต่อโรคพืชและแมลง เพื่อให้ได้ผลผลิตต่อพื้นที่เพิ่มขึ้น
3. ทำการเกษตรแบบระบบปิด เพื่อควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ได้อย่างสมบูรณ์
ปัจจุบันในอิสราเอลมี คิบบุตซ์ 267 แห่ง ซึ่งเป็นจำนวนลดลงเรื่อยๆ เพราะคิบบุตซ์บางแห่งปรับเปลี่ยนไปเป็นโมชาฟ มีจำนวนโมชาฟ 448 แห่ง ทั่วประเทศ ทั้ง 2 รูปแบบนี้ นอกจากจะเป็นฟาร์มเกษตรแล้ว หลายแห่งยังเปิดบ้านพักที่เรียกว่า ซิมเมอร์ (กระท่อม) เพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้ามาพัก โดยมีสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างครบครัน ท่ามกลางความร่มรื่นของต้นไม้น้อยใหญ่ที่เป็นธรรมชาติ สร้างรายเพิ่มไปอีก
“คุณอัฟชาลอม วิลัน” เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรกรแห่งอิสราเอล ผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรกรรม ให้คำแนะนำไว้เกี่ยวกับความช่วยเหลือให้กับเกษตรกร รัฐบาลไทยน่าจะจัดสรรเงินกู้สนับสนุนระยะยาวให้แก่เกษตรกร เพื่อนำไปเป็นทุนสร้างฟาร์มที่มีขนาดใหญ่ ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างกลุ่มเกษตรกร เริ่มต้นอาจจะเป็นกลุ่มที่ไม่ใหญ่มากนัก โดยเลือกกลุ่มคนที่มีใจชอบ อีกส่วนหนึ่งคือ นำความรู้ด้านวิชาการเข้าไปใช้
ข้อสังเกตุปัญหาอุปสรรคของการพัฒนาเกษตรกรไทย ที่เห็นได้ชัด คือ ไม่มีตัวแทนกลุ่มใหญ่ๆ ที่ทำหน้าที่ส่งเสริมอาชีพเกษตรกรอย่างแท้จริงให้เหมือนที่ดำเนินการในอิสราเอล โดยใช้พลังการรวมกลุ่ม ความสามัคคี/มีวินัย และ ดำเนินการในรูปแบบสหกรณ์ เช่น กลุ่มผัก ผลไม้ ขนาดใหญ่ เพื่อให้มีอำนาจในการต่อรองสามารถขจัดปัญหาด้านราคาผลผลิต ข้อเท็จจริงพบว่า สหกรณ์การเกษตรในประเทศไทยเน้นการให้สินเชื่อ มีรายได้จากการลงทุนรับส่วนต่างจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่เรียกเก็บจากเกษตรกรเป็นธุรกิจหลักยอดนิยม ยังขาดความใสใจด้านการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพของเกษตรกรไม่เข้มข้นและไม่จริงจังเท่าที่ควร
ผมขออนุญาตยกข้อความของ คุณภาวิณีย์ เจริญยิ่ง จาก เทคโนโลยีชาวบ้าน(ออนไลน์) วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2556 ปีที่ 26 ฉบับที่ 565 มาเพื่อตอกย้ำแนวคิดการดำเนินงานเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพด้านเกษตร ของประเทศที่เขาประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี น่าจะนำมาปรับใช้และเป็นแนวทางสำหรับองค์กรเกษตรกร โดยเฉพาะที่จดทะเบียนและจัดตั้งเป็น “สหกรณ์” ประเภทการเกษตรทั้งหลาย ที่มีอยู่ในประเทศไทย
ปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญของเกษตรกรรมในอิสราเอล มีจุดเด่นอยู่ที่ความมานะพยายาม อดทนของเกษตรกร พร้อมด้วยเทคโนโลยีและระบบบริหารจัดการการตลาดที่ดี ผลผลิตการเกษตรของเขาจำเป็นต้องทำในระบบปิด เนื่องจากอยู่ในภูมิประเทศมีพายุทะเลทราย แต่มีข้อดีที่สามารถควบคุมการระเหยของน้ำ พืชผัก ผลไม้ ของอิสราเอลนั้น ส่วนหนึ่งเป็นสินค้าส่งออก ซึ่งค่อนข้างจะได้ราคาดีเพราะเป็นเกรดพรีเมี่ยม ที่อิสราเอลมีปัญหามากกว่าบ้านเราเยอะ แต่ที่เขาทำได้เพราะเขามีความอดทน สินค้าเกษตรของเขาส่งออกไปยุโรปมากมาย ซึ่งก็มีการคุมเรื่องสารพิษตกค้าง ถ้าผลิตภัณฑ์ตัวไหนมีตรารูปอูฐแสดงว่าเป็นของอิสราเอลและเป็นสินค้าเกรดพรีเมี่ยม ในยุโรปจะมีวางขายอยู่ทั่วไป เกษตรกรจึงสามารถขายผลผลิตได้ราคาสูงผลตอบแทนที่ดีมาก ๆ
สรุปสุดท้าย ขอส่งข้อความนี้ไปยังผู้บริหารสหกรณ์การเกษตรทุก ๆ ท่าน โปรดให้ความสนใจด้านการส่งเสริมอาชีพสมาชิกให้มากยิ่งขึ้น อย่ามุ่งหวังแต่ความสำเร็จของสหกรณ์ ฯ ที่เคยชินกับการมีกำไรสุทธิจากธุรกิจสินเชื่อ โดยเรียกเก็บรายได้จากหยาดเหงื่อของสมาชิกเป็นสำคัญ อย่าลืมว่าสหกรณ์ตั้งอยู่ได้ด้วยสมาชิก หากสมาชิกไม่มีรายได้ที่เพียงพอ ผลกระทบระยะยาวก็จะล้มเหลวในธุรกิจ ค่านิยมการปล่อยสินเชื่อเพิ่มมากขึ้น ทำสัญญากู้ฉบับใหม่ล้างหนี้เก่าโดยมุ่งผลกำไรทางบัญชี เมื่อถึงจุด ๆ หนึ่ง สมาชิกเกิดมีหนี้สินล้นพ้นตัวก็จะไม่สามารถชำระคืนให้กับสหกรณ์ได้อีกต่อไป ถ้าไม่ปรับเปลี่ยนกันเสียที แล้วเมื่อไรเกษตรกรจะพ้นทุกข์ ไม่สามารถปลดเปลื้องหนี้สินที่เรื้อรังให้หมดสิ้นไป หนทางดีมีให้เห็นอยู่ที่เราจะก้าวไปกันหรือยัง
เรวัตร : ภาพ/บทความ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ข่าวน่าสนใจ:
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: