“เกณฑ์ชี้วัดมาตรฐานสหกรณ์” มิใช่มีไว้เพื่อการรับรองมาตรฐานให้คนโกง
นับแต่ปี พ.ศ. 2545 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ดำเนินงานเพื่อการส่งเสริมพัฒนาสหกรณ์ โดยการสร้างเครื่องมือใช้วัดประสิทธิภาพการปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ ในขณะเดียวกัน ก็ใช้สำหรับวัดผลการดำเนินงานของสหกรณ์ควบคู่กัน จุดมุ่งหมายที่แท้จริงเพื่อประเมินศักยภาพการดำเนินงานของสหกรณ์ เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมการดำเนินงาน เพื่อจัดระดับความสามารถและประสิทธิภาพด้านบริหารงาน มุ่งให้เกิดประโยชน์แก่สมาชิกของสหกรณ์เป็นสำคัญ ทั้งนี้ ผลการประเมินสหกรณ์แต่ละแห่ง แต่ละประเภท จะมีการกำหนดเกณฑ์การชี้วัดเพื่อจัดชั้นมาตรฐานให้กับสหกรณ์ เพื่อให้ทราบว่าการดำเนินงานของสหกรณ์มีข้อบกพร่องด้านใดที่ต้องได้รับการปรับปรุงพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
ผลการประเมินศักยภาพของสหกรณ์ ใช้ประโยชน์สำหรับเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ เป็นข้อมูลในการจัดทำแผนปฎิบัติงานเพื่อการส่งเสริมและพัฒนาสหกรณ์ที่ตนรับผิดชอบ โดย กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้นำข้อมูลการประเมินศักยภาพและผลการจัดระดับมาตรฐานสหกรณ์แต่ละปะเภท ใช้เป็นข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาในการจัดทำแผนงาน/โครงการ และ การจัดสรรงบประมาณ ให้เหมาะสมกับสภาพข้อเท็จจริงและสอดคล้องกับความต้องการ/ความจำเป็นในแต่ละสหกรณ์ นอกจากนั้น ในด้านการพัฒนาบุคลากรยังได้ใช้ผลการดำเนินงานเพื่อการจัดมาตรฐานสหกรณ์ ซึ่งดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ เป็นข้อมูลสำหรับวัดประสิทธิภาพการปฎิบัติราชการของหน่วยงานและบุคลากรในระดับพื้นที่
ประโยชน์ของจัดมาตรฐานสหกรณ์ สำหรับ “สหกรณ์” ที่ได้รับการประเมิน ฯ ทำให้ได้ทราบถึงสถานะและผลการดำเนินงานของตนเองในเบื้องต้น โดยทั่วไปจะกำหนดเกณฑ์มาตรฐานเบื้องต้นไว้เพื่อให้สหกรณ์ทั่วไปสามารถปรับปรุงพัฒนาการทำงานจนสามารถผ่านเกณฑ์เบื้องต้นได้ไม่ยาก จากนั้นจึงต่อยอดสู่พัฒนาการดำเนินงานเพื่อให้ผ่านเกณฑ์ในระดับสูงขึ้นต่อไป โดยผ่านกระบวนการคิด/วิเคราะห์/เมื่อได้ข้อสรุปแล้ว จึงกำหนดแนวทางดำเนินงานที่เหมาะสม พัฒนาสหกรณ์ของตนเองให้ผ่านมาตรฐานในแต่ละระดับได้ โดยมีเป้าหมายยกระดับผลการดำเนินงานให้ผ่านมาตรฐานจากเกณฑ์มาตรฐานเบื้องต้น ไปสู่ระดับดีมาก หรือ ดีเลิศ ผลดีต่อสหกรณ์อีกประการหนึ่ง คือ สหกรณ์ที่พัฒนาผลการดำเนินงานจนผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามที่กรมส่งเสริมสหกรณ์กำหนดไว้ จะได้รับสิทธิในการพิจารณากรณีขอกู้เงินจากกองทุนพัฒนาสหกรณ์ หรือ ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมและได้รับการสนับสนุนตามโครงการต่าง ๆ เป็นแรงจูงใจส่งเสริมให้สหกรณ์พัฒนาสู่ความสำเร็จและเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น ต่อไป
กลุ่มเป้าหมาย ในการประเมินและจัดระดับมาตรฐานสหกรณ์ คือ สหกรณ์ทุกประเภท ยกเว้นแต่เป็นสหกรณ์ตั้งใหม่ที่ยังไม่ดำเนินกิจการ หรือ ดำเนินการยังไม่ครบสองปี หรือ เป็นสหกรณ์ที่ตั้งมานานแล้วแต่หยุดดำเนินธุรกิจ หรือ อยู่ในระหว่างเตรียมการเพื่อเลิกกิจการ รวมทั้ง สหกรณ์ที่เลิกแล้วแต่ยังไม่ถอนชื่อออกจากทะเบียนฯ เนื่องจากอยู่ระหว่างชำระบัญชี เป็นต้น
เกณฑ์ประเมินมาตรฐานสหกรณ์ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 เป็นการประเมินผลการดำเนินงานของสหกรณ์ และ ส่วนที่ 2 เป็นการประเมินกระบวนการจัดการภายในสหกรณ์ โดยมีรายละเอียดเกณฑ์การประเมิน ฯ รวมทั้งสิ้น 7 เกณฑ์ สรุปได้ดังนี้.-
เกณฑ์ที่ 1 สหกรณ์มีผลการดำเนินงานในสองปีบัญชีย้อนหลังไม่ขาดทุน เว้นแต่ปีใดมีอุทกภัย หรือ ภัยธรรมชาติ มีผลกระทบจนเกิดความเสียหายต่อสหกรณ์ และ สมาชิกโดยรวม (ให้ตัดผลงานปีนั้นออก)
เกณฑ์ที่ 2 ผลการดำเนินงานในรอบสองปีบัญชีย้อนหลัง ไม่มีการกระทำที่ถือว่ามีการทุจริตในสหกรณ์
เกณฑ์ที่ 3 ผลการดำเนินงานของสหกรณ์ในรอบปีบัญชีสุดท้าย สามารถจัดทำงบการเงินแล้วเสร็จส่งให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบ และนำเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ของสหกรณ์ภายใน 150 วัน นับแต่วันสิ้นปีทางบัญชี
เกณฑ์ที่ 4 ผลการดำเนินงานของสหกรณ์ในรอบปีบัญชีสุดท้าย มีสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของสมาชิกทั้งหมด ร่วมทำธุรกิจกับสหกรณ์
เกณฑ์ที่ 5 ต้องมีการจัดจ้างให้มีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบเพื่อดำเนินงานและดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ กรณีสหกรณ์ไม่มีงบประมาณเพียงพอเพื่อจัดจ้าง ต้องมอบหมายหน้าที่/ความรับผิดให้บุคคลในสหกรณ์ เช่น กรรมการ หรือ สมาชิก ปฎิบัติหน้าที่ประจำ
เกณฑ์ที่ 6 ผลการดำเนินงานในรอบสองปีบัญชีย้อนหลัง สหกรณ์จะต้องมีการจัดสรรกำไรสุทธิ และ จ่ายเงินทุนสวัสดิการสมาชิก หรือ ทุนเพื่อสาธารณะประโยชน์ อย่างน้อยหนึ่งครั้ง
เกณฑ์ที่ 7 ผลการดำเนินงานของสหกรณ์ในรอบปีบัญชีสุดท้าย จะต้องไม่มีการกระทำใดๆ อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ระเบียบ คำสั่งนายทะบียนสหกรณ์
การจัดระดับมาตรฐานสหกรณ์ : จัดระดับจากคะแนนผลการประเมิน ฯ ในแต่ละเกณฑ์ (รวมกัน)
ระดับมาตรฐานสหกรณ์ แบ่งออกเป็น 4 ระดับ มีดังนี้.-
1. ระดับมาตรฐานดีเลิศ (A) ได้คะแนนรวมผลการประเมินตั้งแต่ 96 คะแนน ขึ้นไป
2. ระดับมาตรฐานดีมาก (B) ได้คะแนนรวมผลการประเมินตั้งแต่ 86 – 95.99 คะแนน
3. ระดับมาตรฐานดี (C) ได้คะแนนรวมผลการประเมินตั้งแต่ 76 – 85.99 คะแนน
4. ระดับไม่ผ่านมาตรฐาน (D) ได้คะแนนรวมผลการประเมินต่ำกว่า 76 คะแนน
หมายเหตุ : เจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์จะทำการสรุปผลการประเมินมาตรฐานของสหกรณ์เป้าหมายในทุกปี (ภายในเดือน กุมภาพันธ์ )จากนั้นจะรวบรวมส่งกรมส่งเสริมสหกรณ์เพื่อทำการออกประกาศผลการจัดมาตรฐานสหกรณ์ แล้วแจ้งให้สหกรณ์ได้รับทราบเพื่อใช้เป็นข้อมูลพิจารณาปรับปรุงการดำเนินงานต่อไป
ประเด็นสำคัญที่ตั้งใจจะสื่อสารถึงประชาชนทั่วไป เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง คือ อย่าด่วนสรุปเชื่อกันไปว่า “สหกรณ์” ที่มีผลการประเมินมาตรฐานสหกรณ์ในระดับดี หรือ ดีมาก จะไม่เกิดการทุจริต/คอรัปชั่น เพราะหากมีคนไม่ดีได้รับโอกาสเข้าไปบริหารจัดการสหกรณ์ โดยที่เขามีเจตนาไม่สุจริตมุ่งแสวงหาประโยชน์ส่วนตนโดยมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่สหกรณ์และสมาชิก … อย่างที่เคยมีกรณีตัวอย่าง
การแอบอ้างผลการจัดระดับมาตรฐานสหกรณ์ สำหรับสหกรณ์ที่ผ่านการประเมินจากทางราชการในระดับดีเด่นบางแห่ง ซึ่งเบื้องหลังจัดทำรายงานข้อมูลเท็จมีผลงานอันมีที่มาไม่สุจริตปกปิดไว้ เช่น การตกแต่งข้อมูลทางบัญชี , การบิดเบือนข้อมูลทางการเงิน หรือ การทำเอกสารเป็นเท็จ ฯลฯ เพื่อให้ได้รับการประกาศจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ ออกเกียรติบัตรให้เป็นสหกรณ์ที่ผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับดี หรือ ดีมาก หรือ ดีเลิศ แล้วนำไปใช้อวดอ้างเพื่อให้เกิดความเชื่อถือสามารถสร้างแรงจูงใจ ทำให้ประชาชนหลงเชื่อสนับสนุนโดยการร่วมลงทุนในทรัพย์สินและเงินทองจำนวนมาก จากนั้นบุคคล หรือ กลุ่มบุคคล ผู้ทุจริตในสหกรณ์ กระทำการทุจริต/ยักยอกเงินไปเป็นของตนเอง แต่กฎแห่งกรรมนั้นมีจริง ในที่สุดเขาก็หนีไม่พ้นคุกตะราง นั่น ปรากฎให้เห็นกันมาแล้ว
ต้องขอจบการนำเสนอด้วยข้อความตามชื่อบทความนี้ … มุ่งให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องในหมู่ประชาชนทั่วไป
“ เกณฑ์ชี้วัดมาตรฐานสหกรณ์ มิใช่ มีไว้ เพื่อการรับรองมาตรฐานให้คนโกง ”
สุดท้ายนี้ ขอฝากไปยังผู้เกี่ยวข้องในขบวนการสหกรณ์ทั้งหลาย เพื่อการแก้ไขปัญหาและป้องกันการทุจริต/คอรัปชั่นในสหกรณ์ ให้ได้ผลดีที่สุด ควรน้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ (รัชกาลที่ 9) ไปใช้เป็นแนวคิดและพิจารณาในกระบวนสำคัญขั้นตอนหนึ่งของสหกรณ์ คือ การเลือกตั้งและมอบหมายบุคคลให้เป็นตัวแทนสมาชิก (คณะกรรมการดำเนินงานของสหกรณ์) มีหน้าที่บริหารกิจการเพื่อประโยชน์สุขแก่มวลสมาชิก อย่าเปิดโอกาสให้คนไม่ดีเข้าไปสร้างความเสียหายได้อีกต่อไป
“ ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปรกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้ ”
(พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ 6 ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี วันที่ 11 ธันวาคม 2512)
เรวัตร : ภาพ/บทความ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: