“ สหกรณ์เข้มแข็ง เกษตรกรยั่งยืน ”
ผมได้อ่านรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง “ สหกรณ์เข้มแข็ง เกษตรกรยั่งยืน ” ของคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ เสนอต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อ 29 มีนาคม 2561 ด้วยเล็งเห็นความสำคัญของระบบสหกรณ์ รวมทั้งปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นกับสหกรณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและประชาชนทั่วไป เพื่อหาแนวทางนำไปสู่การแก้ไขปัญหา พัฒนาและส่งเสริมสหกรณ์เพื่อให้สหกรณ์ สมาชิก และเกษตรกรได้รับความรู้ความเข้าใจและได้รับประโยชน์สูงสุดจากระบบสหกรณ์ ที่จะเป็นปัจจัยสำคัญนำไปสู่การพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ โดยใช้กลไกของระบบสหกรณ์เป็นตัวขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน
รายงาน ฯ ดังกล่าวมีสาระน่าสนใจอย่างยิ่ง จึงคัดประเด็นสำคัญสรุปโดยย่อมานำเสนอ (สอดแทรกความคิดเห็นเพิ่มเติมเข้าไปด้วย) เพื่อให้ข้อมูลสำหรับผู้มีส่วนร่วมในขบวนการสหกรณ์รวมทั้งประชาชนทั่วไป จะได้ร่วมมือกันสร้างเสริมพัฒนากิจการสหกรณ์ในประเทศไทย ให้มีผลการดำเนินงานที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนและสามารถแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม นำไปไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน แก่ประชาชนและประเทศชาติ รายละเอียดมีดังนี้.-
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หมวด 6 เรื่อง แนวนโยบายแห่งรัฐ มาตรา 75 วรรคสาม บัญญัติไว้ว่า “ รัฐพึงส่งเสริม สนับสนุน คุ้มครอง และสร้างเสถียรภาพให้แก้ระบบสหกรณ์ประเภทต่างๆ และ กิจการวิสาหกิจขนาดย่อมและขนาดกลางของประชาชนและชุมชน ” แต่ในอดีตและปัจจุบันพบว่ามีสหกรณ์หลายแห่งประสบปัญหาและวิกฤติต่างๆ ส่งผลต่อความศรัทธาและเชื่อมั่นของคนในสังคมเมื่อกล่าวถึงระบบสหกรณ์ สหกรณ์จำนวนไม่น้อยมีกลไกการดำเนินงานที่ขาดประสิทธิภาพ ขาดแนวทางที่ชัดเจนในการตรวจสอบด้านการบริหารและมาตรการทางกฎหมาย เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ของประเทศมีอาชีพทำเกษตรกรรม ในเบื้องต้น จึงกำหนดเป้าหมายการดำเนินงานของสหกรณ์มุ่งไปที่กลุ่มเป้าหมายเกษตรกร ให้ได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ กำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมมือกันเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนระบบสหกรณ์ให้เกิดประสิทธิภาพ ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพแก่เกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยดำเนินการทั้งระบบตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต , การบริหารจัดการ , ความรู้และเทคโนโลยี ไปจนถึงการแปรรูปเพิ่มมูลค่า และ ส่งเสริมการตลาด เพื่อให้ได้ผลผลิตมีคุณภาพได้มาตรฐานและจำหน่ายได้ราคาดี
ผลการศึกษาพบว่า สภาพปัญหาของสหกรณ์ส่วนใหญ่ คือ ปัญหาการมีส่วนร่วมและการตรวจสอบจากสมาชิก เป็นโอกาสให้เกิดการทุจริตสร้างความเสียหายขึ้นได้ นอกจากนั้น ได้แก่กระบวนการตรวจสอบ การเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างสหกรณ์และเครือข่ายธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ปัญหาด้านการผลิต การรวบรวม เครื่องหมายการค้า การจำหน่าย ช่องทางการตลาด การแปรรูปและการขนส่ง ฯลฯ
ปัญหาด้านบุคคล เช่น ความรู้ความเข้าใจในระบบสหกรณ์ของสมาชิก ปัญหาด้านคุณวุฒิของฝ่ายบริหารและฝ่ายจัดการ การได้รับความสนับนุนอย่างต่อเนื่องจากภาครัฐ และข้อกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงาน นอกจากนั้น ได้แก่ ปัญหาด้านเงินทุน การจัดการด้านการเงินที่ขาดเสถียรภาพ ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ไม่มีประสิทธิภาพ ขาดการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อวิเคราะห์และตัดสินใจในการดำเนินกิจการ
ผู้ทำการศึกษา ฯ ได้สรุปแนวทางพัฒนาสหกรณ์ให้เข้มแข็งและเกษตกรยั่งยืน ไว้ดังนี้.-
1. การมีส่วนร่วมของสมาชิก
2. การตรวจสอบและการป้องกันการทุจริตในสหกรณ์
3. การบูรณาการและเชื่อมโยงเครือข่าย
4. การให้ความรู้แก่สหกรณ์และสมาชิก
5. การกำหนดคุณวุฒิ , คุณสมบัติ และจริยธรรมของฝ่ายบริหารและฝ่ายจัดการ
6. นโยบายและการสนับสนุนจากภาครัฐ
7. การปรับปรุงและแก้ไขกฎหมายสหกรณ์ให้ทันสถานการณ์
8. การพัฒนาระบบเทคโนโลยีและสารสนเทศ
ในปัจจุบัน 8 ประเด็นที่ยกมาดังกล่าว ได้รับความสนใจให้การสนับสนุนจากรัฐบาลมากขึ้น แต่ก็ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความสำเร็จที่ชัดเจนเท่าที่ควร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาการทุจริตในสหกรณ์ยังคงเกิดขึ้นตามที่ปรากฎจากการติดตามนำเสนอของสื่อมวลชน สาเหตุมาจากความเคยชินของสมาชิก ที่ส่วนใหญ่มุ่งแต่ใช้สิทธิในการรับประโยชน์ส่วนตนเป็นสำคัญ (ใช้บริการสินเชื่อ) ขาดความสนใจช่วยกันสอดส่องและกำกับการดำเนินงานในฐานะความมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของกิจการ แถมบางครั้งสนับสนุนให้เกิดการทำผิดระเบียบ/ข้อบังคับและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ขอเพียงให้ตนเองได้รับประโยชน์ ส่วนคณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์ (สหกรณ์ทุกประเภท) กล่าวได้ว่า เกินร้อยละ 50 อยู่ภายใต้การชี้นำของฝ่ายจัดการ (พนักงานซึ่งเป็นลูกจ้าง) หลากหลายเหตุผล เช่น กรรมการ ฯ ขาดความรู้และประสบการณ์ ขาดทักษะการบริหาร บ่อยครั้งให้อำนาจการตัดสินใจทางธุรกิจแก่ผู้จัดการสหกรณ์ หรือมีกรรมการไม่กี่คนที่สมคบคิดกับฝ่ายจัดการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ บางสหกรณ์การทุจริตเกิดจากประธานกรรมการสหกรณ์เพียงคนเดียวที่ฉลาดแกมโกงยักยอกเงินของสหกรณ์และสมาชิก ข่าวทุจริตในสหกรณ์เหล่านี้เป็นเรื่องจริงไม่สามารถปกปิดได้ในยุคข้อมูลข่าวสารแห่งโลกดิจิตัล
ความคิดเห็นส่วนตัวของผมเห็นว่า การแก้ไขปัญหาและพัฒนาสหกรณ์เพื่อให้สมาชิกมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข อย่างยั่งยืน ต้องเริ่มต้นจากบุคคลสำคัญที่สุดในสหกรณ์ คือ สมาชิกทุก ๆ คน อย่ารู้จักแต่ใช้สิทธิเพื่อรับประโยชน์แต่อย่างเดียว เพราะถ้าเกิดการทุจริต/คอรัปชั่นในสหกรณ์ของท่าน ความเสียหายย่อมเกิดกับสมาชิกทุก ๆ คน รวมทั้งตัวท่านเอง เรามาช่วยกันกำจัดการทุจริต/คอรัปชั่นในสหกรณ์ให้หมดสิ้นไป ขอยกคำกล่าวที่หลายคนนำไปใช้แล้วได้ผลจริง กับคำกล่าวที่ว่า “ เปลี่ยนความคิด ชีวิตเปลี่ยน ”
ขอจบบทความนี้ด้วยข้อชวนคิดให้กับประชาชนทั่วไป หากท่านมีส่วนร่วมเป็นสมาชิกสหกรณ์แห่งใดแห่งหนึ่ง ควรศึกษาที่มาและคุณประโยชน์ของระบบสหกรณ์ “ สมาชิกสหกรณ์ ” ทุกคนไม่แค่คิดแต่ใช้สิทธิรับผลประโยชน์ส่วนตน แต่ต้องรู้บทบาทหน้าที่และการมีส่วนร่วมในการสนับสนุนกิจการ ช่วยกันตรวจสอบการดำเนินงานของสหกรณ์ (สมาชิกทุกคนมีสิทธิตรวจสอบขอดูข้อมูลและมีส่วนร่วมการตัดสินใจทางธุรกิจของสหกรณ์โดยการเข้าร่วมการประชุม ฯ ตามที่สหกรณ์นัดหมายทุกครั้ง ) สัมฤทธิ์ผลแรกที่จะเกิดอย่างแน่นอน คือ การปิดโอกาสการทุจริต หากมีความสามัคคีช่วยกัน ภายใต้ระบบคุณธรรม ยึดมั่นในจริยธรรม , ความพอเพียง และช่วยเหลือเอื้ออาทรต่อกันและกัน ผมว่าถึงวันนั้นจะเกิด “ สหกรณ์เข้มแข็ง เกษตรกรยั่งยืน ” หรือ “ สหกรณ์เข้มแข็ง สมาชิกอยู่ดี กินดี มีความสุข อย่างยั่งยืน ” ได้อย่างแน่นอน ………. สำหรับรายละเอียดคำอธิบายเพิ่มเติม “ แนวทางพัฒนาสหกรณ์ให้เข้มแข็งและเกษตกรยั่งยืน” (ทั้ง 8 ข้อ) ผู้สนใจสามารถติดตามดาวน์โหลดเพื่อศึกษาเพิ่มเติมได้ที่
https://drive.google.com/file/d/1Znx2yddk4DjwLIVts74v0LFa4N2rTqwV/view?usp=sharing
เรวัตร : ภาพ/บทความ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: