“ สหกรณ์ที่แท้จริง ”
สหกรณ์ที่แท้จริง (Real cooperative) ต้องเป็นอย่างไร ? เชื่ออย่างยิ่งว่าคงจะมีคำตอบที่หลากหลาย อาจแตกต่างและเหมือนกันบ้างในบางประการ โดยมีเหตุผล จากความเชื่อ ค่านิยม และ ทัศนคติ ของแต่ละบุคคล นอกจากนั้นยังมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบการตีความคำนิยามของสหกรณ์ ที่ปรับเปลี่ยนไปตามบริบทของสังคม สภาพสิ่งแวดล้อม และ วัฒนธรรม ฯลฯ
อย่างไรก็ดีระบบ “สหกรณ์” มีประวัติที่มายาวนานนับร้อยปีจนเป็นที่ยอมรับได้รับการแพร่ขยายและเกิดการพัฒนา มีการจัดตั้งและขยายกิจการสหกรณ์ไปทุกภูมิภาคทั่วโลก ทั้งนี้ การดำเนินงานของสหกรณ์ที่จัดตั้งขึ้น ไม่ว่าจะมีอยู่ในประเทศใด ๆ ล้วนมุ่งสู่เป้าหมายเพื่อประโยชน์สุขของทุกคนในสังคม ให้ได้มีโอกาสยกระดับคุณภาพชีวิตที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน โดยการช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
การดำเนินงานและการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ ล้วนตั้งอยู่บนความเชื่อขั้นพื้นฐาน ปฎิบัติตามแนวคิดที่สังเคราะห์แล้ว โดยมีการกำหนดเป็นกรอบทิศทางสู่เป้าหมายเดียวกัน กล่าวคือ คุณสมบัติสำคัญของสหกรณ์ทุกประเภท (ทุกสหกรณ์ / ทุกประเทศ) ต่างยึดถือปฎิบัติตาม หลักและวิธีการสหกรณ์ ที่มีการกำหนดไว้เป็นสากล ผ่านการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายและการสนับสนุนจากองค์กรกลาง คือ องค์กรสัมพันธภาพสหกรณ์ระหว่างประเทศ (องค์การ ICA : International Co-operative Alliance) เปิดเวทีการระดมความคิดเห็นจากผู้แทนที่มาจากหลากหลายประเทศ ทุกภูมิภาคทั่วโลก ตกผลึกแนวความคิดจนได้ข้อสรุปผ่านความเห็นชอบร่วมกันแล้วทำการจดบันทึกให้เป็น “ อุดมการ หลักการ และ วิธีการสหกรณ์ ” ที่เป็นสากล
บทบัญญัติเกี่ยวกับ อุดมการ หลักการ และ วิธีการสหกรณ์ มีไว้เพื่อให้เครือข่ายสหกรณ์ทั่วโลกใช้เป็นหลักยึดในการสร้างคุณค่าและคุณประโยชน์ ในการขับเคลื่อนและดำเนินกิจการสหกรณ์ไปสู่ความสำเร็จ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสุดท้าย คือ “ การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี และ ความสงบสุขในสังคม ” จึงอาจกล่าวได้ว่า “สหกรณ์” เป็นเครื่องมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ผลลัพธ์สุดท้าย ก็เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน (อย่างเท่าเทียม) นั่นเอง
อุดมการสหกรณ์ : คือ “ ความเชื่อร่วมกันที่ว่าการช่วยตนเองและการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตามหลักการสหกรณ์ซึ่งจะนำไปสู่การกินดี อยู่ดี มีความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคม ”
หลักการสหกรณ์สากล มี 7 ประการ ได้แก่
หลักการที่ 1 การเปิดรับสมาชิกโดยทั่วไปตามความสมัครใจ
หลักการที่ 2 การควบคุมโดยสมาชิกตามแนวทางประชาธิปไตย
หลักการที่ 3 การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจโดยสมาชิก
หลักการที่ 4 มีการปกครองตนเองและมีอิสระ
หลักการที่ 5 การให้การศึกษา การฝึกอบรม และข่าวสาร
หลักการที่ 6 การร่วมมือระหว่างสหกรณ์
หลักการที่ 7 ความห่วงใยต่อชุมชน
หลักการสหกรณ์สากล 7 ประการ : ศึกษารายละเอียด/คำอธิบายเพิ่มเติมได้ที่
https://drive.google.com/file/d/1fb0eZCTqbJFMsqb6RCRdnTkx3Pe7y1Qe/view?usp=sharing
วิธีการสหกรณ์
คือ “ การนำหลักการสหกรณ์มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินกิจกรรม ทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อประโยชน์ของมวสมาชิกและชุมชน โดยไม่ละเลยหลักการธุรกิจที่ดี ”
สังคมโลกยุคปัจจุบัน มีความก้าวหน้าเกิดการพัฒนาเทคโนโลยีระดับสูงเป็นการปฏิวัติที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ เข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ เกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมการเมืองโลก มีผลทำให้ประเทศต่าง ๆ ในโลกต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน โลกที่กว้างใหญ่ดูเล็กลง ดินแดนที่อยู่ห่างไกลสามารถติดต่อถึงกันภายในเสี้ยววินาที ทุกคนก้าวสู่สังคมใหม่เป็นหนึ่งเดียว
สังคมโลกยุคใหม่ที่เรียกว่า ยุคโลกาภิวัตน์ คือ การครอบงำโลกทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของอภิมหาอำนาจ ซึ่งสามารถแผ่อิทธิพลของตนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบต่างๆ ผลกระทบของกระบวนการโลกาภิวัตน์โดยตรงต่อชาติที่เจริญทางเทคโนโลยีการสื่อสารที่ด้อยกว่าคือ การทำลายกำแพงวัฒนธรรม เอกลักษณ์ของประชาชาติ ผลกระทบที่มีต่อพฤติกรรมของผู้คนพลเมืองชาวไทย มีแนวโน้มส่วนใหญ่ทำตามกระแสนิยมการบริโภค ค่านิยมยึดติดวัตถุ ตามอย่างประเทศที่ประสบความสำเร็จทั้งหลาย การใช้จ่ายเงินอนาคตมากเกินไป เกินกำลังที่จะหาไปชดใช้หนี้สินที่สร้างขึ้นได้ เมื่อหนี้สิ้นพอกพูนล้นพ้นจำเป็นต้องดิ้นรนแก้ปัญหา บ่อยครั้งมีปรากฎการณ์หาทางรอดโดยการทุจริต/คอรัปชั่น เป็นความจริงที่เกิดขึ้นพบเห็นได้ทั่วไปในสังคมไทย ไม่เว้นแม้แต่ในวงการ “ สหกรณ์ ”
สหกรณ์ที่ประสบความสำเร็จ นั้น ปัจจัยสำคัญขึ้นอยู่กับบุคคล 3 ฝ่าย ในสหกรณ์ ได้แก่ สมาชิก คณะกรรมการ และ ฝ่ายจัดการ ทุก ๆ ฝ่ายต้องมีส่วนร่วมและให้ความร่วมมือสนับสนุนการดำเนินงานและการดำเนินธุรกิจสหกรณ์ ทุกคนต้องทำหน้าที่และมีความรับผิดชอบ โดยมีการประสานงานกันเป็นอย่างดี
“สมาชิก” มีบทบาทและหน้าที่สำคัญในการเป็นผู้ควบคุมการบริหารจัดการของสหกรณ์ โดยใช้สิทธิออกเสียงในที่ประชุมใหญ่ ฯ เลือกสรรคนเป็นตัวแทนไปทำหน้าที่บริหารกิจการ
“คณะกรรมการ” ทำหน้าที่เป็นตัวแทนได้รับมอบหมายจากสมาชิกในการและบังคับบัญชา/สั่งการให้ฝ่ายจัดการให้ดำเนินการตามนโยบายที่สมาชิกมีส่วนร่วมและให้ความเห็นชอบไว้ร่วมกัน
“ฝ่ายจัดการ” ประกอบด้วยบุคคลสำคัญ คือ ผู้จัดการ และ พนักงานสหกรณ์ มีหน้าที่นำนโยบายไปปฎิบัติ ภายใต้การกำกับควบคุมจากคณะกรรมการ
สรุปได้ว่าบุคคลทั้งสามฝ่าย ต้องรู้จักสิทธิและหน้าที่/ความรับผิดชอบของตนเอง ทำหน้าที่ตามบทบาทอย่างสมบูรณ์และถูกต้องทางที่ควร โดยมุ่งประโยชน์ส่วนรวมก่อนประโยชน์ส่วนตน
ปัญหาใหญ่ของสหกรณ์ในประเทศไทย คือ การทำหน้าที่ผิดฝั่งผิดฝาที่พบเห็นบ่อย ๆ เช่น ผู้จัดการคุมอำนาจบริหารและตัดสินใจในกิจการสหกรณ์ แทนที่จะเป็นหน้าที่และบทบาทของคณะกรรมการ ฯ โดยเฉพาะสหกรณ์ประเภทการเกษตรนั้น กรรมการดำเนินการของสหกรณ์ มิได้มีวุฒิการศึกษา/ความรู้/ทักษะในการบริหารธุรกิจที่เพียงพอ ส่วนใหญ่จึงต้องเชื่อฟังทำตามการชี้นำของฝ่ายจัดการโดยปริยาย เป็นความจริงที่ขมขื่น เขาเหล่านั้นเหมือนตกอยู่ภายใต้อำนาจการสั่งการของ “ผู้จัดการ” ซึ่งแท้จริงเป็นเพียงลูกจ้างของสหกรณ์ แล้วอย่างนี้จะพัฒนากิจการและธุรกิจสหกรณ์ให้ตอบสนองความต้องการของสมาชิกอย่างแท้จริงได้อย่างไร
ความล้มเหลวของสหกรณ์ ที่แท้จริงมีที่มาจาก “ ความเห็นแก่ตัว ” ถ้าต่างฝ่ายเห็นแก่ตัวมุ่งแสวงหาแต่ผลประโยชน์ส่วนตน เมื่อความโลภมีมากขึ้น นำไปสู่การคดโกง ทุจริต/คอรัปชั่น เป็นสาเหตุทำให้สหกรณ์อันเป็นที่รักของทุกคนต้องขาดสภาพคล่องทางการเงินและล้มละลายในที่สุด
ทำอย่างไรสมาชิกสหกรณ์จะมีส่วนร่วมในการควบคุมดูแลสหกรณ์ของตนเองและเลือกตั้งตัวแทนที่มีศักยภาพที่แท้จริงไปทำหน้าที่บริหารและจัดการได้อย่างมืออาชีพเฉกเช่นองค์กรธุรกิจที่ประสบความสำเร็จทั่วไป (ช่วยคิดที)
ปัญหาสหกรณ์ในประเทศไทย ยังมีอุปสรรคใหญ่อยู่มากมาย เกิดจาก “คน” ล้วน ๆ ที่ประกอบอยู่ในบุคคลสามฝ่ายที่กล่าวถึงข้างต้น ตราบจนถึงปัจจุบันยังคงมีใครบางคน หรือ หลายคน (ร่วมมือกัน) แผงเร้นอยู่เป็น “ปลิง” เป็นอุปสรรคที่ขัดขวางความเจริญก้าวหน้า กระทำการอันมิชอบกัดกร่อนทำลายล้างกิจการสหกรณ์ นำไปสู่ความล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่า ร้อนไปถึงหน่วยงานเกี่ยวข้องที่ทำหน้าที่กำกับดูแลและควบคุม คงต้องปรับปรุงการทำงานให้เท่าทันสถานการณ์ลดความเสี่ยง/ความเสียหายที่เกิดขึ้นกันต่อไป
สำหรับผมนาทีนี้ คงได้แต่บนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์โปรดดลบรรดาลให้บุคคลทุกฝ่ายในสหกรณ์ทุกท่าน จงดำเนินชีวิตอย่างซื่อสัตย์ สุจริต ตั้งใจร่วมมือช่วยกันเพื่อขับเคลื่อนองค์การกลางทางสังคม (สหกรณ์) ดำเนินกิจการไปสู่ความสำเร็จ เพื่อให้เกิดความสุข ความอยู่ดี กินดี มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน อย่างแท้จริงได้สักวัน … สาธุ
เรวัตร : ภาพ/บทความ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: