X

จีน-ไทย…ไม่ใช่อื่นไกลพี่น้องกัน

กรุงเทพฯ – “ศูนย์สื่อศิลปวัฒนธรรม” ร่วมกับ “ไทยพีบีเอสบอดคาสต์” ได้จัดกิจกรรม จาก “หัวเฉียว” สู่  “ซินอี๋หมิน” : ชาวจีนโพ้นทะเลใหม่ในแผ่นดินสยาม  โครงการศิลป์สโมสรเสวนาแลโลกเห็นเราฯ และเพื่อให้สอดคล้องกับเทศกาลไหว้พระจันทร์ ณ ห้องคอนเวนชั่นฮอล 2 อาคาร D ไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา

  รศ. ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส กล่าวเปิดงานกิจกรรมเสวนา จาก “หัวเฉียว” สู่  “ซินอี๋หมิน”: ชาวจีนโพ้นทะเลใหม่ในแผ่นดินสยาม โดยได้รับเกียรติจาก รศ.วรศักดิ์ มหันธโนบล อาจารย์พิเศษคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คุณสมชาย แซ่จิว ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมจีน และ อาจารย์ ดร.อุษณีย์ เลิศรัตนานนท์ อาจารย์ประจำโครงการจีนศึกษา วิทยาลัยนานาชาติปรีดีพนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมเสวนาฯ  มี คุณพรรษชล พงษ์เพียจันทร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยจัดให้มีการเผยแพร่ Live ทางสื่อออนไลน์และเพจของรายการ ซึ่งสามารถติดตามชมย้อนหลังได้

การจัดกิจกรรมฯ ครั้งนี้ จัดโดย ศูนย์สื่อศิลปวัฒนธรรม ร่วมกับ ไทยพีบีเอสพอดคาสต์ ซึ่งเป็นสื่อเสียงของไทยพีบีเอส และมีรายการ “มองจีนมุมใหม่” นำเสนอเรื่องเกี่ยวกับจีนในมิติต่างๆ เพื่อให้เท่าทันจีน และเพื่อขยายฐานการมีส่วนร่วมของผู้ชมจากหน้าจอโทรทัศน์ไปสู่สื่อเสียงและออนไลน์เพิ่มขึ้น เพื่อสร้างพื้นที่ให้เกิดการพูดคุยและถอดบทเรียนความรู้ใหม่ๆ เป็นกิจกรรมสาระบันเทิงที่ได้ทั้งความเพลิดเพลินและความรู้ อันจะเป็นประโยชน์ต่อแวดวงผู้สนใจศิลปวัฒนธรรม และเพื่อสร้างอัตลักษณ์งานศิลปวัฒนธรรมให้เป็นภาพจำขององค์กร (ไทยพีบีเอส)

และ การเขียนคำมงคลด้วยพู่กันจีน มอบให้เป็นของที่ระลึก โดย อาจารย์เจี่ยซิ่ง (MR.Jia qing) อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาจีน มหาวิทยาลัยรามคำแหง ชื่นชมการชงชาจีนหลากรส และการบรรเลงบทเพลงจากเครื่องดนตรี กู่เจิ้งและซอจีน อาทิ เพลงแม่น้ำหลิวหยาง-LiuYang River , เรือประมงยามเย็น  และดาวดวงเดือน โดย อะตอม-จักรภัทร จันทรโชติ และพีท-ปรีชารัตน์ ในรัมย์ สองนักศึกษาจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรจน์

การเสวนาฯ  ทำให้เห็นพัฒนาการของ การอพยพโยกย้ายถิ่นฐาน ของชาวจีนรุ่นแรกและรุ่นใหม่ ที่แตกต่างกันในเชิงปริมาณและสถานการณ์ ได้อย่างชัดเจน รวมไปถึง การทำความเข้าใจต่อสำนึกที่อยู่เบื้องหลังการเรียกตัวเอง ของคนจีน คำว่า ฮัวเฉียว, ฮัวอี้  คำใหม่อย่าง จงกว๋อเหริน เข้าใจในความแตกต่างทางวัฒนธรรมของชาวจีนทั้งเหนือและใต้  แม้เป็นชาวจีนเหมือนกัน แต่ก็มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนกัน

ภาพรวมการเสวนาฯ กล่าวถึง สังคมไทยในอดีต มีความสัมพันธ์อันดีกับมหาอำนาจอย่างจีน เกิดเป็น สำนวนไทย “จีนไทย….พี่น้องกัน”  สะท้อนภาพของความใกล้ชิด มิตรไมตรี อาจเกิดจากการค้าขายและย้ายถิ่นฐานของชาวจีนที่มาตั้งรกรากอยู่ในแผ่นดินสุวรรณภูมิยาวนานกว่าร้อยปี และยังมีคนไทยเชื้อสายจีนอีกจำนวนไม่น้อยที่ได้รับราชการช่วยงานกษัตริย์ทั้งของกรุงศรีอยุธยาและรัตนโกสินทร์

คนไทยเชื้อสายจีนรุ่นที่สอง  “ลูกจีน” เป็นหนึ่งในกำลังสำคัญของการเปลี่ยนแปลง ประวัติศาสตร์การเมืองและสังคมไทยหลายครั้ง ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ประเทศไทยจะเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่ คนจีนโพ้นทะเล ปรับตัวเข้ากับ วัฒนธรรมกระแสหลัก ได้อย่างกลมกลืน  ไม่ถูกเลือกปฏิบัติหรือต่อต้านอย่างรุนแรงเหมือนกับในหลายประเทศทั่วโลก

นับจากปี ค.ศ. 2000 การพัฒนาเศรษฐกิจแนวใหม่ของจีน ก่อกำเนิด ผู้อพยพรุ่นใหม่ หรือ “ซินอี๋หมิน”  อพยพจากบ้านเกิดด้วยเหตุผลด้านธุรกิจเป็นหลัก อันเนื่องมาจากนโยบายวงแหวนเศรษฐกิจ  และต่อเนื่องมาถึงสถานการณ์หลังจากวิกฤตการณ์โควิด-19 ระบาดทั่วโลก การล๊อคดาวน์เข้มงวด และปัญหาด้านเศรษฐกิจของจีน  ส่งผลให้ผู้อพยพกลุ่มนี้ มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น และจากการสำรวจในปี ค.ศ. 2020 พบว่า ชาวจีนที่เข้ามาอย่างถูกกฎหมายมีจำนวน ไม่น้อย 77,000 คน

และนับเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรก คนจีนอพยพส่วนหนึ่งถูกมองในแง่ลบจากสังคมไทย ส่วนหนึ่งเพราะ วัฒนธรรมและภาษาที่แตกต่างจากจีนโพ้นทะเลรุ่นก่อน รวมถึงการที่คนจีนอพยพรุ่นใหม่ ยังไม่สามารถปรับตัวเข้ากับภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่น และมุมมองด้านลบที่มาจากการเหมารวมคดีของชาวจีนบางกลุ่มที่ทำธุรกิจสีเทา ทั้งที่ในความเป็นจริง ชาวจีนอพยพรุ่นใหม่ที่เข้ามามีจำนวนไม่น้อย เข้ามาด้วยเรื่อง การศึกษา การทำธุรกิจ และ การหาโอกาสใหม่ๆ ในชีวิต  บางส่วนอยู่ในสายงานธุรกิจไอทีซึ่งมีความจำเป็นต้องออกมาทำงาน และได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของ Digital Nomad หรือคนพเนจร นอกจากนี้ สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของจีนในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป อาจเป็นตัวเร่งที่ทำให้ชาวจีนเดินทางออกนอกประเทศมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เป็นการยากที่จะปิดกั้นการหลั่งไหลของผู้อพยพจีนรุ่นใหม่  เรื่องเหล่านี้จำเป็นต้องกลับมาทำความเข้าใจ และเรียนรู้ในความแตกต่าง เพื่อจะอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ และ มีความเข้าใจกันและกันอย่างให้ถ่องแท้ในแง่มุมต่างๆ เพื่อให้เป็นโอกาสสำหรับความร่วมมือของสองประเทศอย่างแท้จริง ซึ่งวันสำคัญของชาวจีนที่กำลังจะมาถึงก็คือ “วันชาติจีน” ในเร็วๆ นี้

#จีน #ไทย #จีนโพ้นทะเล #หัวเฉียว #ซินอี๋หมิน #ชาวจีนอพยพยุคแรก #ชาวจีนอพยพรุ่นใหม่ #วัฒนธรรมจีน #วัฒนธรรมไทย #ภาษาจีน #ภาษาไทย #ประเพณีไหว้พระจันทร์ #ขนมไหว้พระจันทร์ #ตำนานชาวจีนโพ้นทะเล #วันชาติจีน

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of รสวรรณภัทชก์ หงษ์สุวรรณ์

รสวรรณภัทชก์ หงษ์สุวรรณ์

ด้วยใจรักและผูกพันในการทำหน้าที่สื่อมวลชนหลากหลาย ทั้งสื่อรัฐและเอกชนมายาวนาน มุ่งมั่นสร้างสรรค์สาระสำคัญอันเป็นประโยชน์ นำเสนอข่าวที่มีคุณค่า ถูกต้อง รวดเร็วทันใจ เชื่อถือได้ “KIND BUT FIRM”