ความสำเร็จของความร่วมมือ “ไทย-ญี่ปุ่น”
กรุงเทพฯ – เนื่องในโอกาส ครบรอบ 70 ปี ของความร่วมมือเพื่อการพัฒนา (ODA) ในประเทศไทย สถานเอกอัครราชฑูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) สำนักงานประจำประเทศไทย ได้ร่วมกันจัด “กิจกรรมสื่อมวลชนสัญจร ODA ญี่ปุ่น-ไทย (Japan-Thailand ODA Press Tour)” เพื่อเยี่ยมชมดูโครงการความร่วมมือระหว่างไทยและญี่ปุ่น โดยผ่านทาง JICA 2 โครงการ คือ รถไฟฟ้าสายสีม่วง และ สถานโคเซ็น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี บางขุนเทียน (KOSEN KMUTT) โดยมี นายทัตสึชิ นิชิโอะกะ รองหัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูต อัครราชฑูต และนายคัทซึยะ ซูซูกิ ผู้อำนวยการองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) พร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่สถานทูตฯ และสื่อมวลชนไทย เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา
กิจกรรมสื่อมวลชนสัญจร ประกอบด้วยฟังบรรยายโดย รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เกี่ยวกับผลสำเร็จของการส่งต่อเทคโนโลยีจากบริษัทเอกชนญี่ปุ่น นำชมสถานีและทดลองนั่งรถไฟฟ้า และ ฟังบรรยายเกี่ยวกับ สถาบันโคเซ็น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี บางขุนเทียน เยี่ยมมชมสถานบันและนิทรรศการในด้านการศึกษาและวิจัยของนักศึกษา
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2497 มาจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 70 ปี ที่ประเทศญี่ปุ่นได้ดำเนินความร่วมมือเพื่อการพัฒนา (ODA) กับประเทศไทยในหลากหลายด้าน เช่น ด้านพัฒนาทรัพยากรมนุษย์, ด้านโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น ซึ่งความร่วมมือเหล่านี้ ล้วนปรากฎตัวอยู่รอบตัวชาวไทย ได้แก่ สนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ, รถไฟฟ้ามหานครสายสีน้ำเงิน, สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา14 แห่ง สถานบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง เป็นต้น ด้วยรากฐานของความสัมพันธ์แบบไว้วางใจกัน ที่ปลูกฝังมาตลอด จากนี้ไปประเทศญี่ปุ่นยังคงความร่วมสร้างสรรค์อนาคตรุ่งเรืองและยั่งยืนไปพร้อมกับประเทศไทยต่อไป
รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง)
JICA (ไจก้า) ได้ร่วมมือกับ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานคร คือ รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกของประเทศไทย และรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง)
รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) เป็นระบบการขนส่งมวลชนระบบราง โดยใช้ระบบรถไฟฟ้าขนาดใหญ่ (Heavy Rail Transit System) ยกระดับตลอดสาย ระยะทางรวม 23 กิโลเมตร ประกอบด้วย 16 สถานี เชื่อมโยงระหว่างเขตบางซื่อ (กทม.) และอำเภอบางใหญ่ (นนทบุรี) เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2559 เป็นโครงการความร่วมมือทางการเงินระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลญี่ปุ่น ในรูปแบบเงินกู้เพื่อการพัฒนา (ดอกเบี้ยต่ำ ระยะเวลาจ่ายคืนยาว) ครอบคลุมงานด้านที่ปรึกษาและงานโยธา (โครงสร้างทางวิ่งยกระดับ สถานี ศูนย์ซ่อมบำรุง อาคารจอดแล้วจร รวมถึงงานระบบรางรถไฟ)
ขบวนรถไฟฟ้า บริษัท Japan Transport Engineering Company (J-TREC) ผู้ผลิตไฟฟ้าชั้นนำของญี่ปุ่น ได้ผลิตและได้ส่งมอบขบวนรถไฟฟ้า 21 ขบวน รวม 63 ตู้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา มีคุณสมบัติสำคัญ 3 ประการคือ มีความปลอดภัยสูง มีความเสถียร และประหยัดพลังงาน ตัวรถผลิตจากสแตนเลส จึงไม่ต้องทาสี ใช้วัสดุที่นำกลับมาใช้ใหม่ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายตลอดอายุการใช้งาน
ด้านคุณภาพการปฏิบัติการและให้บริการเดินรถของเจ้าหน้าที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ได้แก่ รฟม. ซึ่งเป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการ BEM ผู้ให้บริการการเดินรถ JTT ผู้ซ่อมบำรุงรักษา ให้ความสำคัญใน การฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่ให้มีความเชี่ยวชาญและมาตรฐานให้บริการการเดินรถเทียบเท่าญี่ปุ่น เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับบริการที่ดีทั้งในด้านความปลอดภัย ความตรงต่อเวลา และความสะดวกสบายตลอดการเดินทาง
โครงการ โคเซ็น มจธ.บางขุนเทียน
ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ. บางขุนเทียน พร้อมด้วยคณะฯ ได้ให้การต้อนรับและนำชมโครงการโคเซ็น มจธ. ที่อาคารเรียนและปฏิบัติการวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อเยี่ยมชมห้องเรียน ห้องปฏิบัติการ และนิทรรศการผลงานนักเรียน และล้อมวงคุยกับนักเรียนของโครงการ ปัจจุบันมีนักเรียนโครงการ KOSEN KMUTT จำนวน 284 คน แบ่งเป็น Automation Engineering 188 คน และ Bio Engineering 96 คน
โครงการ KOSEN KMUTT เน้นการพัฒนานักเรียน/นักศึกษาให้มีความสามารถทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ เพื่อให้เป็น วิศวกรและนวัตกร ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต โดยเน้นการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริง การทดลองและฝึกงานในสภาพแวดล้อมจริง ผู้เรียนได้รับการสนับสนุนทุนการศึกษาและสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัย และสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการสร้างสรรค์ และนวัตกรรม เพื่อเตรียมความพร้อมในการเผชิญความท้าทายในอุตสาหกรรม
โครงการมุ่งเน้นการสร้าง วิศวกรที่มีความเชี่ยวชาญ การออกแบบและควบคุมระบบอัตโนมัติ เพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล, พัฒนาและควบคุมกระบวนการทางชีวภาพเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์คุณค่าสูง เช่น อาหาร ยา เครื่องสำอาง เพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืน (Sustainability) ประยุกต์ใช้เทคโนโลยี IoT, AI, Data Engineering เพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: