เศรษฐกิจ 2568 “งูเล็ก” ท่ามกลางมรสุมการค้า และ Geopolitics
กรุงเทพฯ – นักเศรษฐศาสตร์ทีดีอาร์ไอ ชี้ปี “งูเล็ก” สถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ ทำเศรษฐกิจปั่นป่วนทั่วโลก เหตุ สหรัฐฯ เปิดสงครามการค้า ตั้งกำแพงภาษี ไทยโดนด้วย ห่วง สินค้าจีนทะลักเข้าประเทศ ทุบราคาหลายตลาด แนะรัฐบาล ใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ อย่าเน้นมาตรการระยะสั้น เตรียม “กระสุน” รับมือความไม่แน่นอน
ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา และ ผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2568 ว่า ปีนี้มีความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาจากสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์โลก หลังจากที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งคาดการณ์ว่าแนวนโยบายของสหรัฐฯจะทำให้เกิดความไม่แน่นอน และความปั่นป่วนในเศรษฐกิจโลก จากสงครามการค้า ที่สหรัฐฯจะขึ้นภาษีนำเข้า ซึ่งประเทศไทยเองก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย โดยสหรัฐฯเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของไทย มีมูลค่าการส่งออกไปที่สหรัฐฯราวร้อยละ 18 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย
เตือนเตรียมรับมือ หากถูกสหรัฐฯขึ้นภาษีนำเข้า และกดดันให้นำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ เพื่อลดการขาดดุลกับไทย
ข่าวน่าสนใจ:
ดร.กิริฎา ระบุว่า การขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ เพ่งเล็งไปที่ประเทศที่สหรัฐฯขาดดุลการค้า ซึ่งในปี 2567 ไทยเป็นประเทศในอันดับที่ 12 ที่สหรัฐฯขาดดุลด้วย โดยวิธีการลดขาดดุลของสหรัฐฯมี 2 วิธีคือ การขึ้นภาษีนําเข้ากับสินค้าจากประเทศไทย และอาจจะมีเจรจาขอให้ไทยนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯมากขึ้น ซึ่งสหรัฐฯต้องการขายสินค้าสินค้าเกษตรให้กับไทยมาหลายปีแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อหมู แต่ที่ผ่านมาไทยไม่อนุญาตให้นำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐฯเพราะมีสารเร่งเนื้อแดงเกินมาตรฐานที่ไทยกำหนด ดังนั้นไทยจึงมีความเสี่ยงที่จะถูกบีบให้เปิดการนำเข้าเนื้อหมูและสินค้าสินค้าเกษตรอื่น ซึ่งหากเป็นเช่นนี้จะส่งผลกับผู้เลี้ยงหมูในประเทศไทย ในขณะเดียวกันจะมีสินค้าจากจีนที่ถูกกำแพงภาษีสหรัฐฯกีดกันจะทะลักเข้าไทยมากขึ้น ส่งผลกระทบกับหลายธุรกิจในประเทศอย่าง เหล็ก ปิโตรเคมี พลาสติก และสิ่งทอ แต่จะเป็นผลดีกับธุรกิจที่นำเข้าวัตถุดิบ ชิ้นส่วน หรือเครื่องจักรจากจีน ที่นำไปต่อยอดผลิตสินค้าและบริการของตนเอง
ดร.กิริฎา ระบุด้วยว่า แนวนโยบายอเมริกามาก่อน (America First) อาจส่งผลให้สหรัฐฯไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างจีนกับไต้หวัน ซึ่งสถานการณ์ความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวันอาจเพิ่มมากขึ้น และส่งผลต่อค่าระวางเรือขนส่งสินค้า จากญี่ปุ่น และจีนมาไทยแพงขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่งบริษัทในไต้หวันหลายแห่งเริ่มกังวลต่อความเสี่ยง จึงโยกย้ายธุรกิจจากไต้หวัน และจีนมาลงทุนในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงไทยมากขึ้น โดยตัวเลขจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) พบว่า มีบริษัทต่างชาติหลายประเทศเข้ามาขอลงทุนในไทยผ่านบีโอไอ เนื่องจากมองว่าไทยเป็นพื้นที่ปลอดภัย เพราะวางตัวเป็นกลาง ไม่ได้เข้าข้างฝ่ายใด เรื่องนี้จึงถือเป็นปัจจัยบวกกับเศรษฐกิจของประเทศ แต่ก็มีความเสี่ยงว่าหากบริษัทจีนย้ายโรงงานมาไทยเพื่อส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯจำนวนมาก ก็อาจทำให้ถูกสหรัฐฯเพ่งเล็ง และกีดกันการนำเข้าเนื่องจากมองว่าเป็นสินค้าของบริษัทจีนได้
ดร.กิริฎา ระบุว่า แม้เหรียญจะมีสองด้าน แต่ความเสี่ยงที่แทบจะไม่มีด้านบวกเลย คือปัญหาความไม่สงบในตะวันออกกลาง ซึ่งท่าทีของทรัมป์ สนับสนุนอิสราเอล ดังนั้นความตึงเครียดระหว่างอิสราเอลกับอิหร่านจะอยู่ต่อไป โดยหากเกิดความไม่สงบขึ้นอาจจะส่งผลให้มีการปิดช่องแคบฮอร์มุซ ที่เป็นเส้นทางขนส่งน้ำมัน ก็จะกระทบต่อราคาพลังงานทั่วโลก
“ปีหน้าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกจะค่อนข้างผันผวน จึงต้องจับตาอย่างใกล้ชิดเพราะว่ามีความเสี่ยงมาก และความไม่แน่นอนก็มีหลายอย่าง ซึ่งถ้าเราตระหนัก และรับทราบปัจจัยต่าง ๆ ทางภูมิรัฐศาสตร์ ก็จะทำให้ไทยเตรียมตัวเพื่อรับมือได้” ดร.กิริฎา ระบุ
คาดปี 68 ไทยลดดอกเบี้ย 0.25 เปอร์เซ็นต์ ค่าเงิน 35 บาทต่อดอลฯ
นอกจากประเด็นทางภูมิรัฐศาสตร์แล้ว ดร.กิริฎา มองว่าเรื่องค่าเงิน และอัตราดอกเบี้ย เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลสำคัญกับระบบเศรษฐกิจโลก โดยหากสหรัฐฯขึ้นภาษีนำเข้าจะทำให้ต้นทุนการผลิตของสหรัฐฯเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เงินเฟ้อ ในสหรัฐฯลดลงช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ จึงมีแนวโน้มว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อาจจะลดดอกเบี้ยนโยบายเพียง 2 ครั้ง หรือ 0.5 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมที่นักวิเคราะห์คาดการณ์กันว่าตลอดทั้งปีจะลดถึง 4 ครั้ง หรือ 1 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย คาดว่าจะลดลงร้อยละ 0.25 ในปีนี้ ส่วนค่าเงินบาทนั้นประมาณการว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 35 บาทต่อหนึ่งดอลล่าร์สหรัฐฯ และผันผวนระหว่างปี ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงของไทย เนื่องจากไทยพึ่งพาการส่งออกและนําเข้ามาก
ปีงูเล็ก ภาคส่งออกโตเพียง 1-2 เปอร์เซ็นต์
“การที่มีสงครามการค้าจะทําให้เศรษฐกิจโลกโตช้าลง ทำให้ไทยไม่ได้รับผลกระทบเฉพาะแค่การส่งออกไปสหรัฐฯเท่านั้น แต่ตลาดส่งออกหลัก ๆ ของไทยทั้งยุโรป ญี่ปุ่น ก็กระทบไปด้วย เพราะเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ก็ชะลอตัวลงเช่นกัน คาดการณ์ในปีนี้การส่งออกไทยอาจจะโตแค่ประมาณ 1- 2 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมที่ปี 2567 โต 4-5 เปอร์เซ็นต์” ดร.กิริฎาระบุ
แนะรัฐระมัดระวังการใช้จ่าย อย่าเน้นมาตรการระยะสั้น
ดร.กิริฎา ระบุด้วยว่า เมื่อมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้นในโลกมากมาย สิ่งรัฐบาลจะต้องมีคือ “กระสุน” หรือ เงินงบประมาณ เพราะหากมีวิกฤตอะไรเกิดขึ้น เช่น ราคาน้ำมันพุ่งขึ้น ภัยธรรมชาติ หรือ โรคระบาด จะต้องมีงบประมาณที่จะใช้จ่ายในการช่วยเหลือประชาชน
“รัฐบาลอาจไม่ต้องถึงกับมีเงินเก็บ แต่ว่าถ้าเราไม่สร้างหนี้เยอะในวันนี้ ก็แปลว่าในอนาคตเราสามารถที่จะกู้เงินได้เพิ่มถ้าจําเป็น แต่ถ้าวันนี้เรากู้เงินจนเต็มเพดานแล้ว พอมีวิกฤตเกิดขึ้นตอนนั้นรัฐบาลก็จะช่วยประชาชนได้ยาก เพราะฉะนั้นรัฐบาลจะต้องใช้เงินอย่างระมัดระวัง และมีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์กับการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน ไม่ใช่มาตรการระยะสั้น เพราะความไม่แน่นอนเหล่านี้ ไม่ได้อยู่กับเราแค่ปีนี้ แต่จะอยู่อย่างน้อย ๆ 4 ปี ตามวาระของประธานาธิบดีสหรัฐฯ” ดร.กิริฎา ระบุ
ดร.กิริฎา ยกตัวอย่างการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ และยั่งยืนด้วยว่า รัฐควรลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล เช่น สัญญาณอินเทอร์เน็ตให้เร็วและแรง เพราะเป็นปัจจัยที่ภาคธุรกิจด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ต้องการ ซึ่งหากพัฒนาในเรื่องนี้ได้จะสามารถดึงดูดให้เข้ามาลงทุนในไทยได้ รวมไปถึงการส่งเสริมการผลิตพลังงานสะอาด การยกระดับทักษะแรงงาน และการลดข้อจำกัดในการลงทุน โดยปรับปรุงกฎหมาย และกฎระเบียบการขออนุญาตต่างๆที่ยังมีความซ้ำซ้อนอยู่ ให้เอื้อต่อการลงทุนและการทำธุรกิจ ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนไปได้
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: