X

“ลูกเต่ากระ” แห่ง “เกาะทะลุ” กับผลกระทบจาก Climate Change

“ลูกเต่ากระ” แห่ง “เกาะทะลุ” กับผลกระทบจาก Climate Change

ตอนที่ 1 /  2

                ครั้งหนึ่ง สมัยซึ่งยังไม่ประสีประสากับโลกใต้ทะเลไทยเท่าไรนัก  จำได้ดี วันนั้นคณะของเราพากันลงเรือไปดำน้ำลึกกลางทะเลกันได้อย่างราบรื่น และระหว่างที่ร่วมขบวนชมความงามใต้ทะเลกันไปอย่างเพลิดเพลินนั้น พลันสายตาของผมก็มองไกลออกไปเห็นก้อนหินใหญ่โดดเด่นก้อนหนึ่ง อยู่ตรงน้ำลึกสัก 10เมตร  มีเต่าใหญ่ตัวหนึ่งอวดโฉมชูคองามสง่าอยู่บนยอดหิน เห็นเหมือนมันกำลังชะเง้อกวาดสายตามองไกลออกไปรอบ ๆ

ไม่รอช้า ผมค่อยๆพาตัวตรงไปที่เต่าใหญ่เบื้องล่างนั้น  ตั้งใจจะไปถ่ายภาพมันสักหน่อยหากฉับพลันก็มีก้อนใหญ่ ๆของอะไรอีกสักอย่างที่มองเห็นไม่ทันชัด  พุ่งแซงข้ามหัวผมไปด้วยความเร็วน่าตกใจ  เป้าหมายคือไปที่เต่าใหญ่บนยอดหินนั้นเช่นกัน  ภาพที่ผมได้เห็นต่อไป  ก็คือภาพของเต่าใหญ่สองตัว ที่ลอยขึ้นจากยอดหินแบบซ้อนทับกัน โดยที่หางของตัวที่อยู่ข้างบนนั้นดูเหมือนจะขยายใหญ่โตและชอนไชเข้าไปทางเบื้องหลังของเต่าใหญ่ตัวที่อยู่ด้านล่าง

อ้อ เข้าใจแล้ว ภาพที่ผมได้เห็นนั้นก็คือ  ฉากการ mating กันของเต่าใหญ่สองตัวนั้นเอง เต่าตัวเมีย เมื่อถึงเวลาผสมพันธ์  ธรรมชาติได้บอกมันให้ขึ้นไปแสดงตัวบนก้อนหินใหญ่ที่โดดเด่นมองเห็นได้ชัดจากรอบด้าน  และ เจ้าตัวผู้ มาจากไหนไม่รู้  อาจจะกลัวผมเข้าไปทำอะไรกับเจ้าตัวเมียก่อน  จึงพุ่งแรงแซงพรวดข้ามหัวผมไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วได้ระดับนั้น

และที่น่าประหลาดใจยิ่งไปกว่าก็คือ  ระหว่างที่ผมตั้งใจถ่ายภาพเต่าสองตัว mating กันอยู่นั้น  ผมก็เพิ่งจะพบว่า  รอบตัวพลันมีเต่าตัวผู้อีกหลายๆ ตัวพากันเข้ามาว่ายวนอยู่รอบ ๆ  อ้าววว นี่ยังไง  จะมาเล่นมวยหมู่กับแม่เต่าของผมตัวนี้กันหรืออย่างไร

ต.เต่ากระ แห่ง เกาะทะลุ

คุณ ต.เต่า ดูคล้ายจะเป็นสัตว์ทะเลตัวใหญ่ อุ้ยอ้าย เชื่องช้า ใจดี  กระดองเต่าที่ดูหนาหนักที่น้องเต่าแบกเอาไว้  ดูเหมือนจะทำให้น้องเต่าท่าทางจะต่อสู้กับสัตว์อื่น ๆได้ลำบาก  ดังนั้น เต่า จึงมีธรรมชาติเฉพาะตัวที่พิเศษสุด นอกจากกระดองเต่าที่แข็งเหมือนหินจะเป็นปราการชั้นที่หนึ่งแล้ว  เต่ายังมีจำนวนการขยายพันธ์ได้ครั้งหนึ่งมากเป็นพิเศษ  แม่เต่าตัวหนึ่ง  เมื่อวางไข่จะมีไข่พร้อมผสมพันธ์อยู่ในตัวถึงคราวละ 80 – 200 ฟองเลยทีเดียว  และ แม่เต่าตัวหนึ่ง  จะขึ้นวางไข่ในรอบปีเดียวถึงอย่างน้อย 4 ครั้ง ติดๆกัน  กินเวลาประมาณ 1 เดือน ซึ่งนั่นหมายความว่า  แม่เต่าจะต้องมีไข่เต่าที่พร้อมวางไข่อยู่รวมกันถึง ตัวละ ประมาณไม่ต่ำกว่า 800 – 1000  ฟอง  ต่อ 1 รอบปี และนี้แหละเป็นเหตุให้ แม่เต่า ต้องการตัวผู้มาปล่อยเชื้อผสมพันธ์ให้กับไข่ของตนเป็นจำนวนมากมายหลายตัวเช่นเดียวกัน

พี่ชาติ หรือ คุณสุชาติ แจ้งกระจ่าง เจ้าหน้าที่ของอุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม จังหวัประจวบคีรีขันธ์  ซึ่งทำหน้าที่ดูแล  ศูนย์อนุรักษ์และวิจัยทรัพยากรทะเลสยาม  หรือ บ้านน้องเต่า  แหล่งเพาะเลี้ยงอนุรักษ์พันธ์เต่ากระ แห่งเกาะทะลุ ซึ่งมีสถานะเป็นมูลนิธิเอกชน มีสถานที่ตั้งอยู่ตรงกึ่งกลางชายหาดสวยงามของ อ่าวใหญ่ แห่งเกาะทะลุ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ บอกกับเราว่า

           “จากการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ได้พิสูจน์ทราบแน่ชัดแล้วว่า ความแตกต่างทางอุณหภูมิ ระหว่างการฟักไข่ในรังใต้พื้นทรายจะเป็นสิ่งซึ่งแยกแยะเพศของลูกเต่าที่จะฟักออกเป็นตัว หากอุณหภูมิสูง หรือ ร้อน ลูกเต่า ในรังไข่มากมาย ก็จะฟักออกมาเป็นเพศผู้ และหากอุณหภูมิต่ำหรือเย็น  ลูกเต่า ก็จะฟักออกมาเป็นเพศเมีย ธรรมชาติเป็นมาอย่างนี้ช้านานอย่างสมดุลย์  ทำให้เต่าสามารถสืบสายพันธ์กันต่อมาได้เรื่อย ๆ  เพิ่งจะเร็ว ๆนี้  กับปรากฏการณ์น้ำทะเลร้อนขึ้น  ที่ทำให้ทางเรากังวลใจว่า  การเกิดเพศของลูกเต่าจะได้รับความกระทบกระเทือน   เพราะเคยมีอยู่เหมือนกันที่ลูกเต่าทั้งรังเป็นร้อยตัว ได้กลายเป็นลูกเต่าเพศผู้กันทั้งหมด  ซึ่งจะส่งผลกระทบกับการสืบสายพันธ์ต่อไปเป็นอย่างยิ่ง “

 เกาะทะลุ  เป็นเกาะท่องเที่ยวสวยงามใกล้ชายฝั่ง อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นเกาะที่ตั้งอยู่ตรงเส้นขอบๆของแนวน้ำลึกที่เว้าเข้ามาใกล้ชายฝั่งมาก  ที่นี่น้ำทะเลจึงไหลเวียนดี  ทำให้น้ำทะเลใสสะอาดเป็นสีฟ้าน้ำเงินมากกว่าสีเขียวสีเทา หรือสีทึบ ๆ แตกต่างจากชายฝั่งของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ทั่วไป  บนเกาะทะลุ จึงมีหาดทรายขาวสะอาดยาวเหยียดหลายหาด  และ น้ำทะเลจะเป็นสีสวยใส ที่นี่จึงเป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะ นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่อยู่ไกลถึงหัวหิน ชะอำ  ซึ่งเป็นเป้าหมายของผู้ประกอบการที่พักบน เกาะทะลุด้วยเช่นกัน

นักท่องเที่ยวต่างประเทศเหล่านี้  หากอยากจะลงไปเล่นน้ำดำผุดดำว่ายในน้ำทะเลจริง ๆ  และ ถ้ามัคคุเทศก์หรือ ผู้ประกอบการจะมีคุณธรรมสักหน่อย  ก็จะแนะนำให้นักท่องเที่ยวพากันมาไกลถึงที่นี่   เพราะที่หัวหิน ชะอำ กระทั่ง ปราณบุรี และ หาดอื่น ๆ สีของน้ำทะเลมักจะดูไม่สะอาด  เป็นสีเขียวสีขุ่นไปจนถึงสีคล้ำ  แตกต่างจากสีฟ้า น้ำเงิน ของเกาะทะลุแห่งนี้  เพราะ ที่หัวหิน ชะอำ และ แหล่งท่องเที่ยวสำคัญอื่น ๆ ของ จ. ประจวบ ฯ วันนี้   ได้มีสิ่งปลูกสร้าง  มีที่พัก ร้านอาหาร และ ผู้คนภาคบริการการท่องเที่ยวเข้ามาอยู่อาศัยมากมาย น้ำเสีย จากการอยู่อาศัยของผู้คนจำนวนไม่น้อยจึงถูกปล่อยทิ้งลงทะเลใกล้เคียงกับพื้นที่หาดทรายเป็นจำนวนมากนั้นเอง

คุณปรีดา เจริญพักตร์  อดีตประมงทะเลผู้ช่ำชอง ผู้ประกอบการท่องเที่ยวสำคัญรายเดียวของเกาะทะลุ บอกกับเราว่า ประมาณปี พ.ศ. 2550 ทางเราเพิ่งพบว่า มีเต่าขึ้นวางไข่ บนเกาะทะลุ เป็นเต่าสายพันธ์เต่ากระ ซึ่งจะมีมูลค่าสูงกว่าเต่าสายพันธ์อื่น ๆ เพราะกระดองสวยงามของมัน ได้ถูกนำมาแปรรรูปเป็นกำไลข้อมือ  กรอบแว่น หวีผม ฯลฯ ได้รับความนิยมมาก จนเป็นที่มาของวลี .. ซากสัตว์ บนเรือนร่างหญิงงาม .. ที่นักอนุรักษ์สัตว์ทั้งหลายมอบให้แก่ผู้นิยมใช้เครื่องประดับร่างกายที่ผลิตจากกระดองเต่ากระ

นับแต่นั้น ทางเราผู้ประกอบการบนเกาะทะลุ ก็มีความตั้งใจทำการอนุบาลลุกเต่าอย่างจริงจัง  และได้ทำการจดบันทึกสถิติต่าง ๆไว้เป็นอย่างดี  โดยได้รับการช่วยเหลืออย่างแข็งขันจาก กองทัพเรือ ซึ่งได้ส่งผู้เชี่ยวชาญตลอดจนทหารประจำการมาอยู่ดูแลช่วยเหลือบนพื้นที่เกาะเป็นพิเศษ  จนมีการยกระดับจัดตั้งเกาะทะลุเป็นศูนย์อนุรักษ์พันธ์พืช ภายใต้พระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า  กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เพื่อร่วมมือช่วยกันดูแลเต่ากระและ พื้นที่เกาะทะลุให้มีความเป็นธรรมชาติที่สวยงามทรงคุณค่า เป็นอย่างดี

ในทุกวันนี้ บนเกาะทะลุ มีศูนย์อนุบาลเต่าที่พร้อมมูลยิ่งขึ้นในหลากหลายระบบ มีการจัดเก็บสถิติตัวเลขบันทึกพฤติกรรมเต่า มีการดูแลอนุบาลลูกเต่าจนพร้อมที่จะปล่อยกลับคืนลงทะเล เมื่อกระดองเต่าแข็งแรงอายุครบ 1 ปี สามารถป้องกันตัวเองได้ในระดับหนึ่ง อีกทั้งยังมีการติดตามดูแลการขึ้นมาวางไข่ของแม่เต่า เพื่อให้ได้จำนวนลูกเต่าในแต่ละปีที่มั่นคง และ สิ่งพิเศษอีกอย่างหนึ่งก็คือ  ในขณะที่ในแหล่งอนุรักษ์พันธ์เต่าทะเลหลายแห่งในประเทศไทย เช่น ที่กองทัพเรือสัตหีบ  เกาะมันใน  เกาะสิมิลัน  หรือ เกาะภูเก็ต มีภาวะขาดแคลน  ไม่มีแม่เต่าขึ้นมาวางไข่ในพื้นที่มาแล้วช้านาน แต่ที่เกาะทะลุ ยังมีการขึ้นวางไข่ของแม่เต่าอย่างสม่ำเสมอทุกปี  และ สามารถจัดสรรลูกเต่าเพื่อปล่อยลงทะเลของทางเกาะเอง และยังสามารถเป็นกำลังเสริมเผื่อแผ่ส่งมอบลูกเต่าให้แก่สถาบันต่าง ๆ เพื่อนำปล่อยเป็น CSR ของแต่ละองค์กรที่กล่าวถึงได้เป็นอย่างดี

บนเกาะทะลุ  ยังมีการดูแลรักษาแนวปะการังรอบพื้นที่เกาะอย่างตั้งใจอีกด้วย  นั่นคือ มีการเฝ้าระวังการเข้ามาจับปลาอย่างผิดกฎหมาย  ส่งเสริมการประมงในรูปแบบเชิงนิเวศ เช่น การจัดทำโป๊ะเชือกชายฝั่ง การจัดการปลูกปะการังในพื้นที่เป็นครั้งคราว ตลอดจนการให้การศึกษาแก่นักท่องเที่ยวและครอบครัวชาวประมงชายฝั่งใกล้เคียงในเรื่องการอนุรักษ์ทะเลอย่างยั่งยืนอีกด้วย

สำหรับ ปรากฏการณ์โลกร้อน ซึ่งเกิดขึ้นอย่างเป็นลำดับในหลาย ๆปีที่ผ่านมา  ในฐานะผู้ประกอบการท่องเที่ยวรายเดียวบนเกาะขนาดใหญ่แห่งนี้  คุณปรีดาบอกเล่าให้ข้อมูลกับเราว่า

 “ เราพบว่า  ที่นี่   มีการเกิดปะการังฟอกขาวอยู่บ้างในบางปีที่ผ่านมา  แต่ผลกระทบที่รุนแรงและจริงจัง  กลับเป็นปรากฏการณ์น้ำทะเลขึ้นสูง กัดเซาะชายฝั่ง และ เปลี่ยนแปลงรูปร่างของชายหาด  ซึ่งทำให้เกิดการทรุดตัวของชายหาด  ความสวยงามของชายหาดเปลี่ยนไป  ทางผู้ประกอบการต้องลงมือแก้ไขด้วยการลงทุนต่าง ๆ  เช่น การเติมทรายให้กับชายหาด  การสร้างแนวหินป้องกันคลื่นทะเล  เป็นต้น กลายเป็นเม็ดเงินลงทุนของผู้ประกอบการที่มีความสำคัญมาก “

หากในสถานะของชาวประมงในพื้นที่  ผู้เคี่ยวกรำกับชีวิตลูกทะเลอ่าวไทยมาตั้งแต่เกิด  คุณปรีดา กลับมีแนวคิดไปอีกด้านหนึ่ง  และ บอกกับเราว่า   สภาวะที่เรียกกันว่า โลกร้อน นี้  น่าจะเป็น  ความพยายามกลับคืนตัวตนของธรรมชาติเท่านั้น ปริมาณฝนตก และ ลมแรง น่าจะไม่แตกต่างกันมากมายนักกับในอดีตของภาคใต้  ซึ่งเป็นพื้นที่มีปริมาณฝนตกชุกลมแรงอยู่แล้วเป็นปรกติ  หากแต่พฤติกรรมของคนเราเอง นี้แหละที่เป็นสิ่งสำคัญมากกว่า เพราะการขยายตัวของชุมชน การสร้างหมู่บ้านถนนหนทางขึ้นใหม่อย่างหลากหลาย ได้มีการบุกรุกเข้าไปสู่เขตป่าเขาต้นน้ำลำธาร มีการเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ มีการสมรู้ร่วมคิดกันของเจ้าหน้าที่กับผู้บุกรุก  ด้วยความเป็นญาติพี่น้อง หรือ มีการให้อามิสสินจ้าง มีการกระทำ หรือ งดเว้นการกระทำ มีการหลับตาข้างเดียวของเจ้าหน้าที่รัฐ อย่างที่ประเทศไทยเราคุ้นชิน และ ผู้คนส่วนใหญ่ยอมจำนนกับระบบ จนในที่สุด  เกิดการปิดกั้นขัดขวางการไหลลงทะเลของสายน้ำธรรมชาติ  ทำให้เกิดการเปลี่ยนทางเดินของน้ำอย่างฉับพลัน  นี้จึงเป็นตัวการสำคัญของ น้ำป่า  น้ำท่วมขัง ซึ่งเป็นสาธารณภัยยิ่งใหญ่แก่ประชาชนทั่วไป

        หากแต่  คนเรากำลังโยนความผิดนี้ไปให้กับจำเลยรายใหม่ นั่นคือ  สภาวะโลกร้อน หรือ Climate Change นี้อย่างไร หรือไม่ แทนที่จะมองดูตนเอง และเห็นถึงความผิดความชั่วร้ายของการกระทำที่ทำร้ายธรรมชาติของเหล่าบรรดาพวกพ้องตนเองเป็นสำคัญ

………..

เรื่อง: อภินันท์ บัวหภักดี, รสวรณภัทชก์ หงษ์สุวรรณ์          ภาพ: อภินันท์ บัวหภักดี

ผลงานชิ้นนี้เผลิตโดยนักข่าวที่เข้าร่วมโครงการ UNDP Media Fellowship on Sustainable Development

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of รสวรรณภัทชก์ หงษ์สุวรรณ์

รสวรรณภัทชก์ หงษ์สุวรรณ์

ด้วยใจรักและผูกพันในการทำหน้าที่สื่อมวลชนหลากหลาย ทั้งสื่อรัฐและเอกชนมายาวนาน มุ่งมั่นสร้างสรรค์สาระสำคัญอันเป็นประโยชน์ นำเสนอข่าวที่มีคุณค่า ถูกต้อง รวดเร็วทันใจ เชื่อถือได้ “KIND BUT FIRM”