X

ถอดบทเรียน: โลกรวน ป่วนท่องเที่ยวไทย “เกาะทะลุ” ปรับตัว รับมือโลกร้อน สู่การท่องเที่ยวยั่งยืน

ถอดบทเรียน: โลกรวน ป่วนท่องเที่ยวไทย“เกาะทะลุ” ปรับตัว รับมือโลกร้อน สู่การท่องเที่ยวยั่งยืน

ท่ามกลาง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ได้กลายเป็นความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติ อุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบนิเวศ เศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของผู้คนทั่วโลก อะไรจะเกิดขึ้นหากอุณหภูมิโลกทะลุเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส แน่นอนว่าพืชที่เป็นต้นกำเนิดแหล่งอาหาร ต้องได้รับผลกทระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ปริมาณสัตว์น้ำและสิ่งมีชีวิตในทะเลลดลง เมื่อสภาพอากาศคาดเดาไม่ได้ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว จึงต้องเผชิญกับความท้าทายนี้ด้วย

จากรายงานสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย โดย www.undp.org พบว่าไทยเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบร้ายแรงจากภาวะโลกรวน ความเสี่ยงของประเทศไทย ตอกย้ำว่า แผนการรับมือกับภาวะโลกรวนเป็นเรื่องเร่งด่วน ที่ต้องแก้ปัญหาผ่านหลายแนวทางร่วมกัน เช่น งบประมาณที่ต้องบูรณาการเรื่องโลกรวนเพื่อให้เราตั้งรับได้ นโยบายของทุกภาคส่วนในมิติเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ต้องมองเรื่องโลกรวนเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ไม่มองแยกขาดจากกัน และต้องประเมินความเสี่ยงเรื่องโลกร้อน พร้อมการปรับแนวทางให้สอดรับและยืดหยุ่นกับผลกระทบและความเสี่ยง

ความเสียหายจากโควิด-19 ที่ผานมา เป็นเพียงคลื่นลูกแรกที่ซัดสาด แต่ยังมีคลื่นยักษ์ลูกใหญ่มหึมากำลังถาโถมเข้าใส่ ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวไทย ที่ต้องรับมือกับภัยคุกคามจาก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะระบบนิเวศที่ต้องพึ่งพิงกันเพื่อความอยู่รอด เมื่อต้องประสบกับภัยธรรมชาติ น้ำท่วม ความร้อนและภัยแล้ง ทั้งภาคการเกษตรและอาหาร การจัดการน้ำ การท่องเที่ยว การสาธารณสุข  ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการอพยพย้ายถิ่นฐานและความปลอดภัย

นางสาวน้ำฝน บุณยวัฒน์ รองผู้ว่าการด้านนโยบายและแผนของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย  เคยกล่าวถึง ภาพรวมสถานการณ์ปัญหา ที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวไทย เผชิญกับ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การกำหนดฤดูกาลท่องเที่ยวทำได้ยาก การสร้างจุดขายและกิจกรรมต้องปรับใหม่ ความไม่มั่นใจในความปลอดภัย การเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ ทะเล ภูเขาและป่า ซึ่งอ่อนไหวต่อการตัดสินใจของนักท่องเที่ยว ยังส่งผลกระทบต่อแหล่งอาหาร ทั้งด้านคุณภาพและปริมาณ

“ธุรกิจการท่องเที่ยว เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ต้นทุนทางธรรมชาติของประเทศมากที่สุด อาจกล่าวได้ว่าเอาเปรียบโลกมานานแล้ว จึงถึงเวลาที่ต้องจัดการให้ธุรกิจท่องเที่ยวคืนประโยชน์กลับสู่ธรรมชาติ เพื่อให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม”

นางสาววสุมน เนตรกิจเจริญ นายกสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (TEATA) กล่าวถึงแนวทางที่ผู้ประกอบการในภาคธุรกิจท่องเที่ยวจะสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาวะโลกร้อนโลกแปรปรวนว่า ต้องสร้างสมดุลระหว่างการท่องเที่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้องมีความรับผิดชอบต่อการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ให้ความรู้เกี่ยวกับการท่องเที่ยวที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม มีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวสัมผัสวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่น และร่วมกันขับเคลื่อนเรื่อง Green อย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในวงกว้างและยั่งยืนของการท่องเที่ยว

นายเผ่าพิพัธ เจริญพักตร์ กรรมการผู้จัดการ “เกาะทะลุ ไอส์แลนด์ รีสอร์ท” บนฝั่งเกาะ และ “โรงแรมเกาะทะลุ ออนชอน” บนฝั่งแผ่นดินที่สร้างขึ้นใหม่ และ เลขาธิการมูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากรทะเลสยาม กล่าวถึง ภาพรวมธุรกิจท่องเที่ยวของเกาะทะลุ และการรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) การปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพของเกาะ  ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในเขตทะเลอ่าวไทย เดินทางจากรุงเทพฯ ไปทางภาคใต้ 400 กิโลเมตร ตัวเกาะห่างจากฝั่งแผ่นดิน10 กิโลเมตร ข้ามฝั่งด้วยเรือสปีดโบ้ตใช้เวลา 15 นาที

“เกาะทะลุ” โอบล้อมด้วยน้ำทะเลสีฟ้าใสและหาดทรายขาวละเอียด อุดมสมบูรณ์ด้วยธรรมชาติทั้งบนเกาะและใต้ทะเล ให้บริการที่พัก-อาหาร และกิจกรรมใกล้ชิดธรรมชาติ อาทิ ชมความงามใต้ทะเลที่มีแนวปะการัง ดำน้ำแบบ Snorkeling พายบอร์ดชมปะการังน้ำตื้น ล่องแพตกหมึก พายคายัค พายซับบอร์ด แล่นเรือใบ ไคท์เซิร์ฟ สัมผัสวิถีชีวิตเต่ากระที่ศูนย์อนุรักษ์-บ้านน้องเต่า ชมพระอาทิตย์ขึ้น-ตก ศึกษาเส้นทางธรรมชาติและพืชสมุนไพร ฝึกทำอาหาร และ Check-in จุดแลนด์มาร์คของช่องเกาะทะลุ เป็นต้น

ผลกระทบที่อาจเกิดจาก Climate Change “ปะการัง” เกิดฟอกขาว ตายกว่า 90%

นายเผ่าพิพัธ เปิดเผยว่า เกาะทะลุได้เก็บสถิติ จดบันทึกปรากฏการณ์ฟอกขาวที่เกิดขึ้นกับแนวปะการัง พบว่าที่ผ่านมามีเกิดขึ้นเกือบทุกปี บางปีไม่มีเลย แต่ตอนนี้มีความถี่มาก เกิดขึ้นทุกปี แนวปะการังกิ่งเขากวางตายมากถึง90% ตายจากข้างล่างขึ้นมา เพราะมีสาหร่ายที่เป็นปรสิตมาเกาะกิน การฟอกขาวทำให้ปะการังยิ่งอ่อนแอ บางปีปะการังเขากวางไม่ฟอก แต่ปะการังโขดมีฟอกขาวเต็มไปหมด ต้องตามเก็บสถิติไว้ เพื่อหาคำตอบที่ชัดเจนอีกระยะหนึ่ง อาจมีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็เป็นไปได้

“เราปกป้อง รักษา อนุรักษ์ ฟื้นฟูทะเลและแนวปะการังใต้ทะเลเกาะทะลุ โดยร่วมมือกับพันธมิตร ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ชาวประมง ชาวชุมชนและนักวิชาการ ด้วยการตัดส่วนที่ยังมีชีวิตออกมาก่อน แล้วนำไปลงในแปลงเลี้ยง ตามกระบวนการรากเทียมประยุกต์ ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าจะฟื้นหรือจะตาย เมื่อดูว่าแข็งแรงดี ก็จะนำไปเสียบติดไว้ตามแนวปะการังเดิมและบริเวณใกล้เคียง เพื่อให้เป็นบ้านปะการัง ต่อมาได้พบว่ามีตัวอ่อนปะการังเกิดขึ้น มีปลาหลากหลายชนิดเข้าไปอาศัยอยู่จำนวนมาก”

ด้านอารมณ์ความรู้สึกของนักท่องเที่ยวที่มีต่อปะการังฟอกขาว พบว่าแล้วแต่มุมมองของแต่ละคน บางคนมาเพราะคาดหวังใกล้ชิดธรรมชาติ บางคนอยากดูให้รู้ว่าปะการังฟอกขาวเป็นอย่างไร ส่วนคนที่มาเพื่อเรียนดำน้ำไม่มีผลกระทบใด เพราะเขารู้ดีว่าการเกิดฟอกขาวนั้นเป็นปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ ที่จะเกิดขึ้นเพียงระยะเวลาสั้นๆ แล้วกลับคืนสู่ความปรกติ ทางเกาะจึงต้องมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันไว้ตอบคำถาม

“นักท่องเที่ยวจะพูดถึงความรู้สึกของตน เป็นห่วงจังเลย กลัวปะการังจะตาย เขาจะช่วยได้อย่างไร บางคนบอกว่าจะช่วยกันสื่อสารประชาสัมพันธ์ ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์มของเขา เพื่อให้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ด้วยการไม่รบกวนปะการัง ปลา เต่า เช่นการไม่ทิ้งขยะพลาสติกลงในทะเล ไม่ทำร้ายโลก โดยหันไปใช้พลังงานหมุนเวียน พลังงานสะอาด ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อนโลกรวน” นายเผ่าพิพิธ เล่าถึงเสียงสะท้อนจากนักท่องเที่ยว

“แม่เต่า” หายไป  “ลูกเต่า” เกิดใหม่น้อยลง

“บ้านน้องเต่า” อยู่ในความคุ้มครองของ มูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากรทะเลสยาม บริเวณพื้นที่หาดทรายปลายสุดของเกาะเงียบสงบ แม่เต่ากระหลายตัวที่ติดชิฟและบันทึกสถิติไว้ จะขึ้นวางไข่ไว้หลายรัง แต่ในปีนี้พบว่ามีแม่เต่าขึ้นมา 2 ตัว  “แม่เพรียง” วางไข่ปรกติ มีจำนวนสม่ำเสมอ ส่วนแม่ที่สองยังหาตัวไม่เจอ วางไข่แค่สองรังแล้วก็หายไป ยังดูไม่ออกว่าเป็นเพราะได้รับผลกระทบจาก Climate Change หรือไม่

“ปรกติแม่เต่ากระวางไข่ 4-5 รัง หลุมของแม่เพรียงรังแรกถือว่าดี มีไข่มาก แต่รังที่เหลือมีไข่ลดลงเหลือเพียง 25 % อาจมีหลายปัจจัย หรือเพราะโลกร้อนโลกแปรปรวนก็ได้ หากปีนี้มีไข่มาก ในปีถัดไปอาจมีจำนวนไข่น้อยลง จึงต้องเก็บข้อมูลบันทึกเป็นสถิติไว้อีก 3ปี หรือ 5 ปี หากลดลงอย่างต่อเนื่อง เราอาจสรุปได้ว่าเป็นเพราะ Climate change….”

“เกาะทะลุ” รับมือ Climate change ยิ้มสู้สู่ธุรกิจท่องเที่ยวยุคใหม่ Net Zero และ Go Green

นายเผ่าพิพัธ กล่าวว่า เกาะทะลุ ดำเนินธุรกิจบริการที่พัก อาหาร และกิจกรรมท่องเที่ยว มี 2 แห่ง  “เกาะทะลุ ไอส์แลนด์ รีสอร์ท” บนเกาะทะลุ และโรงแรมใหม่ “เกาะทะลุ ออนชอน” มีห้องพัก 41 ห้อง บนฝั่งแผนดิน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ ครอบครัวคนไทย ผู้สนใจการดำน้ำและกิจกรรมทางทะเล และลูกค้าเทรนด์ใหม่นิยมเดินทางมาทำงานและท่องเที่ยวด้วย เป็นกลุ่มลูกค้าที่เพิ่มขึ้น

“ทั้งสองแห่งได้รับการออกแบบโครงสร้างอาคาร บ้านพัก ห้องพัก เกาะทะลุวางแผนรองรับ Net Zero และ Go Green ไว้ตั้งแต่แรกเริ่มตามหลักภูมิศาสตร์ ผลิตและใช้พลังงานไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนจากธรรมชาติ พลังงานจากแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ พลังงานชีวมวล วัสดุอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวก เครื่องใช้ ตกแต่งประดับ วัตถุดิบที่นำมาทำอาหาร เครื่องดื่ม คัดสรรสิ่งที่มีในท้องถิ่น ให้ความสำคัญกับความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมครบวงจร เพื่อความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน”

สำหรับ “เกาะทะลุ ออนชอน” (Koh Talu On Shore) เป็นแนวคิด Stay On Shore – Explore the Island หนึ่งในวิสัยทัศน์ของแบรนด์เกาะทะลุ ปรับตัวเพื่อรองรับสู่ธุรกิจท่องเที่ยวยุคใหม่ Net Zero และ Go Green การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ตอบโจทย์นักท่องเที่ยว องค์กร หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ให้ความสำคัญกับธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทุกมิติ Go Green และที่พัก LONG STAY เชิงสุขภาพด้วย

การปรับตัวรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โลกร้อน โลกแปรปรวน ในฐานะผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวเกาะทะลุ ได้ให้ความสำคัญกับ การประหยัดพลังงานไฟฟ้าอย่างจริงจัง อย่างเช่นกำหนดให้มีช่วงเบรกการใช้พลังงานไฟฟ้าวันละ 2 รอบคือ รอบเวลา 09.00-11.00 น. และ รอบเวลา 15.00-17.00 น. ทั้งฝั่งเกาะทะลุและฝั่งแผ่นดิน บริเวณท่าเรือและสำนักงาน การรักษาความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยว เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในระยะยาวได้อย่างยั่งยืนต่อไป

ลูกค้าของเกาะทะลุ ไอส์แลนด์ รีสอร์ท เป็นกลุ่มกลางๆ เกาะทะลุ ไม่ได้เป็นแบบแอดเวนเจอร์ ไม่ได้สวยอย่างหมู่เกาะสุรินทร์ที่ดำดูปะการังซีแฟน ของเรามีความเป็นกลาง ปะการังก็ดี ทะเลก็สาย อาหารการกิน และสิ่งอำนวยความสะดวกก็โอเค บรรยากาศที่พักบนเกาะก็ไม่ได้ถึงกับเป็นโฮมสเตย์ แต่ไม่ใช่รีสอร์ท แต่มีความผสมกลมกลืนกับธรรมชาติ อย่างที่คนชอบความสงบ สบาย ง่ายๆ แต่ประทับใจ

“คนมาที่นี่ ส่วนใหญ่ไม่ได้คาดหวังความเป็นเลิศ ที่นี่มีเสน่ห์บางสิ่งที่ให้ความประทับใจ กิจกรรมทำขนม ทำอาหาร ป้ามาลัยพาไปตกหมึกมาทำหมึกน้ำดำ วันดีคืนดีแม่ครัวพาไปขุดหอยตลับตัวเล็กๆ มาดองน้ำปลา เป็นประสบการณ์ที่ความกลมกล่อม เพราะมีคนที่ชอบอย่างนี้ เราก็เลยได้ลูกค้ากลุ่มแบบนี้”

ใจเขาใจเรา: ต้องให้กำลังใจกันและกัน

นายเผ่าพิพัธ เจริญพักตร์ ย้ำว่า “การให้กำลังใจกัน” ระหว่างผู้ประกอบการมีความสำคัญมาก เพราะในสถานการณ์ปัจจุบัน ทุกคนย่ำแย่กันพอสมควร สิ่งที่เคยมีบางทีก็ไม่ work  นักท่องเที่ยวเปลี่ยนไปมาก ทั้งความคิดและการวางแผนท่องเที่ยว การเตรียมตัวให้พร้อมจึงเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เราก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อม

“ผู้ประกอบการต้องให้กำลังใจกัน บรรยากาศในการแข่งขันอย่างที่เคยเป็น น้อยลงเยอะ ถ้าคนที่โดนผลกระทบต้องปรับตัว ไม่ต้องพูดถึงการแข่งขัน เอาแค่เอาตัวเองให้รอด ตอนนี้ขอให้รอด ผ่านไปในแต่ละเดือน มีเงินจ่ายลูกน้อง ไม่ต้องคิดจะไปแข่งกับใคร….”

และในฐานะนักธุรกิจและผู้นำองค์การ เราเลือกที่จะ “คุยกับคน” คุยกับพี่กับเพื่อน คุยกับคนที่เรารู้จัก เราจะได้ระบาย ได้แชร์ ได้เรียนรู้ และได้กำลังใจจากคนรอบข้าง คือต้องคุย ต้องสื่อสาร คิดคนเดียวก็เครียด ไปหาคนคุยด้วย คิดอะไรไม่ออกไปหาคนคุยโดยไม่ได้คาดหวัง ขอให้ได้คุยก็จะเบาขึ้นและรู้สึกดีขึ้น

จากอดีตสู่ปัจจุบัน “เกาะทะลุ” ในสายตาช่างภาพ

นายอภินันท์ บัวหภักดี อดีตบรรณาธิการ อนุสาร อ.ส.ท. เขาคุ้นเคยกับเกาะทะลุมาตั้งแต่ยุคบุกเบิกจนถึงปัจจุบัน กล่าวว่าตนสังเกตได้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น มีทั้งข้อดีและความอ่อนไหว อาจเกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ภาวะโลกร้อน อย่างเช่นพื้นที่ชายหาดชายทะเลเปลี่ยนไป เดิมเคยมีพื้นที่กว้างมาก ตอนนี้พื้นที่มีน้อยลง น้ำทะเลรุกล้ำเข้ามามาก ทว่าความสวยงามของหาดทราย และน้ำทะเลยังคงสวยใจ เป็นสถานที่พักใจมีความเป็นส่วนตัว และยังคงใกล้ชิดธรรมชาติได้ดั่งที่ผ่านมา

“สถานการณ์โลกร้อนแปรปวน ได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจนเกิดความเสียหายมากมายแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติหลายแห่งได้ส่งผลกระทบต่อความสมดุล ที่เห็นได้ชัดเจนก่อนใคร อย่างการเกิดขึ้นของปะการังฟอกขาว การสูญหายของปลาท้องถิ่นหลายชนิด เหมือนสัญญาณเตือนภัยให้เรารู้ตัว ต้องเร่งแก้ไขและป้องกัน เพราะแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลเสียหาย จำนวนสัตว์น้ำลดลง มีผลต่อเนื่องถึงความมั่นคงทางอาหาร และซึ่งเป็นแหล่งรายได้ของการท่องเที่ยว” นายอภินันท์ บัวหภักดี กล่าว

       แม้สถานการณ์ธุรกิจท่องเที่ยวจะเปลี่ยนไป แต่สิ่งที่ต้องทำคือ “การปรับตัว” ไม่ว่าจะเป็นเพราะเกิดความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ หรือความสนใจของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป สินค้าและบริการเดิมที่เคยมีเคยบูม อาจใช้ไม่ได้ในปัจจุบัน ผู้ประกอบการที่ชัดเจนและทำสิ่งที่ถนัดจึงจะรอดและต่อได้ได้ การเลิกปล่อย “ก๊าซเรือนกระจก” และ“ฟื้นฟูระบบนิเวศ” จริงจัง อย่างเช่น “เกาะทะลุ” และพันธมิตรนำร่องไว้ เป็นบทเรียน ส่งต่อความรู้และประสบการณ์ต่อไป

,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,

เรื่อง      รสวรรณภัทชก์ หงษ์สุวรรณ์         ภาพ     อภินันท์ บัวหภักดี

ผลงานชิ้นนี้เผลิตโดยนักข่าวที่เข้าร่วมโครงการ UNDP Media Fellowship on Sustainable Development

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of รสวรรณภัทชก์ หงษ์สุวรรณ์

รสวรรณภัทชก์ หงษ์สุวรรณ์

ด้วยใจรักและผูกพันในการทำหน้าที่สื่อมวลชนหลากหลาย ทั้งสื่อรัฐและเอกชนมายาวนาน มุ่งมั่นสร้างสรรค์สาระสำคัญอันเป็นประโยชน์ นำเสนอข่าวที่มีคุณค่า ถูกต้อง รวดเร็วทันใจ เชื่อถือได้ “KIND BUT FIRM”