X

สภาองค์กรชุมชนอำนาจเจริญ ทบทวนแผนเมืองธรรมเกษตร เตรียมผสานแผนพัฒนาจังหวัดปี61

 

อำนาจเจริญ/ ระหว่างวันที่ 11-12 ธันวาคม 2561 ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดอำนาจเจริญ ร่วมกับสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดอำนาจเจริญ และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) จัดเวทีสรุปบทเรียนการขับเคลื่อนขบวนสู่เมืองธรรมเกษตร ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพแกนนำสภาองค์กรชุมชน ณ วนอุทยานภูสิงห์-ภูผาผึ้ง ตำบลเหล่าพรวน อำเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ เพื่อทบทวนทิศทาง แผนงานการทำงานปี 2561 ขององค์กรชุมชนอำนาจเจริญแต่ละกลุ่มงาน แต่ละประเด็น แต่ละยุทธศาสตร์ เพื่อนำไปเชื่อมโยงกับแผนพัฒนาจังหวัด โดยมีตัวแทนองค์กรชุมชนจาก 63 ตำบล และหน่วยงานภาคี เข้าร่วมประมาณ 270 คน

นายชาติวัฒน์ ร่วมสุข แกนนำขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดอำนาจเจริญ กล่าวว่า วันนี้เรามาทบทวนแผน วางแผนการทำงานตามจังหวะก้าวเราจะมาทำผังชีวิต เราจะเดินไปสู่เมืองธรรมเกษตรแบบไหน เครือข่ายเกษตรอินทรีย์เราจะเดินแบบนี้ หากมีนโยบายใช้สารเคมีเสรีพี่น้องจะป้องกันอย่างไร เราจะคุ้มครองเกษตรอินทรีย์แบบไหน ซึ่งจะเป็นผังชีวิตของพี่น้องเกษตรอินทรีย์ และในด้านต่างๆ เพื่อให้เห็นเมืองธรรมเกษตรในอนาคตของคนอำนาจเจริญจะมีหน้าตาแบบไหนที่เราจะส่งต่อสิ่งเหล่านี้ให้ลูกหลาน

จากปี 2555 เราร่วมกันเดินทางมาแล้ว 5 ปี ปีหน้าเขียนผังชีวิต ปีต่อไปเราจะป้องกันรักษาได้อย่างไร จะเป็นกฏหมาย จะเป็นธรรมนูญอะไรอย่างไร นับเป็นการสร้างนวัตกรรมทางสังคม คิดออกแบบ เราจะทำเรื่องราวเหล่านี้ เราจะรักษาสิ่งเหล่านี้ส่งต่อให้ลูกหลานอย่างไร

อย่างไรก็ตาม แม้ใครจะมีอำนาจล้นฟ้าก็ไม่สามารถจัดการปัญหาพี่น้องได้หมดสิ้น แม้จะเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้ง รัฐบาลจากรัฐประหาร ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชนได้ ปัญหาหนี้สิน ปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตร เหล่านี้เป็นสุ่มที่ครอบเรามายาวนาน มีทางเดียวพี่น้องต้องลุกขึ้นมา ไม่ต้องฝากความหวังกับใครทั้งสิ้น แก้ปัญหาด้วยตัวเอง โลกนี้หมดยุคอัศวินม้าขาว มีทางเดียวประชาชนต้องลุกขึ้นมา เราจะพัฒนาเมืองอำนาจเจริญในแบบที่พี่น้องต้องการ

ไม่มีทางอื่นถ้าจะเกิดการแก้ไขปัญหาทั้งระบบไม่มีทาง มีทั้งเงินทั้งปืนทั้งอำนาจก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เป็นความจริง ไม่มีสิ่งใดแก้ปัญหาได้ ประชาชนต้องจับมือกัน เชื่อมั่นในสิ่งที่เราทำอยู่ มั่นใจในทิศทาง มั่นใจในความเป็นคนอำนาจเจริญ เรากำลังสร้างนวัตกรรมทางสังคมให้แก่ลูกหลานของคนไทย ทางออกของประเทศ เราจะทำให้เป็นตัวอย่าง ไปให้ถึงฝากฝันของคนอำนาจเจริญ นายชาติวัฒน์ กล่าว

นายวิรัตน์ สุขกุล ผู้ประสานงานขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดอำนาเจริญ กล่าวว่า ในการทำแผนพัฒนาโดยส่วนใหญ่รัฐจะคิดให้ว่าจะพัฒนาอะไร อย่างไร ต่างจากจังหวัดอำนาจเจริญที่ประชาชนลุกขึ้นมาทำแผนพัฒนาจังหวัดด้วยตนเอง ซึ่งในการปฏิรูปประเทศมีเรื่องการพัฒนาโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง หากจังหวัดใดมีแผนพัฒนาจังหวัดขึ้นไป รัฐก็จะดำเนินการตามนั้น ถึงแม้ระบบการบริหารงบประมาณจะเป็นแบบเดิมที่ผ่านหน่วยงานรัฐ แต่งบประมาณก็ลงมาที่ภาคประชาชนให้ดำเนินการตามที่คนอำนาจเจริญเป็นผู้กำหนด เป็นจังหวัดเดียวที่แผนมาจากชาวบ้าน และรัฐเอางบประมาณเข้ามาสนับสนุน

ในระบบงบประมาณของรัฐจะมาที่กลุ่มจังหวัด บางงบก็ตรงไปที่จังหวัด อำเภอ ตำบล เมื่องบประมาณมีระบบแบบนี้ คนอำนาจเจริญอยากให้เป็นเมืองธรรมเกษตร ตามคุณลักษณะ 7 ด้าน ถ้าอยากให้รัฐมาสนับสนุนเราจะทำอย่างไร ในระดับตำบลการทำโครงการจะผ่านการทำประชาคม และขึ้นไปที่ อำเภอ และจังหวัด แล้วบทบาทของสภาองค์กรชุมชนตำบล ตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนตำบล พ.ศ. 2551 ได้ระบุภารกิจ-หน้าที่ไว้ในหลายประการ อย่างหนึ่งคือ การจัดให้มีเวทีปรึกษาหารือ เสนอความคิดเห็น ต่อแผนพัฒนาในระดับท้องถิ่น สมาชิกสภาฯ ต้องเสนอความคิดเห็นตามกระบวนการ ในระดับอำเภอ เราต้องมีตัวแทนเพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในการเสนอแผนการพัฒนาในระดับอำเภอ ที่ผ่านมามีแต่หน่วยงานเสนอ ในระดับจังหวัดเราก็จัดคนไปประกบกับหน่วยงานในแต่ละด้านเพื่อที่จะให้แผนพัฒนาของภาคประชาชนเข้าไปอยู่ในแผนพัฒนาจังหวัด

นายวิรัตน์ กล่าวต่อว่า แต่จุดอ่อนคือ พี่น้องเสนอได้ คิดได้ ทำได้ แต่พอให้เขียนโครงการ พี่น้องก็มีความยากในการเขียนโครงการ แต่เราสามารถให้หน่วยงานเข้ามาเขียนโครงการช่วยเรา นักวิชาการสายชาวบ้านเราก็พอมีที่จะช่วยได้บางส่วน ซึ่งยังเป็นข้ออ่อนที่ต้องพัฒนายกระดับ

ถ้าลองดูแผนงานที่พี่น้องอยากทำ มี 4 ด้านใหญ่ๆ รูปธรรมที่ 1 คือ เรื่องการผลิตและการตลาดอินทรีย์ ต้องอาศัยพลังหลายส่วนจากหลายเครือข่าย แต่ปัจุบันเรามีสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์ เป็นโอกาสให้คนอำนาจเจริญได้ขยับ 2) เครือข่ายทรัพยากร สายป่ามีการขยายพื้นที่ไปเรื่อยๆ และจะโยงไปเรื่องการผลิต ปีนี้จะเน้นให้เกิดกลไกการประสานงาน ตั้งคณะทำงานในระดับจังหวัดเพื่อมีแผนการทำงานร่วมกัน 3) งานด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต งานสัวสดิการ 62 กองทุน สมาชิก กว่า 80,000 คน มีเงินหมุนเวียน กว่า 169 ล้านบาท และยังสามารถหาเงินมาดูแลซ่อมแซมบ้านให้พี่น้องปีนี้เพิ่มอีก 150 หลัง รวมทั้งยังมีการพัฒนาคน มีคนรุ่นใหม่เข้ามาเพิ่มเติม และ 4) อีกด้านหนึ่งคือยุทธศาสตร์ด้านการศึกษา ซึ่งชาวบ้านขึ้นมาพัฒนาหลักสูตรการศึกษาของคนอำนาจเจริญเอง ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดลจะใช้พื้นที่ทุกตารางนิ้วของอำนาจเจริญเป็นห้องเรียน โดยมีคนอำนาจเจริญเป็นครูอาจารย์

ในปี 2561-2564 เราจะทำอะไรอย่างไร จะมีคนนำสิ่งที่พี่น้องเสนอไปสังเคราะห์เรียยบเรียงต่อไป เมื่อมีการทบทวนแผนพัฒนาจังหวัดเราก็จะนำเรื่องราวเหล่านี้เข้าไปเสนอ และผลักดันให้จังหวัดได้เข้ามาสนับสนุนตามความต้องการของคนอำนาจเจริญ นายวิรัตน์ กล่าว

ด้าน ดร.อนุรักษ์ เรืองรอบ ได้เสนอแนะให้องค์กรชุมชนอำนาจเจริญ ผลักดันให้เกิดกลไกธุรกิจกลางของคนอำนาจเจริญ โดยมีเครือข่ายต่างๆ มาร่วมกันลงขันเพื่อจัดตั้งบริษัท ให้มีหน้าที่ไปทำการตลาด สอดรับกับทิศทางเมืองธรรมเกษตร เพราะพื้นที่เกษตรอินทรีย์ในจังหวัดอำนาจเจริญ ที่ปัจจุบันมีกว่า 3 หมื่นไร่ สมมติว่า พี่น้องผลิตถั่วเขียวอินทรีย์ ผลิตถั่วเขียวไม่ขายถั่วเขียว แต่มาตั้งโรงงานผลิตถั่วงอกอินทรีย์ หรือนำมาผลิตขนม และผลิตภัณฑ์อื่นๆ เราควรตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อรับซื้อถั่วเขียว จากเกษตรกร และบริษัทมีหน้าที่คิดต่อยอดว่าจะนำถั่วเขียวไปสู่ตลาดอย่างไร

โดยเอาตลาดเป็นตัวตั้ง พี่น้องตั้งรับเรื่องการผลิต สมมติห้างท็อปมาคุยกับเกษตรอินทรีย์อำนาจเจริญ หากเขาต้องการผักอินทรีย์ วันละหลายตัน เราต้องมีบริษัทเพื่อขึ้นมาจัดการผลผลิตให้ได้ตามความต้องการของตลาด นอกจากนั้น การทำเกษตรอินทรีย์ เราควรทำให้คนอำนาจเจริญกินก่อน เราต้องมีกลไกในการจัดการ ผลิตทุกอย่างทั้ง ข้าว ปลาอาหารการกิน จับมือกัน ใช้แนวคิดเมืองธรรมเกษตรอินทรีย์ สร้างพลังเชื่อมโยงตลาด ผลักดันให้เมืองอำนาจเจริญเป็นเมืองเกษตรอินทรีย์อันศักดิ์สิทธิ์

อย่างไรก็ตาม ในการจัดเวทีในครั้งนี้ ได้มีการแบ่งกลุ่มย่อย ออกเป็น 6 กลุ่ม 1) เครือข่ายสตรี 2) เครือข่ายสภาการศึกษา 3) เครือข่ายทรัพยากรดินน้ำป่า 4) เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ 5) เครือข่ายสวัสดิการชุมชน และ 6) เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบล เพื่อทบทวนเป้าหมายการทำงานของแต่ละประเด็นงาน  และวางแผนการทำงานในปี 2561-2564

โดยในช่วงท้ายของการทบทวนสรุปบทเรียน ได้มีการหารือภารกิจ การเคลื่อนเชิงยุทธศาสตร์ 1) การเกษตร 2) การบริหารจัดการน้ำ/ทรัพยากร 3) คุณภาพชีวิต 4) การพัฒนาเศรษฐกิจ/การท่องเที่ยว โดยที่ประชุมได้กำหนดตัวแทนด้านละ 5 คน เพื่อส่งรายชื่อให้กับทางผู้ว่าราชการจังหวัด ทำหน้าที่ในการประสานงาน เชื่อมโยงแผนพัฒนากับทางจังหวัด นอกจากนั้น องค์กรชุมชนอำนาจเจริญยังได้กำหนดเวทีประกาศนโยบายเมืองสมุนไพรและเกษตรอินทรีย์เต็มจังหวัด ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2561 นี้

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of รุ่งโรจน์ เพชระบูรณิน

รุ่งโรจน์ เพชระบูรณิน

คนทำงานในแวดวงการพัฒนาที่อยากเห็นชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง