X

‘ไพโรจน์’ ชี้ปัญหามีคำตอบเดียว คือ คนอีสานต้องกำหนดอนาคตตนเอง

นครราชสีมา/ วันที่ 26 มกราคม 2561 นายไพโรจน์ พลเพชร อดีตคณะกรรมการปฏิรูปกฏหมาย ปาฐกถาพิเศษ “ภาพรวมสถานการณ์และผลกระทบต่อแผ่นดินอีสาน ในเวทีสมัชชาสภาพลเมืองอีสาน “ตุ้มโฮมฮักแพงแบ่งปันอีสานหนึ่งเดียว” หอประชุม ณ สนามหน้าที่ว่าการอำเภอลำทะเมนชัย จังหวัดนครราชสีมา ที่จัดโดย เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนภาคอีสาน 20 จังหวัด ร่วมกับอำเภอลำทะเมนชัย จังหวัดนครราชสีมา, สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และภาคีเครือข่าย หน่วยงานภาครัฐ ท้องที่ ท้องถิ่น และภาคประชาสังคม กว่า 30 องค์กร ร่วมกันจัดงาน โดยได้รับเกียรติจากที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายนายธีระ วงษ์เจริญ ให้เกียรติมาร่วมงานและเป็นประธานในพิธี

นายไพโรจน์ พลเพชร กล่าวว่า กระบวนการแย่งชิงดิน น้ำ ป่า และทรัพยกร การถูกคุกคามในภาคเกษตร จากรัฐและทุนที่ผ่านมา ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย ส่งผลให้ธรรมชาติทรัพยากรเสื่อมโทรมลง เกิดความไม่เป็นธรรม แต่ก็มีความพยายามของชุมชนในการต่อสู้ดิ้นรน เช่น เรื่องป่าการจัดการป่า ชุมชนต้องมีส่วนร่วมในการจัดการป่า ก็เกิดข้อเสนอการจัดการป่าโดยชุมชน เป็นการพัฒนาทางเลือก เป็นการพัฒนาแนวใหม่ หรือในเรื่องน้ำ รัฐเองก็ผลักดันโครงการขนาดใหญ่ อย่าง โขง ชี มูล ชุมชนเองก็หาทางออกโดยตนเองเสนอให้มีการจัดการน้ำขนาดเล็ก

เรื่อง ดิน น้ำ ป่า ชุมชนต้องดิ้นรนในการพัฒนาตนเอง ส่งเสริมการจัดการดินน้ำป่าโดยชุมชน แทนที่จะถูกผูกขาดโดยศูนย์กลางอำนาจ ให้ชุมชนจัดการดินน้ำป่าด้วยตนเองได้ไหมเป็นสิ่งที่ชุมชนต่อสู้มาโดยตลอด ป่าชุมชน โฉนดชุมชน จึงเกิดขึ้นนับเป็นนวัตกรรมในการจัดการร่วมกับหลายๆ ฝ่าย

ปัญหาที่จะมีการผูกขาดเมล็ดพันธุ์ ปัญหาหนี้สินที่ประชาชนเผชิญตลอดมาจนเป็นมรดกตกทอด แต่ชุมชนก็ไม่หยุดความพยายามที่จะสร้างความมั่นคงทางอาหารให้ตนเอง พร้อมดูแลสุขภาพของคนอื่นไปด้วย ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมามีเรื่องที่ชุมชนท้องถิ่นพยายามดิ้นรนไม่ว่า การเงินชุมชน เบี้ยกุดชุม ชุมชนพยายามจัดการการเงินด้วยตนเองพึ่งพาตนเองให้ได้ แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยก็บอกว่าผิดกฏหมาย การเงินชุมชนเป็นนวัตกรรมที่ชุมชนพยายามดิ้นรนหาทางออก

หรือการจัดการสวัสดิการชุมชน การจัดการเงินออม สร้างธนาคารด้วยตนเอง มีการออมทรัพย์ เกิดกลุ่มสัจจะออมทรัพย์กว่า 5 พันแห่ง ไม่ต้องไปฝากกับแบ็งค์ให้ดอกผลเพื่อธุรกิจ แต่ชุมชนก็ดิ้นรน จนเกิดเป็นสวัสดิการชุมชน ที่จัดการเองได้ บริหารเองได้

นายไพโรจน์ กล่าวต่อว่า ในการพัฒนาระดับตำบล อำเภอ จังหวัด ระดับประเทศ แต่ละคน เราต้องการทำแผนเราเองได้ไหม ชุมชนทำแผน แต่ตอนนี้การทำแผนมาจากข้างบน ความพยายามที่จะเสนอแผนการพัฒนาจากข้างล่าง เราสามารถเสนออนาคต การจัดการชะตาชีวิตของเราเอง อย่างเมืองอำนาจเจริญ เป็นเมืองธรรมเกษตร ลำทะเมนชัยควรจะเป็นอย่างไร ที่อื่นๆควรเป็นอย่างไร ประชาชนควรมีส่วนร่วมในการกำหนดจัดทำแผนระดับชาติ  สอดคล้องกับประชาชนไหม ประชาชนดิ้นรนมาตลอด 20 ปี ที่ผ่านมา

นายไพโรจน์ ย้ำว่า การดิ้นรนที่ผ่านมา จนเกิดคำว่า “ประชาชนมีสิทธิในการกำหนดอนาคตตนเองได้หรือไม่” แทนที่คนอื่นมากำหนดให้เดินตาม ชุมชนท้องถิ่นจัดการตัวเองในด้านทรัพยากร เศรษฐกิจ เกษตร ฯลฯ จนเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ เมื่อมีการจัดทำรัฐธรรมมูญปี 2540 ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญ 3 เรื่องใหญ่ 1) ชุมชน และ อปท.มีส่วนร่วมในการจัดการดูแลรักษาใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

เกิดขบวนการเสนอแก้ไขกฏหมาย เสนอให้ชุมชนมีส่วนร่วมอย่างน้อย 4 เรื่อง ที่ดิน ต้องมีธนาคารที่ดิน เพื่อนำที่ดินจัดสรรให้คนไม่มี 2) ต้องมีภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า  เพื่อกระจายการถือครองให้ยุติธรรม 3) ให้มีโฉนดชุมชน โดยเฉพาะชุมชนที่อยู่ในเขตป่าของรัฐ อุทยาน เขตรักษาพันธุ์  4) ให้ชุมชนดูแลรักษาป่า เรื่องน้ำ ชุมชนที่อยู่ตามลุ่มน้ำ ลำน้ำสาขาต่างๆ เราจะทำอย่างไร แบ่งกันอย่างไร มีการเสนอกฏหมายจังหวัดจัดการตนเอง ถ้าเป็นอย่างนั้นได้

องค์กรสภาชุมชน คือตัวแทนของชุมชนที่จะทำหน้าที่ปกป้องเสนอแนวทางของชุมชน มีส่วนร่วม ถ้าโครงการส่วนกลางมากระทบ ก็มีสิทธิที่จะปกป้อง เสนอความคิดเห็น ถ้าโรงงานน้ำตาลจะมากระทบต่อชุมชนก็สามารถทักท้วงได้ ถ้ารัฐมีโครงการใดๆ ชุมชนต้องมีส่วนร่วม ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง ดูแลจัดการทรัพยากรตนเองได้ ชุมชนมีบทบาท ชุมชนกลับมาสร้างพื้นที่ปฏิบัติการ

ปัญหาที่อีสานเผชิญต่างๆ ในรอบ 20 ปี ที่เราเสนอจัดการตนเอง ไม่ได้หายไปไหน แต่อยู่ในชีวิตจิตใจ อยู่ในความเชื่อของเรา เพราะนี่คือทางรอดของสังคมไทย การจัดการป่า การจัดสวัสดิการชุมชน และเรื่องอื่นๆ ที่ภาคประชาชนทำมาจะนำพาสังคมไทยไปได้ในอนาคต อยู่ในความเชื่อของเรา แม้ใครจะมาครองอำนาจ ความเชื่อนี้ก็ยังอยู่ นอกจากเราจากละทิ้งความเชื่อนั้นเอง

ปัญหามีคำตอบเดียว คือเราขอมีสิทธิมีส่วนในการกำหนดอนาคตตนเอง ชีวิตเราชีวิตลูกหลาน และสังคมไทยจะไปได้ เช่นนี้เท่านั้นจะเกิดการเปลี่ยนแปลง  และเราเชื่อมั่นว่าเราจัดการดูแลตนเองได้จริง เราจึงจะเดินหน้าต่อไปได้ นายไพโรจน์ กล่าวในตอนท้าย

ขอบคุณภาพจาก : ตั้ม อีสานบิซ

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of รุ่งโรจน์ เพชระบูรณิน

รุ่งโรจน์ เพชระบูรณิน

คนทำงานในแวดวงการพัฒนาที่อยากเห็นชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง