X
ยโสธรสู่เมืองวิถีอีสานอยู่ดีมีสุข

หนุนองค์กรชุมชนยโสธรสู่เมืองวิถีอีสานอยู่ดีมีสุข

ยโสธร-30 ม.ค.61 ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดยโสธร ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดยโสธร สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยโสธร และหน่วยงานภาคี จัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือและมอบงบประมาณโครงการเสริมสร้างขีดความสามารถขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดยโสธร ปี 2561 สู่ “ยโสธรเมืองวิถีอีสานอยู่ดีมีสุข”

ณ ห้องประชุมสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยโสธร ชั้น 4 ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร โดยมีตัวแทนสภาองค์กรชุมชน 26 ตำบล และหน่วยงาน เข้าร่วมประมาณ 120 คน โดยได้รับเกียรติจาก นายสมเพชร สร้อยสระคู รองผวจ.ยโสธร เป็นประธานในพิธี

 

 

 

 

 

 

 

 

นายสมเพชร สร้อยสระคู รองผวจ.ยโสธร กล่าวว่า ฐานของการพัฒนาประเทศอยู่ที่หมู่บ้านและชุมชน ในห้วงเวลาที่ผ่านมารัฐบาลมีการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ จากบนลงล่าง การพัฒนาไม่สามารถแก้ปัญหาไม่ตรงตามจุด จึงเกิดแนวคิดการพัฒนาจากข้างล่าง แต่ก็มีปัญหาเรื่องงบประมาณจึงมีการมาเจอกันครึ่งทางการพัฒนาที่ผ่านมาไม่ตรงตามปัญหาความต้องการของพี่น้องประชาชน ในส่วนที่แก้ปัญหาไม่ต่อเนื่องและยั่งยืน จึงเป็นเหตุที่มาของ พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนตำบลพ.ศ. 2551 เพราะคำตอบอยู่ที่หมู่บ้านและชุมชน ต้องเริ่มต้นจากฐานล่างจากชุมชน จึงจะเป็นไปตามความต้องการของชุมชน และให้เกิดการมีส่วนร่วม

รองผวจ.ยโสธร กล่าวต่อว่า ในยุคนี้เราอยู่ในยุคของรัฐบาลที่มุ่งสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ที่กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ มั่นคง แข่งขัน พัฒนาคน สร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเจริญเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการภาครัฐ ซึ่งกำลังมีการรับฟังเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ย่อย และแผนปฏิบัติการต่างๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับชุมชน เราต้องติดตามการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ และการขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0

คนในจังหวัดเรานั้น มีหลายคนมีบ้านที่ไม่น่าจะเป็นบ้าน เราต้องมาร่วมกันขับเคลื่อน ในยโสธร 9 อำเภอ 87 ตำบล 885 หมู่บ้าน มีพี่น้องมีปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยอยู่ตรงไหน มีหน่วยงานใดที่จะมาร่วมมือช่วยกัน ขบวนองค์กรชุมชนจะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยกันดำเนินการ ประสานงานกับท้องถิ่นและหน่วยงานสำหรับจังหวัดยโสธร ซึ่งมีนโยบายที่จะประสานเชื่อมโยง “ประชารัฐ” ที่มีทุกภาคส่วน เป็นวาระยโสธรเมือง 4 ดี 1) คนดี 2) การศึกษาดี 3) สุขภาพดี และ 4) รายได้ดี ต้องขอความร่วมมือที่ทุกภาคส่วนต้องมาร่วมด้วยช่วยกัน  รองผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร กล่าว

 

 

 

 

 

 

 

 

นายปฏิภาณ จุมผา ผู้อำนวยการภาค สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พอช. กล่าวถึง แนวทางการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและการสนับสนุนของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน โดยระบุว่า จังหวัดยโสธรมีการจดแจ้งจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลเต็มพื้นที่ ครบทั้ง 87 ตำบล การขับเคลื่อนการพัฒนาโดยลำพังพี่น้องไปไม่ได้หากไม่รวมพลังกับทางท้องที่ท้องถิ่น สิ่งสำคัญที่ผ่านมา 57 ปี ของแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ผ่านมา อดีตการเมืองการปกครองอยู่ที่ส่วนกลาง ขณะนี้ประเทศมั่นคง แต่ชุมชนยังไม่เข้มแข็ง ทรัพยากร เกษตร วิถีวัฒนธรรมการเกื้อกูลในท้องถิ่นที่มีการการแบ่งปันกัน

วันนี้ประชาชนอยากเห็นชุมชนท้องถิ่นลุกขึ้นมาจัดการตนเอง เรามีหน้าที่ไปเสริมความสามารถให้ชุมชนเข้มแข็ง เราจะทำอย่างไร ใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง อยากเห็นชุมชนมีพื้นที่กลาง พื้นที่ตำบล จังหวัด ภูมินิเวศน์ เกิดการเปลี่ยนแปลง คนอีสานเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดทิศทางการพัฒนา ภาคประชาชนมีที่ยืนทางสังคม มีความเชื่อมั่นในคุณค่าและมีศักยภาพของตัวเอง พอช.เป็นหุ้นส่วนหนึ่งที่ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ และภาคประชาชนที่จะช่วยกันพัฒนา

ผู้อำนวยการภาค กล่าวต่อว่า งบประมาณที่ลงมา เป็นเครื่องมือ ไม่ใช่เป้าหมาย เราอยากเห็นสภาองค์กรชุมชนตำบล จังหวัด ภาค เชื่อมโยงพี่น้องในพื้นที่ให้มีเวทีในการคุยแลกเปลี่ยนกัน โดยต้องประสานหน่วยงานทุกกระทรวง เป็นงบสนับสนุนกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และจับมือกับหน่วยงานอย่างมีศักดิ์ศรี โดยระบบงบประมาณของ พอช.ลงตรงไปสู่ภาคประชาชน

จังหวัดยโสธร เป็น 1 ใน 5 จังหวัดของภาคอีสานที่พอช.จะหนุนให้เป็นจังหวัดยุทธศาสตร์ การพัฒนาต้องอาศัยบทบาทของสภาองค์กรชุมชนตำบล ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ในการสร้างความเข้มแข็งของตำบล โดยต้องมี 1) ตำบลต้องมีการจัดทำระบบข้อมูล 2) ตำบลต้องมีแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาตำบล 3) ยกระดับให้เป็นพื้นที่รูปธรรม 4) พัฒนาแกนนำชุมชน 5) พัฒนากลไกร่วมของขบวนชุมชนให้มีความเป็นเอกภาพ มีเป้าหมายทิศทางร่วม 6) ส่งเสริมให้เกิดสมัชชาตำบล เมือง เพื่อเป็นกลไกในการกำหนดทิศทาง 7) ส่งเสริมให้เกิดการกำหนดข้อบัญญัติท้องถิ่น และ 8) การรายงานการพัฒนาตำบล

ในระดับเมืองเราใช้งานบ้านมั่นคงเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน กระทั่งในระดับภูมินิเวศน์ ที่จะบูรณาการการจัดการตนเอง ซึ่งในระดับจังหวัด ต้อวมีระบบข้อมูล มีกลไกเชื่อมโยงกับท้องถิ่น มีความร่วมมือประสานหน่วยงาน มีกลไกระดับจังหวัดหนุนเสริมพื้นที่ และมีรายงานการพัฒนา ต่อไปการพัฒนาในระดับจังหวัด หน่วยงานเขาจะคิดถึงขบวนองค์กรชุมชน จะคิดถึงสภาองค์กรชุมชน แกนนำสวัสดิการชุมชน และอื่นๆ ที่องค์กรชุมชนจะได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนาจังหวัด

สำหรับโครงการบ้านพอเพียงชนบทนั้น เป็นเครื่องสำคัญในการจัดความสัมพันธ์ใหม่ ปัจจุบันคน 5 ล้านกว่าคน ไม่มีที่อยู่อาศัย รัฐบาลมีนโยบาย “คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่ว และมีระบบคุณภาพชีวิตที่ดีในปี 2579” ซึ่งมีหลายหน่วยร่วมกันรับผิดชอบ พอช.เองรับเป้าหมายจากรัฐบาล 1 ล้านกว่าคน ในเรื่องบ้านพอเพียงนั้น เราต้องการฟื้นฟูวิถีวัฒนธรรมการเกื้อกลูกลับคืนมา ต้องการเห็นกลไกสภาองค์กรชุมชน สวัสดิการชุมชน ท้องถิ่น ท้องที่ ได้มาร่วมด้วยช่วยกัน มีการสำรวจข้อมูลทั้งตำบล ทำให้ผู้ยากไร้มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง ใน 5 ปี คนยโสธรต้องมีบ้านที่มั่นคง พอเพียงทั้งจังหวัดซึ่งผลลัพธ์ที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดจากคนยโสธร

อย่างไรก็ตาม การจัดงานในวันนี้ พอช.ได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือกับองค์กรชุมชน และมอบงบประมาณโครงการเสริมสร้างขีดความสามารถขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดยโสธร ปี2561 สู่ “ยโสธรเมืองวิถีอีสานอยู่ดีมีสุข” ที่ประกอบด้วย โครงการเสริมสร้างขีดความสามารถองค์กรชุมชน1,108,900 บาท โครงการสนับสนุนตำบลรูปธรรมสภาองค์กรชุมชน 3 ตำบล 90,000 บาท โครงการสนับสนุนตำบลเศรษฐกิจและทุนชุมชน จำนวน 4 ตำบล 160,000 บาท และ โครงการบ้านพอเพียงชนบท 150 ครัวเรือน2,850,000 บาท  งบประมาณรวมทั้งสิ้น 4,208,900 บาท

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of รุ่งโรจน์ เพชระบูรณิน

รุ่งโรจน์ เพชระบูรณิน

คนทำงานในแวดวงการพัฒนาที่อยากเห็นชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง