X

“เบญจมาศบานในม่านหมอก” เทศกาลท่องเที่ยวโดยชุมชนท้องถิ่น ที่ตำบลไทยสามัคคี อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา

ในช่วงฤดูหนาวของทุกปี นับจากปี 2546 เป็นต้นมา จะมีปรากฏการณ์ดอกเบญจมาศบานเป็นท้องทุ่งกว้าง อันเกิดจากความร่วมแรงร่วมใจของชุมชนและท้องถิ่นที่ตำบลไทยสามัคคี อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา

ตำบลไทยสามัคคี เป็นตำบลที่มีพื้นที่ติดเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน พื้นป่ามรดกโลก พื้นที่ทั่วไปเป็นภูเขาสลับกับที่ราบมีความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ มีทัศนียภาพทางธรรมชาติที่สวยงาม มีสภาพภูมิอากาศคล้ายกับภาคเหนือ อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 22 องศาเซลเซียส จึงมีความเหมาะสมที่จะปลูกพืชเมืองหนาว พืชที่เกษตรกรนิยมปลูกได้แก่ ผักปลอดสารพิษ ผักตระกูลสลัด เห็ดหอม องุ่น และดอกเบญจมาศ ซึ่งถือว่าเป็นไม้ตัดดอกที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทย

งานเบจมาศบานในม่านหมอก เริ่มจัดครั้งแรกโดยกลุ่มผู้ปลูกดอกเบญจมาศ ในยุคแรกๆ ของตำบลไทยสามัคคี โดย คุณสมประสงค์ ประดับมุข ประธานกลุ่มฯ คุณวิภา จันทร์คุ้ม คุณชูศักดิ์ นิยมนา และคุณสิงโต ธงกลาง ซึ่งแกนนำหลักได้ร่วมกันจัดงานขึ้น ณ บริเวณซุ้มไม้งาม ปากทางเข้าตำบลไทยสามัคคี ใช้งบประมาณในการจัดงานครั้งแรก 30,000 บาท เพื่อเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายดอกเบญจมาศ และส่งเสริมการท่องเที่ยวของตำบลไทยสามัคคีให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป

ซึ่งการจัดงานครั้งแรกประสบความสำเร็จด้วยดีจึงได้จัดต่อเนื่องกันมาทุกปี จนเป็นงานเทศกาลท่องเที่ยวเบญจมาศบานในม่านหมอกที่เป็นเอกลักษณ์ของตำบลไทยสามัคคี โดยความร่วมมือของชุมชน ความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบลไทยสามัคคี การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา ทำให้การจัดงานยกระดับขึ้นเรื่อยๆ และย้ายสถานที่จัดงานมาบริเวณข้างอ่างเก็บน้ำห้วยกระบอก ด้านข้างองค์การบริหารส่วนตำบลไทยสามัคคีเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

จากข้อมูลของ อบต.ไทยสามัคคี ระบุว่า ตำบลไทยสามัคคีมีจำนวนผู้ปลูกดอกเบญจมาศประมาณ 29 ครอบครัว ในพื้นที่ราว 120 ไร่ ซึ่งพื้นที่ 1 ไร่ สามารถปลูกดอกเบญจมาศได้จำนวน 40 โครง ขึ้นอยู่กับระยะห่างของร่อง กว้าง 1 เมตร ยาว 19 เมตร จำนวน 2 ร่อง ต่อ 1 โครง ภายใน 1 ปี สามารถปลูกได้ 2 ครั้ง ผลผลิตจะได้ 120 กิโลกรัม/ครั้ง/โครง ราคาขายทั่วไป ณ ปัจจุบัน ดอกช่อกิโลกรัมละ 60-80 บาท ดอกเดี่ยว ดอกละ 7-8 บาท รายได้เฉลี่ยต่อครอบครัว/ครั้ง จะอยู่ที่ประมาณ 7,200 บาท/ครั้ง/โครง

โดยดอกเบญจมาศที่นิยมปลูกจะมี 2 ประเภท คือพันธุ์ดอกเดี่ยว และดอกช่อ ที่ภาษาการตลาดเรียกว่า เบญ กับ มัม สำหรับสายพันธุ์ที่ปลูกในพื้นที่วังน้ำเขียวนั้น จะมี ไรวารี่ (สีขาวหิมะ สีขาว และสีเหลือง) รีเก็ตต้า (สีเหลือง) รีแกน (สีขาว เหลือง ชมพู ม่วง ส้ม) ฟาโรห์ (สีขาว) ดิสคอฟวารี่ (สีเขียว) จากัวร์ (สีแดง สีม่วง) ซีอาร์เรด (สีแดง) เซลเมน (สีเหลือง) วิรินก้า (สีส้ม) ยูริ (สีม่วง สีชมพู) มิลินด้า (สีขาว สีเหลือง) สไปเดอร์ (สีขาว)

นายสมบูรณ์ สิงกิ่ง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลไทยสามัคคี เปิดเผยว่า การจัดงานเทศกาลเบญจมาศบานในม่านหมอกปีนี้ เป็นครั้งที่ 16 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-18 กุมภาพันธ์ 2561 โดย อบต.ไทยสามัคคี ร่วมกับอำเภอวังน้ำเขียว ส่วนราชการ ภาคเอกชน เครือข่ายองค์กรชุมชนภาคอีสาน 20 จังหวัด และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน โดยจัดในหัวข้อ “มามอบความรัก ฝากหัวใจไว้ ณ วังน้ำเขียว”

ปีนี้ได้ปลูกดอกเบญจมาศจำนวนกว่า 300 โครง 10 กว่า สายพันธ์ หลากสีสรร อีกทั้งยังตกแต่งแปลง จัดสวนหย่อม ซุ้มพวงโกเมน โดยกิจกรรมจะมีทั้งภาคกลางวันและกลางคืน ซึ่งมีกำหนดพิธีเปิดงานในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2561 โดยได้รับเกียรติจากนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานในพิธีเปิด และจะมีกิจกรรมพิเศษคือการปั่นจักรยานเพื่อสุขภาพ ชมชิม วิถีท่องเที่ยวชุมชน การออกร้านจำหน่ายสินค้าของชุมชน การแสดงดนตรี กิจกรรมการประกวดร้องเพลง การประกวดธิดาเบญจมาศ รวมถึงการจดทะเบียนสมรสกลางสวนเบญจมาศในวันแห่งความรักอีกด้วย

นายสมบูรณ์ คาดว่างานนี้จะเป็นที่ประทับใจของนักท่องเที่ยว และมีนักท่องเที่ยวมาร่วมงานประมาณ 100,000 คน จะมีเงินหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ทำให้เกษตรกรในพื้นที่มีรายได้ในการจำหน่ายผลิต ผู้ประกอบการ ร้านค้า ที่พักต่างๆ จะมีรายได้เพิ่มขึ้น นักท่องเที่ยวจะรู้จักตำบลไทยสามัคคีมากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการท่องเที่ยวและชุมชนโดยรวม อีกทั้งเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนภาคอีสาน 20 จังหวัด จะร่วมกันผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายการท่องเที่ยวโดยชุมชนภาคอีสาน ซึ่งน่าจะได้รับการตอบรับจากฝ่ายนโยบายที่จะหนุนเสริม

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of รุ่งโรจน์ เพชระบูรณิน

รุ่งโรจน์ เพชระบูรณิน

คนทำงานในแวดวงการพัฒนาที่อยากเห็นชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง