X

ภาครัฐขานรับข้อเสนอการบริหารจัดการน้ำโดยคนบัวใหญ่  

นครราชสีมา/ 31 มีนาคม 2561 ชุมชนหนองหญ้าคา จับมือเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนอำเภอบัวใหญ่ ประสานความร่วมมือ อำเภอบัวใหญ่ เทศบาลเมืองบัวใหญ่ อบต.หนองแจ้งใหญ่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมชลประทาน กรมประมง และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) จัดงาน “สืบชะตาต่อชีวิต ฟื้นฟู อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำเค็มบ้านหญ้าคา ครั้งที่ 2 : LANDMARK FOR KNOWLEDGE CENTER” ณ อาคารอเนกประสงค์อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำเค็มบ้านหญ้าคา ตำบลหนองแจ้งใหญ่ อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา โดยได้รับเกียรติจาก นายธีระ วงษ์เจริญ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธี

นายสมพร หมั่นกิจ  ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลหนองแจ้งใหญ่ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้ ระบุว่า 1) เพื่อเป็นการปลุกจิตสำนึกให้ประชาชนได้เห็นความสำคัญ และคุณค่าของทรัพยากรน้ำของชุมชนท้องถิ่น ตระหนักว่าต้องมีความสามัคคี มีความเป็นเจ้าของ ร่วมมือกันสืบชะตา ฟื้นฟู อนุรักษ์ ตลอดถึงการบริหารและการจัดการแหล่งทรัพยากรของชุมชนด้วยชุมชนเองเป็นหลักสำคัญ 2) เพื่อสร้างความร่วมมือกันทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนต่างๆ ที่จะต้องส่งเสริม สนับสนุน พัฒนาปรับปรุงอ่างห้วยน้ำเค็มบ้านหญ้าคา ตามบทบาทหน้าที่และเห็นความสำคัญต่อการการฟื้นฟูแหล่งทรัพยากรน้ำของชุมชน ที่มีชุมชนท้องถิ่นร่วมมือกันจัดการอยู่ตามวิถีวัฒนธรรมของชุมชนเอง 3) เพื่อเป็นการสนองพระราชดำริ ในการบริหารจัดการน้ำ นำสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนของชุมชน และประกาศใช้แผนพัฒนาตำบลหนองแจ้งใหญ่ภาคพลเมืองตามวิถีศาสตร์พระราชา

นายธีระ วงษ์เจริญ ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องธรรมดาที่ชุมชนจะลุกขึ้นมาจัดการเองได้ ซึ่งตรงกับทิศทางการพัฒนาในเชิงนโยบายของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มองว่าการพัฒนาต้องผสานจากล่างขึ้นบน การทำงานแบบนี้จะเห็นความจริง ในภาพรวมการจัดการน้ำรัฐบาลเร่งเรื่องการจัดการน้ำ สังเกตได้จากงบประมาณของกรมชลประทาน จากงบประมาณ 3 หมื่นล้านบาท เป็น 6 หมื่นล้านบาท เพราะการฟื้นฟูแหล่งน้ำเป็นภารกิจสำคัญ

การชี้เป้าของพื้นที่ การลุกขึ้นมาของชุมชนทำให้เห็นศักยภาพของพื้นที่ ถ้าเราไม่เริ่มจากการจัดการความรู้ เมื่อใส่โครงสร้างพื้นฐานลงมางานส่วนมากจะไม่สำเร็จ การผสานจากล่างขึ้นบน จะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน ในการพัฒนาแหล่งน้ำของที่นี่นั้นจะให้กรมชลประทานออกแบบร่วมกับชุมชน และแบ่งงานให้ท้องถิ่นดำเนินการ เมื่อประชาชนพูด เรารับฟัง ราชการจัดระบบตามความต้องการของชาวบ้าน อันไหนท้องถิ่นทำได้ ดำเนินการได้ก็ให้ดำเนินการ หน่วยงานกระทรวงเกษตร ที่มีอยู่ในพื้นที่สามารถเข้าไปเสนอพูดคุย ก็สามารถทำได้ พี่น้องไม่ต้องเดินทางไปถึงที่กระทรวงฯ ตนยินดีจะลงมาพื้นที่รับฟังข้อเสนอของชาวบ้าน 10 หน่วยงานของกระทรวงพร้อมที่จะดำเนินการ

นายธีระ วงษ์เจริญ กล่าวต่อว่า นโยบายไม่มีความขัดข้อง ชลประทานพร้อมที่จะออกแบบระบบชลประทานทั้งระบบ และแบ่งให้หน่วยงานต่างๆ ทำ ซึ่งมีความชำนาญ รวดเร็ว มีระบบการบริหารจัดการน้ำ สามารถจัดการระบบน้ำได้ทั้งประเทศ หลังจากการออกแบบลำน้ำ ช่วงแคบ ต้องขอความร่วมมมือท้องถิ่นขอพื้นที่ชาวบ้านเพื่อขยายลำคลอง และก่อสร้างประตูระบายน้ำ เมื่อออกแบบทั้งระบบ เมืองบัวใหญ่จะเติบโต ชุมชนจะมีอะไรที่มารองรับ การกระจายน้ำ การจัดรูปที่ดิน ถ้าเราพร้อมในพื้นที่จัดการความรู้ กรมชลประทานมีความพร้อม อย่าให้การทำงานจาก 100 เหลือเงินทำงานเพียง 70 บาท

การจัดงานในวันนี้ เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างราษฎร์กับรัฐ เห็นภาพการทำงานร่วมกันระหว่างชาวบ้านคิด และให้ฝ่ายนโยบายดำเนินการ การพัฒนาจะไม่ผิดฝาผิดตัว เพราะทำตามที่ชาวบ้านคิด เห็นภาพความคิดไปสู่ความสำเร็จเป็นขั้นเป็นตอน จะรับข้อเสนอที่ชาวบ้านคิด และจะติดตาม ถ้าเรามีแผนงานและไม่ได้รับการสนองตอบ ส่งเข้ามา สิ่งไหนดำเนินการได้เราจะหารือกับหน่วยงาน หากเกี่ยวข้องกับกระทรวงอื่นก็จะประสานงาน

เส้นทางน้ำ หากมีการจัดรูปที่ดิน และกระทบกับชาวบ้าน พี่น้องจะยอมไหม ถ้าชาวบ้านไม่ขัดข้อง ก็จะมีการจัดรูปที่ดินใหม่ ที่จะจัดตามความพึงพอใจของชาวบ้าน และจะกระทบกับพื้นที่ของชาวบ้านไม่เกิน 7 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในระหว่างทำงานก็จะมีการทำงานร่วมกันระหว่างชาวบ้านกับชลประทาน ในเชิงนโยบาย หากเป็นความต้องการของประชาชน นโยบายก็พร้อมที่จะสนับสนุนอย่างเต็มกำลัง เพิ่มพื้นที่แหล่งน้ำให้กับชุมชน นายธีระ กล่าวในตอนท้าย

นายสมคิด  สิริวัฒนากุล ประธานกลุ่มอนุรักษ์อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำเค็มบ้านหญ้าคา กล่าวว่า ประวัติอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำเค็มบ้านหญ้าคา เป็นการเริ่มต้นสร้างสรรพื้นที่อำเภอในการพัฒนาแหล่งน้ำ จากบ้านหนองหญ้าคา อดีตชาวบ้านพึ่งพาธรรมชาติ พึ่งน้ำพึ่งดินปลูกข้าวทำนา บ้านหญ้าคา ก่อนที่จะมีอ่าง มีลำห้วย ที่นี่มีหนองน้ำรอบหมู่บ้านกว่า 10 หนอง บรรพบุรุษมีความชาญฉลาด ชาวบ้านร่วมกันจับจอบขุดทำหนองน้ำจนเป็นอ่างเก็บน้ำที่อุดมสมบูรณ์ จนมีการพัฒนาอ่างเก็บน้ำขึ้นมา

แต่ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำเค็มได้กลายเป็นป่าต้นธูปฤาษี และเมื่อปี 2556 มีความแห้งแล้งมาก เกิดต้นธูปฤาษีขึ้นมาก และมีความแล้งแค้น จนเมื่อปี 2557 ชาวบ้านได้รวมตัวกัน ช่วยกันขุดลอกกำจัดวัชพืช โดยระดมเงินบริจาคมาเป็นอาหารการกิน และชลประทานได้เข้ามาช่วยขุดลอกต่อจนมีน้ำได้พอใช้ จนมาถึงการจัดการต่อในครั้งนี้

เราใช้โมเดลหนองแจ้งใหญ่เป็นจุดเริ่ม เพื่อขยับเรื่องการพัฒนาแหล่งน้ำ เป็นงานทั้งระดับอำเภอ พี่น้องท้องที่ท้องถิ่น สภาองค์กรชุมชน ต้องสำรวจข้อมูล ทำความเข้าใจกับชาวบ้าน เป็นโอกาสในการยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวบ้านที่เราต้องร่วมกันทำงานต่อเนื่อง

นายประพัทธพงศ์ พราหมณี นายอำเภอบัวใหญ่ กล่าวว่า ในอดีตอำเภอบัวใหญ่ที่นี่มีความแห้งแล้ง เป็นดินแดนแอฟริกาในจังหวัด เมื่อเข้ามาเป็นนายอำเภอที่นี่เริ่มต้นเรื่องการแก้ปัญหาน้ำกินน้ำใช้ เริ่มจากการวางแผนจัดการน้ำ ดูข้อมูลน้ำของพื้นที่ และจะเน้นการทำงานเชื่อมโยงหน่วยงานราชการ และเชื่อมโยงจากฐานราก เพื่อให้ชาวบ้านได้รับการดูแลเป็นอย่างดี ตามนโยบายของผู้ว่าราชการจังหวัด

การฟื้นฟูแหล่งน้ำจะไม่พัฒนาแหล่งน้ำเพียงอย่างเดียว ต้องคิดถึงลูกหลานคนรุ่นใหม่ จะกลับมาใช้ชีวิตทำการเกษตร ที่บัวใหญ่มีหลายแห่งที่สามารถเป็นตัวอย่างได้ เกษตรกรเราจะเก็บน้ำได้อย่างไร มีน้ำ ทำเกษตรได้ ต้องมีคนทำด้วย ปัจจุบันจะเป็นเครื่องจักรไปหมดแล้ว ผู้นำชาวบ้านพร้อมที่จะร่วมมือกับหน่วยงาน แหล่งน้ำในอำเภอบัวใหญ่จากแล้ง แล้วกลับมีแหล่งน้ำ ที่เชื่อมโยงหากันจากที่สูงสู่ที่ต่ำ จากอ่างขนาดเล็กไปสู่อ่างขนาดใหญ่ และเข้าไปสู่พื้นที่ทำการเกษตรของชาวบ้าน ความร่วมมือทำให้การทำงานของอำเภอมีความง่ายขึ้น เมื่อทุกคนเป็นเจ้าของ จากที่นี่เป็นตัวอย่างและขยายไปสู่พื้นที่ตำบลอื่นๆ ต่อไป

นายชิตชนก สมประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักชลประทาน ที่ 8 กล่าวว่า มีโอกาสลงพื้นที่ สิ่งที่เห็นคือคนบัวใหญ่มีความกระตือรือร้น ในพื้นที่มีอ่างเก็บน้ำทั้งตัวบน ตัวกลาง และตัวล่าง การพัฒนาแหล่งน้ำในครั้งนี้เหมือนพี่น้องถูกล๊อตเตอรี่ เมื่อวานได้สำรวจคลองที่เข้ามาสู่อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำเค็มมีความแคบมาก และจะติดรั้วของชาวบ้าน การที่ชลประทานมาก็เพื่อมาฟังเยอะๆ แล้วนำกลับไปคิด อะไรที่ทำได้ทันที ซึ่งจะเริ่มจากการทำแผนภาพรวมทั้งหมด ทำเรื่องการสำรวจพื้นที่ ภายใน 1 เดือนหลังจากนี้รับรองว่าจะมีแผนการทำงานที่ชัดเจน พร้อมกับแบบการการขุดลอก จะประสานเรือขุด และจะขอนำเครื่องจักร ขอคิวพิเศษกับกระทรวง เพื่อดำเนินการให้กับพื้นที่

ขณะนี้อ่างด้านบน ยังมีน้ำปริมาณน้ำเหลือ สามารถต่อเชื่อมลงมาอ่างห้วยน้ำเค็ม และต่อไปที่อ่างบัวใหญ่ เราจะเริ่มจากการพูดคุย ทำให้ได้ทราบข้อมูล ว่าในการขุดคลองได้มีการกันพื้นที่สองฝั่งออกจากคลองระยะ 5 เมตร เมื่อพี่น้องรับปากเสียสละ การทำงานจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ทันที และเบื้องต้นกรมพัฒนาที่ดิน ก็จะสนับสนุนฝาย 5 ฝาย ในการพัฒนาครั้งนี้ด้วย แต่ชาวบ้านต้องตกลงกันว่าจะดำเนินการตรงจุดไหน เมื่อเราสำรวจจะรู้ว่าที่ไหนเหมาะสมจะตั้งฝาย จุดไหนมีความลาดเอียงเท่าไหร่ ส่วนลำห้วย 2 เส้น ห้วยบุงหวาย กับห้วยโสกหว้า จะมีการทำแผนภาพรวม รวมถึงการวางแผนงบประมาณให้สอดรับกับการทำงาน นอกจากนั้นในเรื่องดิน ชุดดินที่นี่เป็นชุดดินเดียวกับดินทุงกุลา เค็มแต่ดี มีศักยภาพปลูกข้าวหอมมะลิได้แบบทุ่งกุลา สามารถพัฒนาข้าวตามเขตพื้นที่ภูมิศาสตร์ซึ่งจะเป็นการพัฒนาการเกษตรไปพร้อมหลังจากมีน้ำ

นายปฎิฏาน จุมผา ผู้อำนวยการภาค สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สนง.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า เวทีวันนี้ที่น้อมนำศาสตร์พระราชามาปฏิบัติเป็นรูปธรรม เป็นเวทีที่จะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรม วันนี้ได้ฟังนโยบาย ได้ฟังหน่วยงาน ได้ฟังคนหนองแจ้งใหญ่ ในอนาคตจะมีแผนแม่บทการจัดการน้ำของคนบัวใหญ่ไปสู่ความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน

อีสานขาดน้ำ และขาดระบบการจัดการน้ำที่ดี วันนี้พี่น้องพร้อมแล้ว พอช.องค์กรในการกำกับของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นกลไกรัฐ เป็นเครื่องมือของประชาชน มีบทบาทสนับสนุนความเข้มแข็งขององค์กรชุมชน ประสานเชื่อมโยงกับหน่วยงานเพื่อให้ชุมชนสามารถจัดการตนเองสู่ความเข้มแข็ง โดยองค์กรชุมชนเป็นหลักในการพัฒนา

แผนแม่บทการจัดการน้ำทั้งระบบทั้งในระดับชุมชน ระดับตำบล และระดับอำเภอ โดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงาน ต้องมีเรื่องข้อมูล แล้วใครจะเป็นจัดการข้อมูล คนบัวใหญ่ต้องมีการสำรวจข้อมูลด้วยตนเอง เมื่อเห็นข้อมูลแล้วนำมาวางแผนทั้งระยะสั้น ระยะยาว เมื่อได้แผนแล้วใครที่จะเป็นคนทำ นอกจากหน่วยงานแล้วพลังของพี่น้องชุมชน ท้องที่ท้องถิ่นก็ต้องลุกขึ้นมาทำ นอกจากนั้นในส่วนกลไกการติดตามต้องเป็นกลไกที่มาจากทุกภาคส่วนเพื่อมาติดตามกำกับ และควรมีการจัดการความรู้ ควบคู่กับการสื่อสารสู่สังคม

การพัฒนาพื้นที่ประชาชนต้องเป็นหลัก หน่วยงานเป็นผู้เอื้อผู้สนับสนุน ให้คนในตำบลนี้ทำให้ได้ ระบบการจัดการน้ำ ประชาชนชุมชนท้องถิ่น ต้องเข้ามาเป็นเจ้าของ พี่น้องในตำบลต้องเห็นพ้องกันทั้งตำบล ต้องมีการทำความเข้าใจ หากมีการร้องเรียน หน่วยงานอาจมีการชะลอการดำเนินการ ดังนั้น พอช.จะขอเป็นเพื่อนร่วมทาง โดยอำเภอบัวใหญ่มี 11 สภาองค์กรชุมชนตำบล จะยกระดับเป็นพื้นที่เรียนรู้ของอำเภอ ของจังหวัด และในระดับภาค ถ้าทำตรงนี้เป็นรูปธรรม ตอบสนองต่อความอยู่เย็นเป็นสุขของพี่น้อง ที่เกิดจากการที่พี่น้องมาร่วมกันสร้าง การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเกิดจากคนตำบลหนองแจ้งใหญ่ ผู้อำนวยการภาค พอช.อีสาน กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำเค็มบ้านหญ้าคา ตำบลหนองแจ้งใหญ่ อำเภอบัวใหญ่  จังหวัดนครราชสีมา สร้างขึ้นเมื่อปี 2496 มีพื้นที่ทั้งหมดจำนวน 475 ไร่ โดยผู้นำในท้องที่และกรมชลประทานได้ร่วมมือกัน    ระดมแรงงานชาวบ้านขุดดินทำคันอ่างกั้นน้ำที่ไหลมากับลำห้วยธรรมชาติเพราะขณะนั้นไม่มีเครื่องจักรกล   ส่วนกรมชลประทานเป็นหน่วยวางแผน ทำฝัง เพื่อกำหนดพื้นที่ขอบเขต และสนับสนุนงบประมาณ  นั้นคือประวัติความเป็นมาคร่าวๆ ของการสร้างอ่างห้วยน้ำเค็มบ้านหญ้าคา ที่ประชาชนตำบลหนองแจ้งใหญ่ เทศบาลเมืองบัวใหญ่ และตำบลใกล้เคียงได้อาศัยและพึ่งพาอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำเค็มในการดำรงชีพ ในด้านการเกษตร และการอุปโภค บริโภค อีกทั้งยังเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของพี่น้องประชาชน รวมไปถึงยังเป็นแหล่งรักษาระบบนิเวศและเป็นแหล่งเพาะพันธุ์พืชและสัตว์น้ำตามธรรมชาติ

ดังนั้นในอนาคตอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำเค็มบ้านหญ้าคา จะต้องเป็นแหล่งชีวิตของชุมชน ให้เหมือนในอดีตที่ผ่านมา ต้องได้รับการพัฒนาฟื้นฟู ให้มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติเพื่อการสร้างวิถีชีวิต วัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณี เป็นสวัสดิการทางธรรมชาติที่มอบให้กับชุมชน เป็นแหล่งเศรษฐกิจ สร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร สร้างรายได้ชุมชนให้เพิ่มมากขึ้น  เกิดความมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืนของชุมชนต่อไป

ทั้งนี้ คณะผู้จัดงานได้มอบข้อเสนอแผนการบริหารจัดการน้ำภาคประชาชนอำเภอบัวใหญ่ ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผ่านที่ปรึกษาฯ นายธีระ วงษ์เจริญ ที่ประกอบด้วย แนวทางการบริหารจัดการน้ำในระดับชุมชน แนวทางสำคัญในการพัฒนาอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำเค็ม แนวทางการบริหารจัดการน้ำในระดับอำเภอ และแผนโครงการที่ตอบสนองความต้องการของชุมชนในเขตพื้นที่ชลประทาน ทั้งที่เป็นโครงการขนาดกลาง และขนาดเล็ก ซึ่งได้รับการขานรับทั้งจากที่ปรึกษาฯ และหน่วยงานทั้งกรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน และอำเภอบัวใหญ่เป็นอย่างดี

 

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of รุ่งโรจน์ เพชระบูรณิน

รุ่งโรจน์ เพชระบูรณิน

คนทำงานในแวดวงการพัฒนาที่อยากเห็นชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง