ในวันนี้( 28 มิ.ย. 61) นายรณภพ เวียงสิมมา นายอำเภอเมือง จ.ราชบุรี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลเกาะพลับพลา และกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในตำบลเกาะพลับ ได้นำป้าย ฤดูฝนหรือฝนตกหนัก ห้ามเข้าถ้ำเด็ดขาด ไปติดไว้ที่หน้าถ้ำพระยาปราบ ที่หมู่ 6 ต.เกาะพลับพลา อ.เมือง จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นถ้ำที่มีการสำรวจพบเมื่อกว่า 20 ปีก่อน และมักจะมีผู้ที่ชื่นชอบการผจญภัยภายในถ้ำแวะเวียนเข้าไปเที่ยวเป็นประจำ และสภาพภายในถ้ำดังกล่าวมีสภาพภูมิประเทศลักษณะคล้ายกับถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ที่มีกลุ่มนักฟุตบอลเข้าไปติดอยู่ภายในหลายวัน ยังไม่สามารถช่วยเหลือนำออกมาได้ ซึ่งทางนายชยาวุธ จันทร ผู้ว่าราชการจังหวัดได้สั่งการให้นายอำเภอทุกแห่งเร่งสำรวจถ้ำที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อย่างเร่งด่วน หวั่นเกรงจะเกิดเหตุซ้ำรอยขึ้น
ข่าวน่าสนใจ:
- "เลยดั้น" แค่มุมภาพเดียว กลายเป็นไวรัล ดึงดูด นทท.แห่เช็คอินถ่ายภาพ อ.น้ำหนาวเตรียมดันเป็นซอฟพาวเวอร์
- ตรัง ชาวบ้านสืบสานอนุรักษ์การปลูกข้าวไร่ไว้กินเองครอบครัวเหลือขาย
- ชิง ส.อบจ.เพชรบูรณ์ ส่อเดือด! นักการเมืองรุ่นใหม่ทยอยเปิดตัว ท้าชนแชมป์เก่า
- มุกดาหาร ชาวคริสต์นับหมื่น ร่วมฉลอง 84 ปี วีรกรรมแห่งความเชื่อ ณ สักการสถานพระมารดาแห่งมรณสักขีสองคอน
โดย นายรณภพ เวียงสิมมา นายอำเภอเมือง ได้เปิดเผยว่า กรณีที่มีข่าวว่ามีนักฟุตบอลทีมหมูป่า อคาเดมี่แม่สายเข้าไปติดอยู่ในถ้ำเขาหลวง ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย นั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดได้สั่งการให้ทุกอำเภอสำรวจ ถ้ำ หรือแหล่งท่องเที่ยวที่จะเกิดอันตรายในฤดูน้ำหลากได้ ซึ่งเขตพื้นที่ อ.เมืองนั้นได้ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งสำรวจถ้ำพบว่ามีถ้ำพระยาปราบซึ่งอยู่ในเขาพระยาปราบ ภายในถ้ำมีลักษณะคล้ายกับถ้ำที่เกิดเหตุที่ จ.เชียงราย โดยลักษณะทางเข้าจะแคบ ๆ เมื่อเข้าไปในถ้ำจะพบห้องโถงใหญ่ โดยถ้ำลักษณะนี้จะเป็นที่ชื่นชอบของนักผจญภัย ซึ่งในฤดูแล้งสามารถเข้าไปในถ้ำได้สะดวกพอสมควร แต่หากเป็นช่วงหน้าฝนอย่างเมื่อกี้ที่เข้าไปดูบริเวณหน้าปากถ้ำนั้น มีน้ำอยู่เต็มถ้ำ ซึ่งถ้าเกิดตอนเข้าไปแล้วน้ำแห้ง และมีฝนตกหนักขึ้น อาจจะเกิดเหตุการณ์ทำนองเดียวกับที่จ.เชียงรายได้ ทาง อบต.เกาะพลับพลาจึงได้จัดทำป้ายแจ้งเตือนประชาชนและนักท่องเที่ยวทั้งฤดูฝน หรือนอกฤดูฝนที่เกิดฝนตกหนัก ห้ามเข้าโดยเด็ดขาด
ด้านนายธวิทย์ กุศลอภิบาล อดีตรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะพลับพลา เปิดเผยว่า เป็นถ้ำในสมัยโบราณมีมาอยู่คู่กับเขาพระยาปราบนานแล้ว ต่อมามีคนเข้าไปสำรวจและออกมาบอกกับชาวบ้านว่าข้างในถ้ำมีลักษณะสวยงามมาก สมัยตนเองยังเป็นเด็กๆ มีพระได้เข้าไปอยู่ในถ้ำ รวมถึงชาวต่างประเทศได้เข้าไปสำรวจพร้อมกับเก็บตัวแมงมุมที่อาศัยอยู่ในถ้ำใส่กล่องกลับไป แล้วยังบอกว่าถ้ำที่นี่สวยงามมีหินงอกหินย้อย ภายในถ้ำจะมีห้องโถง น้ำไหลผ่าน ส่วนใหญ่ที่เข้าไปจะเป็นช่วงฤดูแล้ง ส่วนตนเองนั้นเคยเข้าไปสำรวจล่าสุดเมื่อปี 2543 โดยจังหวัดมีโครงการให้นำเสนอแหล่งท่องเที่ยวในสมัยนั้น ซึ่งเคยได้เข้าไปสำรวจภายในถ้ำมาแล้วด้วย กว่า 10 ปีผ่านมาแล้ว ซึ่งหากคำนวณระยะทางเข้าไปในถ้ำจากข้อมูลของเจ้าหน้าที่โยธาของ อบต.เกาะพลับพลา นั้น คาดว่ามีความยาวประมาณ 250 เมตร และจะมีห้องโถงขนาดกว้าง 50 คูณ 50 เมตร จะมีซอกซอยต่างๆให้เดินได้อีก ช่วงหน้าฝนจะไม่ค่อยมีคนเข้าไป ส่วนใหญ่จะมีผู้ใหญ่บ้านนำป้ายมาติดเตือนประชาชนในพื้นที่ไม่ให้เข้าไปด้านใน เกรงจะเกิดอันตรายได้ ซึ่งเคยมีการร่วมกันหลายฝ่ายสำรวจพื้นที่แล้วว่าจะนำดินโคลนด้านในถ้ำออกมา เพื่อจะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ขึ้น แต่ต่อมาไม่ได้มีการสานต่อนโยบายจากจังหวัดอีกจนเงียบไป สำหรับทางออกของถ้ำจะมีปล่องอยู่ด้านบนถ้ำจะมีอากาศถ่ายเทได้สะดวก
สำหรับประวัติถ้ำพระยาปราบได้มีผู้เฒ่าผู้แก่เล่าสืบต่อกันมาว่ามีพระยาคนหนึ่งแต่ไม่ทราบชื่อ นำกองกำลังมาปราบทหารพม่าอยู่ที่เขาแห่งนี้ เมื่อพม่ายกกองทัพออกไป ชาวบ้านจึงตั้งชื่อเขาลูกนี้ว่า “ เขาพระยาปราบ ” จนถึงปัจจุบัน ต่อมาได้เคยมีการเข้าไปสำรวจพบว่าจะมีทางเข้าออกเพียงทางเดียว บริเวณปากถ้ำเป็นรูแคบต้องคลานและลอดช่องหินเข้าไปด้านใน เมื่อลอดเข้าไปในถ้ำชั้นแรกจะเป็นห้องโถงใหญ่ มีหินงอกหินย้อยที่สวยงาม น้ำหยดที่ลงมาจากเขาสะสมหลายพันปี ก่อให้เกิดหินงอกหินย้อยมีรูปร่างลักษณะเป็นชั้น ๆ ลวดลายคล้ายฟันปลา เมื่อกระทบแสงไฟเกิดเป็นประกายระยิบระยับเหมือนประกายเพชร บางแห่งเคาะเป็นเสียงดังคล้ายระฆัง ยังคงอยู่เป็นธรรมชาติปราศจากการทำลายของมนุษย์ ซึ่งเส้นทางการเดินดูจสลับซับซ้อนวกไปวนมา หากไม่ใช้เชือกผูกไว้ที่ปากถ้ำแล้วดึงเชือกลงไปด้วย ก็จะกลับออกมาไม่ถูกเนื่องจากด้านในของถ้ำเป็นพื้นที่กว้าง ที่สำคัญคนที่เข้าไปนั้นสามารถหายใจได้สะดวกเนื่องจากด้านบนนั้นมีปล่อง ที่สามารถมองทะลุขึ้นมาเห็นด้านบนได้ มีความลึกประมาณ 3-4 เมตร นอกจากนี้ด้านในยังมีฝูงค้างคาวเกาะอาศัยอยู่บนผนังถ้ำ และยังพบรากไทรที่เลื้อยคลานมาตามซอกหิน ย้อยลงมาจากผนังถ้ำเป็นสายมองดูเป็นศิลปะที่สวยงาม
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: