ราชบุรี กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ซึ่งนำโดยรองศาสตราจารย์ ด็อกเตอร์ ดารณี อุทัยรัตนกิจ ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการ ครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 1 พร้อมคณะได้เดินทางมาที่มหาวิทยาลัยราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง ต.จอมบึง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี เพื่อมาติดตามความก้าวหน้าของโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 1 โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ด็อกเตอร์ ชัยฤทธิ์ ศิลาเดช รักษาราชการแทน อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง และนักศึกษาทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 1 คอยให้การต้อนรับพร้อมกับนำเยี่ยมชมห้องปฎิบัติการ โรงเรียนอนุบาลทานตะวัน ซึ่งเป็นแหล่งฝึกประสบการณ์ของนักศึกษาและ บ้านไร่รัก(ษ์)ถิ่น ซึ่งเป็นแหล่งพัฒนาทักษะชีวิต ทักษะการทำงานและกิจกรรมเสริมทักษะการเรียนรู้บนฐานเศรษฐกิจพอเพียงและภูมิปัญญาท้องถิ่น
สำหรับโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น จัดขึ้นโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ เพื่อผลิตและพัฒนาครูรุ่นใหม่ให้สอดคล้องกับความต้องการของโรงเรียนในชุมชนพื้นที่ห่างไกลซึ่งเป็นการสร้างโอกาสให้กับเด็กนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลที่มีใจรักในอาชีพครูและมีศักยภาพในเรียนรู้ และช่วยให้เด็กในพื้นที่ห่างไกลมีโอกาสได้รับการศึกษาจากครูรุ่นใหม่ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการทำงานร่วมกันของหน่วยหลักในการผลิตและพัฒนาครูกับหน่วยงานที่ใช้ครูตั้งแต่ต้นทางไปพร้อมกัน นอกจากนี้ยังปรับระบบการผลิตและพัฒนาครูให้ตรงกับลักษณะงานสอดคล้องกับบริบทของโรงเรียนและชุมชนในพื้นที่ห่างไกล และสร้างเครือข่ายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสถาบันและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งโครงการดังกล่าวนั้นเริ่มต้นมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2563 ไปจนถึง ปีการศึกษา 2567 จำนวน 5 รุ่นๆละ 300 คน รวมทั้งสิ้น 1,500 คน กำหนดไว้ 45 จังหวัด 282 โรงเรียน
ด้าน ผศ.ดร.ชัยฤทธิ์ ศิลาเดช รักษาราชการแทน อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง ได้รับคัดเลือกให้จัดทำโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น โดยได้ทำการคัดเลือกนักเรียนที่มีผลการเรียนดี แต่ยากจน และอยากจะเป็นครู มาทำการอบรมและเรียนรู้ในหลักสูตร 4 ปี โดยเริ่มตั้งเรียนปี 1 ในการไปดูการสอน ไปสอนในโรงเรียนจริงเพื่อสั่งสมประสบการณ์ และได้รู้จักทำงานร่วมกับคนอื่นได้ เพื่อให้มีความเข้าใจเรื่องของวิชาชีพครู ผ่านการปฎิบัติมากกว่าผ่านการเรียนรู้ในห้องเรียน สอดรับกับปรัชญาของมหาวิทยาลัย ที่มุ่งเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นโดยแท้จริง
ส่วน รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการ ครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 1 ก็กล่าวว่า เรามาติดตามความคืบหน้าของโครงการเพื่อมาดูปัญหาและอุปสรรค ซึ่งก็พบว่าเด็กมีปัญหาเรื่องของ เครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีไม่เพียงพอ ซึ่งก็จะได้นำปัญหานี้กลับไปให้ทาง กสศ.ได้ดำเนินการจัดหาซื้อมาให้ ซึ่งการคัดเลือกเด็กที่จะเข้ามาเรียนเป็นครูนั้น เป็นช่วงต้นน้ำที่สำคัญ ที่ใช้งบประมาณจำนวนมากซึ่ง งบนั้นก็มาจากภาษีของประชาชน ดังนั้นจึงต้องคัดเลือกเด็กที่มีคุณภาพ เพื่อที่จะได้นำสิ่งที่ได้รับกลับไปปรับใช้ในโรงเรียนที่อยู่ในชุมชนห่างไกล และเป็นบ้านเกิด ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตครูให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคมไทย และถือเป็นโครงการแรกของประเทศไทยในการที่จะผลิตครูที่มีคุณภาพด้วย
ข่าวน่าสนใจ:
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: