ราชบุรี จากสถานการณ์น้ำป่าที่ไหลทะลักจากเทือกเขาตะนาวศรี อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ตั้งแต่ช่วงบ่ายวานนี้ เป็นเหตุให้พืชผลทางการเกษตร และสิ่งปลูกสร้างบ้านเรือน รีสอร์ต ที่อยู่ริมทางน้ำถูกน้ำพัดได้รับความเสียหาย ล่าสุดช่วงเช้าวันนี้( 11 ต.ค. 63 ) ระดับน้ำเริ่มลดลงแล้ว หลังถูกน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วม ส่งผลกระทบให้หลายแห่งที่ปลูกสร้างอยู่ริมตลิ่งถูกน้ำท่วมเสียหาย รีสอร์ทที่ลูกค้าได้สั่งจองไว้ได้แจ้งยกเลิกไป เนื่องจากเกรงว่าอาจจะเกิดอันตราย ส่วนพืชผลทางเกษตรนั้นก็ถูกกระแสน้ำพัดราบไปได้รับความเสียหายจำนวนมาก แม้ว่าปริมาณน้ำจะลดลง แต่กระแสการไหลของน้ำนั้นยังคงแรง ซึ่งบรรยากาศเช้านี้ยังคงมีฝนตกพรำๆโปรยปรายลงมาเล็กน้อย ลักษณะอากาศยังคงมืดครึ้มปกคลุมพื้นที่อยู่
ต่อมา นายพงษ์พันธ์ แสงสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี พร้อมด้วยนายอัสนี สุภานัย ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงราชบุรี นายคม ศรีเพ็ชร หัวสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดราชบุรี และนายสายชล จันทร์เพ็ญ นายอำเภอสวนผึ้ง จ.ราชบุรี ได้เข้าตรวจสอบที่บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำลำภาชี ซึ่งเป็นสะพานสายหลักที่จะเข้าสู่ตัวอำเภอสวนผึ้ง พบว่าสะพานกำลังมีการก่อสร้างขยายพื้นที่สะพาน จึงทำให้กระแสน้ำนั้นกัดเซาะบริเวณคอสะพานที่มีการถมดินใหม่ ส่วนปริมาณน้ำป่าที่ไหลลงมาจากเทือกเขาตะนาวศรี นั้นเริ่มลดลงจากช่วงเย็นเมื่อวานเกือบสองเมตรจากพื้นสะพาน
โดยนายพงษ์พันธ์ แสงสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ก็บอกว่า สถานการณ์น้ำในพื้นที่ จ.ราชบุรี ตอนนี้ค่อยๆลดลงจากเดิมที่สูงขึ้นมาถึงพื้นสะพานเมื่อช่วงเย็นเมื่อวาน เนื่องจากปริมาณฝนที่ตกบนเทือกเขานั้นลดลง แต่มวลน้ำที่มองเห็นว่ายังมีมากและไหลแรงนั้นเป็นมวลน้ำที่มาจากเขื่อนท่าเคย และอ่างเก็บน้ำห้วยมหาด ในต.ตะนาวศรี อ.สวนผึ้ง ที่จะต้องเร่งระบายออกมา เนื่องจากน้ำนั้นเต็มอ่าง ซึ่งมวลน้ำที่ไหลลงมานั้นก็จะไหลลงสู่พื้นที่การเกษตรในอ.จอมบึง และไหลไปยังอำเภอด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี ก่อนจะลงสู่เขื่อนท่าม่วง จ.กาญจนบุรี ส่วนความเสียหายนั้นเบื้องต้นก็จะมีคอสะพาน ถนน และพืชผลทางการเกษตร ซึ่งถือว่ายังไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง และขอให้มั่นใจได้ ส่วนในพื้นที่อำเภอปากท่อ จ.ราชบุรี ซึ่งมี 3 หมู่บ้านที่ถูกตัดขาดเนื่องจากถนนเข้าหมู่บ้านนั้นถูกน้ำป่าไหลหลาก ตัดเส้นทางเข้า ในวันนี้ก็จะต้องเข้าไปตรวจสอบและคอยเฝ้าระวัง ซึ่งถ้าน้ำลดลงชาวบ้านก็จะสามารถสัณจรได้ ส่วนพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดคือตำบลด่านทับตะโก อ.จอมบึง ซึ่งมีพื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเสียหายมากกว่า 200 ไร่
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: