ราชบุรี ในวันนี้ ( 9 ธ.ค. 63 ) นายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี พร้อมด้วยพลโท อนุสรณ์ ปัญญะบูรณ์ เจ้ากรมการทหารช่าง นายสุรณเดช ธูปะวิโรจน์ วิศวกรใหญ่ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง และนายดนุช ยนตรรักษ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท เอ เอส แอสโซซิเอส เอนยิเนียริ่ง (1964) จำกัด ได้ร่วมกันทำพิธีเปิดเทคอนกรีตฐานเสาตอม่อสะพานขึงรถไฟทางคู่ข้ามแม่น้ำแม่กลองแห่งแรกของประเทศไทย บริเวณสถานที่ก่อสร้างเสาตอม่อสะพานฝั่งค่ายภาณุรังษี อ.เมือง จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม – หัวหินสัญญาที่ 1 ช่วงนครปฐม – หนองปลาไหลช่วง กม 47+700 ถึง กม.140+700ระยะทางประมาณ 93 กิโลเมตรมูลค่างานก่อสร้าง 8,198,000,000 บาทระยะเวลาก่อสร้างสะพานรถไฟกม.100+097 ประมาณ 32 เดือน
สำหรับสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแม่กลองเดิมจะเป็นสะพานเหล็กในรูปแบบเดียวกับสะพานจุฬาลงกรณ์โดยจะต้องมีตอม่ออยู่ในลำน้ำ และต่อมาโครงการฯ ได้รับแจ้งข้อมูลจากสถาบันราชบุรีศึกษา ว่าพบระเบิดในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จมอยู่ในลำน้ำบริเวณเดียวกับพื้นที่ก่อสร้างสะพานรถไฟ จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการทำงานเก็บกู้เคลื่อนย้ายและทำลายวัตถุระเบิดในบริเวณแม่น้ำแม่กลอง เพื่อร่วมปฏิบัติภารกิจ โดยได้ทำการสำรวจพบว่ามีลูกระเบิดขนาด 1,000 ปอนด์ จำนวน 7 ลูกจมอยู่ในบริเวณนั้นจริง และหากจะก่อสร้างสะพานแบบเดิมก็จะต้องมีการเคลื่อนย้ายระเบิดออกทั้งหมดซึ่งมีความเสี่ยงสูงมาก ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงแบบสะพานใหม่ก็เป็นทางออกที่ปลอดภัย โดยจะไม่มีตอม่อในลำน้ำ
การรถไฟแห่งประเทศไทยได้เห็นความสำคัญจึงได้มีคำสั่งให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงรูปแบบงานก่อสร้างสะพานรถไฟและหลีกเลี่ยงไม่ให้มีการก่อสร้างในลำน้ำ ซึ่งในครั้งนี้ได้ดำเนินการก่อสร้างโดย บริษัท เอ.เอส แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง(1964) จำกัด และบริษัทฯ ได้นำเสนอการสร้างสะพานในรูปแบบผสมเป็นแบบคานคอนกรีตสมดุล (Balance Cantilever) ผสมกับการมีเคเบิ้ลขึง (Tension Cable) เรียกชื่อว่า “Extradosed Bridge” โดยสะพานดังกล่าวจะไม่มีเสาตอม่ออยู่ในลำน้ำและรูปแบบที่บริษัทฯ เสนอมานั่นได้รับความเห็นชอบจากการรถไฟฯ พร้อมกันนี้ผู้แทนการรถไฟฯ ได้นำเสนอรายละเอียดการก่อสร้างต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯและคณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วเห็นชอบเช่นเดียวกัน
ซึ่ง รูปแบบของสะพานเป็นสะพานรถไฟรูปแบบผสมคือเป็นแบบคานคอนกรีตสมดุล(BalanceCantilever) ผสมกับการมีเคเบิ้ลขึง (TensionCable) เรียกชื่อว่าเป็นสะพานแบบ Extradosed ซึ่งจะเป็นสะพานขึงแห่งแรกที่มีการก่อสร้างในประเทศไทย มีความยาวสะพานรวม 340 เมตร (มีช่วงสะพาน 3 ช่วง) โดยช่วงสะพานที่ข้ามแม่น้ำแม่กลองมีความยาว 160 เมตรดังนั้นการเปลี่ยนแปลงแบบสะพานใหม่ก็เป็นทางออกที่ดีและปลอดภัย โดยการก่อสร้างตอม่อจะอยู่บนฝั่งทั้งหมด โดยจะเป็นสะพานขึงสำหรับรถไฟแห่งแรกในประเทศไทยอีกด้วยซึ่งการก่อสร้างสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแม่กลองนั่นยังได้รับความสนใจจากประชาชนชาวจังหวัดราชบุรีเป็นอย่างมาก อีกทั้งการก่อสร้างสะพานดังกล่าวในครั้งนี้เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการจะมีส่วนช่วยอำนวยความสะดวกทั้งในด้านการขนส่งและการท่องเที่ยวแก่ประชาชนชาวจังหวัดราชบุรีเป็นอย่างยิ่ง และจังหวัดราชบุรีนั้นได้ให้ความสำคัญต่อโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ของการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นอย่างสูง เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีการก่อสร้างอยู่ในพื้นที่หลายอำเภอของจังหวัดราชบุรี ที่จะสร้างงานสร้างอาชีพให้ประชาชนในพื้นที่ในช่วงของการก่อสร้างและเมื่อการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ก็จะเป็นระบบโครงสร้างพื้นฐานที่อำนวยความสะดวกในการขนส่งให้แก่ประชาชนชาวจังหวัดราชบุรีและจังหวัดใกล้เคียงและในการสร้างสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแม่กลองมีประโยชน์ ช่วยลดความเสี่ยงจากการเก็บกู้และการเคลื่อนย้ายวัตถุระเบิด สามารถดำเนินการก่อสร้างสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแม่กลองต่อไปได้ ทำให้บริเวณดังกล่าวไม่เป็นอุปสรรคเมื่อการรถไฟแห่งประเทศไทยเปิดให้บริการการเดินรถไฟทางคู่ในเชิงพาณิชย์ และยังเป็นสิ่งปลูกสร้างที่จะเป็นจุดเด่นของชาวจังหวัดราชบุรีและเป็นที่น่าสนใจของนักท่องเที่ยวแห่งใหม่ของประเทศไทยด้วย
ด้านนายสุรณเดช ธูปะวิโรจน์ วิศวกรใหญ่ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง รฟท. กล่าวว่า ในรูปแบบเดิมจะเป็นสะพานเหล็กเหมือนสะพานจุฬาลงกรณ์ แต่ที่ออกแบบไว้จำเป็นที่จะต้องก่อสร้างตอม่ออยู่ในลำน้ำแม่กลอง ซึ่งพบว่ามีระเบิดอยู่จำนวน 7 ลูก จึงหารูปแบบที่สามารถสร้างโดยไม่ไปกระทบกับระเบิด ไม่ต้องมีการเคลื่อนย้ายโดยมีตอม่ออยู่บนฝั่งทั้ง 2 ข้าง โดยรูปแบบจะเป็นสะพานที่ทอดข้ามแม่น้ำที่มีความกว้าง 160 เมตร จะเป็นสะพานขึงที่มีเสาเตี้ย มีมุมของเคเบิ้ลเป็นมุมป้าน ซึ่งทำให้การก่อสร้างมีมูลค่ารวมกว่า 440 ล้านบาท สามารถปรับอยู่ในมูลค่าของโครงการทั้งหมดได้ มีความปลอดภัยและไม่กระทบกับตอม่อที่มีอยู่แล้วในลำน้ำและเราสามารถสร้างเลียบกับสะพานตัวเก่าได้ โดยมีความแข็งแรงตามมาตรฐานการออกแบบ ส่วนสะพานเดิมก็ยังคงใช้การอยู่ ตัวนี้เป็นสะพานสร้างเพิ่มขึ้นอีก 1 ตัว เป็นทางที่ใช้คู่กัน เป็นสะพานขึงสำหรับรถไฟแห่งแรกของประเทศไทย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: